เสือตัวที่ 6 การสร้างความรู้สึกนึกคิดให้ประชาชนในพื้นที่ให้มีความเป็นต่างจากรัฐ เพื่อนำประชาชนเหล่านั้น มาเป็นแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่แห่งนี้ในที่สุด ซึ่งรัฐได้ใช้ความพยายามอย่างแรงกล้าที่จะลดและขจัดเงื่อนไขต่างๆ ให้ลดน้อยถอยลงจนหมดสิ้นไปในที่สุด โดยเฉพาะเงื่อนไขที่แกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดน มักจะกล่าวอ้างในสังคมปลายด้ามขวานอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบว่า การไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐ ในขณะที่รัฐได้พิสูจน์ให้ประชาชนในพื้นที่และประชาคมโลก เห็นเชิงประจักษ์ว่า รัฐได้ใช้กระบวนการยุติธรรม ตามระบบกลไกทางกฎหมายของรัฐอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา เปิดโอกาสให้ผู้ตกเป็นจำเลยในคดีความมั่นคงได้มีทนายความในการต่อสู้คดีอย่างกว้างขวาง หรือการจัดหาทนายความให้ตามระบบการช่วยเหลือจำเลยในคดีความต่างๆ ของรัฐ เพื่อเพิ่มโอกาสและสร้างความเป็นธรรมให้ผู้ถูกกล่าวหาในคดีความมั่นคงในพื้นที่แห่งนี้ให้มีมากที่สุดอย่างโปร่งใสในการพิสูจน์ความจริงให้สิ้นกระแสสงสัย ซึ่งการดำเนินการของรัฐต่อจำเลยได้นำมาซึ่งความไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนต่อรัฐมากขึ้น หากพิสูจน์ชัดจากพยานหลักฐานได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิดจริงตามที่ถูกกล่าวหา ก็จะถูกพิจารณาให้รับโทษทัณฑ์ตามกฎหมายของรัฐที่ระบุไว้อย่างเป็นสากล อย่างไรก็ตาม ระบบยุติธรรมที่ผ่านมาของรัฐ ได้ถูกทำลายความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นในมโนสำนึกของพี่น้องประชาชนอย่างเป็นระบบ ด้วยแกนนำในระดับนักคิดของขบวนการร้ายแห่งนี้ ยังคงมุ่งมั่นในการดำเนินการสร้างกระแสแห่งการไม่รับความเป็นธรรมจากรัฐอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยเงื่อนไขต่างๆ เท่าที่จะแสวงหามาได้ และที่รัฐยังคงมีรอยรั่วเปิดช่องว่างไว้ให้ ส่งผลให้ความเป็นธรรมจากกระบวนการของรัฐ ยังไม่สามารถสร้างหลักประกันความเชื่อมั่นให้กับผู้เห็นต่างจากรัฐในระบบยุติธรรมได้เท่าที่ควร โดยเฉพาะผู้ที่เป็นจำเลยในความผิดในคดีความมั่นคง ซึ่งถูกควบคุมตัวในเรือนจำ ระหว่างการพิจารณาคดี และผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องขังในเรือนจำในคดีความมั่นคงเป็นที่สิ้นสุดแล้ว ต่างมีคำถามสำคัญที่สงสัยว่า พวกเขาถูกกล่าวหาและ ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการถูกจับกุมคุมขัง อาทิ การถูกจับกุมเพียงเพราะมีภาพอยู่ในที่เกิดเหตุเท่านั้น โดยไม่ได้ร่วมกระทำความผิดใดๆ ทั้งยังใช้ทุกช่องทางใสการสื่อสารความคิดในการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐที่กล่าวอ้างนั้นในทุกช่องทางที่สามารถกระทำได้ ไม่ว่าจะเป็นส่งผ่านความคิดที่ถูกกลั่นแกล้งจากรัฐผ่านญาติที่มาเยี่ยมในเรือนจำ การบอกกล่าวผ่านตัวแทนภาคประชาสังคมให้ไปขยายผลความเห็นต่างจากรัฐในชุมชนท้องถิ่นอย่างแนบเนียน เหล่านี้คือเงื่อนไขสำคัญที่อาจส่งผลให้แนวโน้มในอนาคต เมื่อผู้ต้องขังได้พ้นโทษและออกไปจากเรือนจำไปแล้ว ตลอดจนญาติพี่น้อง และบุคคลในครอบครัว ก็ยังคงความหวาดระแวงการดำเนินการของรัฐอยู่ต่อไป ซึ่งล่อแหลมต่อการตกเป็นเป้าหมายในการขยายแนวร่วมของขบวนการแบ่งแยกดินแดนในรูปแบบต่างๆ อย่างไม่สิ้นสุด