แสงไทย เค้าภูไทย มีคำถามกันบ่อยขึ้น ว่าจะเลิกเคอร์ฟิวเมื่อใด เลิกล็อกดาวน์เมื่อใด หลังจากสถานการณ์ระบาดโควิด-19 เริ่มชะลอตัว คนเจ็บ คนตายลดลง คนหายป่วยเพิ่มขึ้น ผู้คนก็อยากจะออกจากบ้านไปทำงาน ไปค้าขาย และดำเนินชีวิตประจำวันเป็นปกติ ใช่แต่คนไทยเท่านั้นที่มีคำถามนี้ ชาติยุโรปที่เสียชีวิตประชาชนเรือนหมื่นและเศรษฐกิจยับเยินก็มีคำถามเช่นนี้ เมื่อยอดผู้ป่วยเพิ่มลดลง ยอดคนตายลดลง แม้แต่สหรัฐฯที่ขณะนี้ ทั้งๆที่มียอดคนติดเชื้อและตายพุ่งไม่หยุด จนเป็นชาติที่ทำสถิติผู้ป่วยไวรัสโคโรนาตายสูงที่สุดในโลก ก็ยังมีเสียงเรียกร้องในบางรัฐ ให้ยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ ที่เป็นเช่นนี้ เพราะเศรษฐกิจเสียหายหนัก คนไม่ออกนอกบ้าน ห้างร้าน ตลาดปิดกันหมดจนบางเมืองแทบจะเป็นเมืองร้าง นักเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯจะเสียหายหนักที่สุดในประวัติศาสตร์ หนักกว่า Great Depression หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และ Great Recession 2008-2010 รัฐบาลถึงกับต้องแจกเงินแก่ประชาชน เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ โดยเริ่มส่งเข้าบัญชีงวดแรก กลุ่มแรกเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยเริ่มจากบัญชีผู้เสียภาษีเงินได้ก่อนในลักษณะคืนภาษี ซึ่งมีจำนวนมากที่สุด จากนั้นเป็นรายอาชีพและผู้ที่อุทธรณ์กรณีที่รายชื่อตกหล่น ชาวต่างชาติที่ไปทำมาหากินในสหรัฐไม่ได้รับสิทธิ์ การที่สหรัฐฯให้ความสำคัญแก่ผู้เสียภาษีก็เพราะ ภาษีเงินได้ทั้งบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล เก็บสูงมาก ถือเป็นรายได้สูงสุดของรัฐบาล ต่างจากบ้านเราที่ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นรายได้ด้านภาษีสูงที่สุด สำหรับรัฐที่เตรียมการยกเลิกมาตรการ stay-at-home และ social distancing นั้น ขณะนี้มีอยู่ 9 รัฐ นำโดยแคลิฟอร์เนียซึ่งมีพื้นที่ 423,970 ตารางเมตร ประชากรราว 40 ล้านคน เล็กว่าประเทศไทย 513,120 ตร.ก.ม.ไม่มาก ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสในแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันจันทร์ จำนวน 22,348 ราย อยู่ใน ICU 1,178 ราย ตาย 678 ราย ผู้ป่วยที่ตายนั้น ส่วนใหญ่เป็นคนผิวสีหรือนิโกร รวมถึงพวกอพยพเข้าไปทำมาหากิน ซึ่งถ้าเป็นคนไทยจะเรียกกันเองว่า “โรบินฮู้ด” คนเหล่านี้ ฝรั่งผิวขาวเหยียดเป็นประชากรชั้นสอง มักจะไม่ได้รับการดูแลหรือให้ความเสมอภาคเท่าชาวอเมริกันขาว ใครป่วย ก็ต้องดูแลตัวเอง ดังจะเห็นได้จากเงินเยียวยาที่เจาะจงให้แก่คนอเมริกันโดยกำเนิดมากกว่า