ปรากฏการณ์ที่สะท้อนกลับมาให้เห็นถึงความคิดของแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดนปลายด้ามขวานที่มีเงื่อนไขสำคัญคือ การต่อต้านระบบยุติธรรมของรัฐ และไม่ยอมรับในตัวบทกฎหมายของรัฐ จึงเกิดกลุ่มคนในพื้นที่ มีการเรียกร้องให้นำกฎหมายอิสลาม หรือที่เรียกว่า กฎหมายชะรีอะฮ์ มาใช้กับคนในพื้นที่การต่อสู้แห่งนี้ แทนระบบกฎหมายของรัฐ ซึ่งกฎหมายชะรีอะฮ์ (Sharia หรือ Shari'ah) คือ ประมวลข้อกฎหมายที่มาจากคำสอนศาสนาและหลักนิติศาสตร์ (Jurisprudence) พื้นฐานของศาสนาอิสลาม โดยโครงสร้างทางกฎหมายจะครอบคลุมวิถีการดำเนินชีวิตของบุคคลและสาธารณชน ตลอดจนครอบคลุมด้านต่าง ๆ ของชีวิตประจำวัน ทั้งระบบการปกครอง ระบบเศรษฐกิจ ระบบการดำเนินธุรกิจ ระบบการธนาคาร ระบบธุรกรรมหรือทำสัญญา ความสัมพันธ์ในครอบครัว หลักการอนามัย ปัญหาของสังคม และอื่นๆ ด้วยเหตุนี้อิทธิพลของหลักชารีอะฮ์ จึงมีอยู่ให้เห็นเสมอในพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของมุสลิมแต่ละคน ตั้งแต่เกิดจนตาย ก่อนจะยกมาเป็นระดับครอบครัว ระดับท้องถิ่น และระดับชาติ แม้รัฐจะพยายามลดเงื่อนไขในความไม่ได้รับความเป็นธรรม ด้วยการด้วยการเคารพในสิทธิความเชื่อ และวิถีชีวิตตามหลักศาสนาอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารฮาลาล ที่ประกอบอาหารด้วยผู้ต้องขังชาวมุสลิมเอง หรือการละหมาดตามห้วงเวลาที่กำหนดในหลักศาสนาอิสลาม การปรับห้วงเวลารับทานอาหารของพี่น้องผู้ต้องขังชาวมุสลิมให้เหมาะสมในห้วงถือศีลอด ตลอดจนการถ่ายทอดคำสอนตามหลักศาสนาในเรือนจำก็ตาม หากแต่สภาพของความคิดที่ยังไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมของรัฐก็ยังคงถูกสานต่อไปในวงกว้างต่อไป ซึ่งรัฐบาลก็ตระหนักดีในกลยุทธ์และเป้าหมายสำคัญของขบวนการแบ่งแยกปกครองจากรัฐมาตลอด จึงได้พยายามแสวงหาทางออกที่ประนีประนอมร่วมกันได้ โดยรัฐบาลก็ได้ให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนชาวไทยมุสลิม ในอันที่จะดำเนินชีวิตภายใต้หลักศาสนาอิสลาม โดยเห็นได้จากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ ฝ่ายอิสลาม พ.ศ. 2488 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ. 2489 เป็นต้น แต่ก็ยังไม่มีผลต่อการเอาชนะเงื่อนไข ที่ถูกสร้างขึ้นดังกล่าวได้เท่าที่ควร การที่ผู้ต้องขังทั้งในฐานะจำเลยและที่เป็นผู้ที่เป็นผู้ต้องขังเด็ดขาดแล้วเหล่านั้น มีการสื่อสารถ่ายทอดความคิดในการไม่ยอมรับในกระบวนการยุติธรรมของรัฐผ่านกลุ่มคนต่างๆ ดังกล่าว ย่อมเป็นการบั่นทอนความน่าเชื่อถือ ทำลายความเชื่อมั่นในระบบกฎหมายของรัฐในวงกว้าง อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำรงอยู่ในความเป็นเอกราชอธิปไตยของรัฐ ซึ่งหากคนในพื้นที่ ถูกหล่อหลอมกล่อมเกลา บ่มเพาะให้เกิดการไม่ยอมรับในตัวบทกฎหมายอันเป็นสาระสำคัญในระบบความยุติธรรมของรัฐ และมุ่งให้มีการนำกฎหมายอิสลามมาใช้ในพื้นที่ จึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญอีกประการหนึ่งในการบ่งชี้ให้เห็นถึงความเป็นเอกราชของพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งหากรัฐ ยังไม่ตระหนักรู้เงื่อนไขสำคัญในการเป็นเอกราชแห่งรัฐเหล่านี้ ย่อมเป็นโอกาสให้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนปลายด้ามขวาน บรรลุเป้าหมายสุดท้ายของพวกเขาได้ในที่สุด