ส่วนคนเชื้อชาติ-สัญชาติอื่น แม้จะเสียภาษี ทั้งทางตรง คือภาษีเงินได้ หรือภาษีทางอ้อม คือภาษีบริโภค(แวต) ภาษีสรรพสามิต ฯลฯ แต่ก็ไม่ได้รับคืนภาษีหรือเงินช่วยเหลือในครั้งนี้ แต่ทั้งๆที่มีคนป่วย คนตายมากกว่าไทยมาก ทว่าแคลิฟอร์เนีย และอีก 8 รัฐก็จำต้องยกเลิกและผ่อนคลายมาตรการ เพราะการใช้มาตรการควบคุมเข้มข้นนานๆ เป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนมาก รัฐบาลมลรัฐของแคลิฟอร์เนียจึงวางแผนผ่อนคลายมาตรการควบคุมทีละขั้นและ เป็นไปอย่างช้าๆ โดยจะรณรงค์ใหประชาชนตระหนักรู้และป้องกันตนเองและคนอื่น หลักเกณฑ์ในการพิจารณาลดความเข้มงวดของมาตรการนั้น จะไม่ครอบคลุมทั้งรัฐ หากแต่จะพิจารณาเป็นพื้นที่ๆไป โดยยึดหลักความหนาแน่นของชุมชน จำนวนของผู้ป่วยติดเชื้อในแต่ละพื้นที่ ความรุนแรงของการระบาดและวินัยของประชาชน ถ้าเป็นบ้านเรา ก็ต้องพิจารณาเป็นภาค เป็นรายจังหวัด อย่างตอนนี้กรุงเทพฯ มีผู้ป่วยมากที่สุด แต่พื้นที่กว้างและจำนวนประชากรมาก ก็อาจจะเลือกเปิดเป็นโซนๆ สำหรับกระบวนการ “เปิดเมือง” นั้น ถ้าเรานำแบบแคลิฟอร์เนียมาใช้ ก็จะต้องแบ่งพื้นที่เป็นภาคและจังหวัด ตอนนี้ภาคใต้ขณะนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อและป่วยเพิ่มอย่างน่าวิตก ทั้งจากพวกที่กลับจากไปร่วมพิธีศาสนาอิสลามที่อินโดนีเซีย มาเลเซีย ปากีสถาน อินเดีย บังกลาเทศ และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ภูเก็ต ขณะที่ตอนบนของประเทศ โดยเฉพาะ 9 จังหวัด ปลอดผู้ติดเชื้อ ก็น่าจะเปิดได้เป็นบางส่วน บางมาตรการ เช่นมาตรการเว้นระยะห่าง มาตรการหยุดอยู่บ้าน มาตรการห้ามขายสุรา เป็นต้น ยกเว้นมาตรการห้ามชุมนุมในที่สาธารณะ ในที่จำกัด มาตรการเคอร์ฟิว มาตรการห้ามเข้า-ออกพื้นที่ จนกว่าพื้นที่อื่นๆจะไม่มีผู้ติดเชื้อแล้ว ทั้งนี้ จุดประสงค์เพื่อให้ประชาชนออกจากบ้านไปทำงานได้ ออกมาประกอบอาชีพได้ ออกมาซื้อหาสินค้า ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ สำหรับการยกเลิกขายสุรานั้น เหตุผลคือ สุราเป็นสินค้าที่บริการคู่กับอาหารทางหนึ่ง กับบริโภคเพื่อสุขภาพ เช่นยาดองทางหนึ่ง มาตรการห้ามขายสุรานั้น อาจจะไม่มีใครคิดว่ามีผลกระทบถึงผู้ค้ายาดองถึง 130,000 ราย ส่วนมาตรการเคอร์ฟิวนั้น ยังต้องคงไว้ แต่ขยับเวลาให้เหมาะสมกับการดำเนินชีวิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนในบางพื้นที่ ขนาดยังมีมาตรการห้ามอยู่นี้ พวกผีสุรา ผียาไอซ์ ผียาอี ผีแว๊นซ์ ผีพนัน ผีอบายมุข ฯลฯ ยังออกมาอาละวาดให้จับกันได้ไม่เว้นแต่ละวันอยู่เลย