ทวี สุรฤทธิกุล การเมืองคือ “ธรรมชาติ” ที่ต้องปรับตัวให้สมดุลกับสรรพสิ่ง ภายใต้วิกฤติโควิด-19 ในครั้งนี้ เราคงจะพอมองเห็นแล้วว่า ไม่มีอะไรยิ่งใหญ่หรือมีอำนาจเหนือกว่า “ธรรมชาติ” ดังที่ได้เห็นว่าผู้นำและรัฐบาลในหลายๆ ประเทศต้อง “ใช้อำนาจพิเศษ” เพื่อต่อสู้กับโรคร้ายนี้ หลายประเทศต้อง “ล็อคดาวน์การเมือง” คือระงับวิธีปฏิบัติหรือธรรมเนียมการปกครองตามแบบที่ควรจะเป็นในภาวะปกตินั้นไว้ เช่น การระงับใช้เสรีภาพในชีวิตความเป็นอยู่ต่างๆ การยอมให้รัฐใช้อำนาจล่วงล้ำเข้าในความเป็นส่วนตัว และการลงโทษที่อยู่นอกเหนือกฎหมายทั่วไป รวมถึงการเข้าแทรกแซงระบบราชการไว้ทั้งหมด เป็นต้น จนทำให้ผู้คนจำนวนมากมองว่า ถ้าวิกฤตินี้ยังไม่หายไปโดยเร็ว ระบบการเมืองที่มีการใช้อำนาจในรูปแบบพิเศษเหล่านี้ อาจจะเข้าครอบงำการเมืองแบบที่เคยเป็นมา ซึ่งถ้าประเทศไหนเป็นเผด็จการอยู่แล้วก็คงไม่เดือดร้อนอะไรนัก แต่ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมาแล้วและกับที่กำลัง “โหยหา” ประชาธิปไตย อาจจะ “ลงแดง” จน “สำลัก” ความอยากเป็นประชาธิปไตยนั้นออกมาอย่างรุนแรง ผู้เขียนมองว่าการเมืองในยุคต่อไปอาจจะ “พลิกโฉม” แต่เป็นการพลิกโฉมที่ย้อนกลับไปในอดีต คือยุคที่มีการศึกษาว่า “มนุษย์คืออะไร – การเมืองคืออะไร” เพื่อนำไปสู่คำตอบของคำถามต่อไปที่ว่า “มนุษย์จะอยู่ร่วมกันในสังคมการเมืองให้มีความสุขความพอใจอย่างถ้วนทั่วได้อย่างไร” นั่นก็คือคำถามที่ถามกันมาตั้งแต่ยุคกรีกเมื่อกว่า 2,000 ปีที่แล้ว อันเป็นคำถามของโสกราตีส เพลโต และอริสโตเติล มาจนถึงยุคแสงสว่างแห่งปัญญา ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 – 18 อันเป็นคำถามของแม็คเคียเวลลี่ ฮอบส์ ล็อค และรุสโซ คำถามของปราชญ์เหล่านั้นมุ่งแสวงหาคำตอบที่จะ “ปรับธรรมชาติ” ทั้งธรรมชาติของมนุษย์และธรรมชาติของการเมือง “เข้าด้วยกัน” ให้ได้ โดยมองไปที่ความต้องการของมนุษย์ จากพื้นฐานความจริงส่วนหนึ่งที่ว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคม คือต้องอยู่ร่วมกัน ต้องมีผู้นำ ในขณะเดียวกันมนุษย์ก็ต้องการเสรีภาพ ต้องการชีวิตส่วนตัว การจัดการสิ่งเหล่านี้ให้ “สมดุล” คือหน้าที่ของปราชญ์ทางการเมืองทั้งหลาย ในวิชารัฐศาสตร์มีทฤษฎีทางการเมืองทฤษฎีหนึ่งชื่อว่า “ชีววิทยาการเมือง” (Bio-politics) อธิบายย่อๆ ว่า “การเมืองคล้ายสิ่งมีชีวิต” คือ มีเกิดแก่เจ็บตาย เติบโตก้าวหน้า เจริญรุ่งเรือง เสื่อมถอย สูญสลาย จนถึงปรับตัวหรือมีวิวัฒนาการไปได้เรื่อยๆ (รวมทั้ง “กลายพันธุ์” และ “เปลี่ยนโฉม” ได้เช่นเกียวกัน) ดังนั้นในแนวทางของทฤษฎีนี้ การเมืองจึงเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วโดยธรรมชาติ คือการควบคุมและดูแลกันและกันของผู้คนในสังคม เพื่อนำไปสู่ประโยชน์สุขและความพึงพอใจของผู้คนทั้งหลาย เช่นเดียวกันกับธรรมชาติที่ “สานสัมพันธ์” ระหว่างกันอยู่ตลอดเวลา ดิน น้ำ ฝนฟ้าอากาศ แสงแดด ต้นไม้ ก้อนหิน พืช สัตว์ (รวมถึงเชื้อโรคนั้นด้วย) แม้บางครั้งจะทารุณโหดร้าย อย่างภัยธรรมชาติและโรคร้ายทั้งหลาย แต่เป้าหมายก็เป็นไปเพื่อ “สร้างสมดุล” หรือการอยู่รอดร่วมกันนั่นเอง ดั่งเช่นวิกฤติโควิดนี้แม้จะดูเหี้ยมโหดมาก แต่ก็สอน “ธรรมะ” ให้กับมนุษย์ได้ทราบความจริงร่วมกันว่า มนุษย์กำลังรับกรรมที่มนุษย์ได้สร้างขึ้น ได้แก่ การทำลายธรรมชาติและการสร้างมลภาวะ รวมถึงความพยายามในการที่จะ “เอาชนะธรรมชาติ” ด้วยการทำลายสมดุลทางธรรมชาติต่างๆ เช่น การสร้างวัสดุอุปกรณ์อำนวยความสะดวกทั้งหลาย ที่บิดเบือนสภาพความเป็นจริงทางธรรมชาติ ตลอดจนการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ที่ “เกินธรรมชาติ” เช่น การอยู่กันอย่างแออัด รวมทั้งที่สุขสบายหรือ “ล่วงเกินธรรมชาติ” จนเกินไป ไม่เว้นแม่แต่ในทางการเมืองที่อาจจะเดินมาผิดแนวทาง ที่มนุษย์พยายามจะ “ฝืน” ธรรมชาติบางอย่างก็เป็นได้ หากจะมองทฤษฎีรัฐศาสตร์ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นทฤษฎีที่มุ่งแต่จะประดิษฐ์คิดค้น “เครื่องมือใหม่ๆ” ทางการเมือง ด้วยจุดมุ่งหมายว่าจะค้นพบ “การเมืองที่ดีกว่า” ซึ่งแนวคิดนี้มีความเจริญมากในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อันเป็นผลมาจากการสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ของหลายๆ มหาวิทยาลัยในยุโรปและสหรัฐและอเมริกา เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองยุคใหม่ที่มีความหลากหลาย แนวทางที่นิยมกันมากก็คือการสร้าง “กลไกทางการเมือง” ให้ทำหน้าที่ต่างๆ ในระบบการเมืองให้มีประสิทธิภาพและสนองตอบต่อความต้องการของประชาชาติต่างๆ เริ่มจากกลไกที่ใหญ่ที่สุดก็คือ “ตัวระบอบ” ที่มีการแข่งขันกัน 2 ระบอบใหญ่คือ เผด็จการคอมมิวนิสต์กับเสรีประชาธิปไตย จากนั้นก็เป็นการออกแบบรัฐธรรมนูญ บ้างก็ลอกเลียนกัน บ้างก็ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นเอง ซึ่งส่งผลต่อการก่อตั้งพรรคการเมืองและระบบการเลือกตั้ง ไปจนถึงระบบราชการและระบบการบริหาร ซึ่งแนวคิดและทฤษฎีทั้งหลายเหล่านี้ก็มี “การส่งออก” หรือแสวงหาผู้ที่จะนำไปใช้ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา ถึงขั้นที่ “บีบ” ให้ประเทศบริวารที่รับเงินช่วยเหลือในด้านต่างๆ “นำเข้า” ประดิษฐกรรมเหล่านั้น ซึ่งหลายๆ ประเทศก็ประสบความล้มเหลวในการนำไปใช้ ประเทศเหล่านั้นจึงคิดสร้างและปรับปรุงขึ้นเอง ซึ่งก็มีทั้งที่ใช้ได้ดีกับที่ใช้ไม่ได้ หรือล้มลุกคลุกคลานเรื่อยมา ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในจำนวนหลายๆ ประเทศที่ลอกเลียนประชาธิปไตยของต่างประเทศมาใช้ ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 แต่ก็ยังไปไม่ถึงไหน เนื่องด้วยเกิดความขัดแย้งในหมู่ผู้นำอยู่เสมอ นั่นก็คือความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอำนาจเก่ากับกลุ่มอำนาจใหม่ โดยกลุ่มอำนาจเก่าก็คือทหารที่เป็นเสาหลักในทางการเมืองการปกครองมาแต่โบร่ำโบราณ และกลุ่มอำนาจใหม่ก็คือนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง แต่นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งนั้นแทนที่จะสร้างฐานอำนาจจากประชาชนให้มั่นคงแข็งแรง กลับไปอิงแอบอยู่ภายใต้การคุ้มครองของผู้มีอำนาจในระบบเก่า ในขณะเดี่ยวกันผู้นำในระบบเก่าซึ่งก็คือทหารก็พยายามที่จะครอบงำนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งนั้นตลอดมา ซึ่งสภาวการณ์ดังกล่าวยังคงมีอยู่ให้เห็นในระบบการเมืองไทยแม้ในกระทั่งทุกวันนี้ หลังวิฤติโควิด-19 แนวคิดที่จะสร้างการเมืองใหม่คงจะต้องเปลี่ยนไป ในกรณีของประเทศไทยอาจจะต้องหันมามองว่า “อะไรคือธรรมชาติของคนไทย” เช่น คนไทยชอบการใช้อำนาจจริงหรือ ชอบผู้นำที่เด็ดขาดจริงหรือ และอยากให้ทหารปกครองประเทศตลอดไปจริงหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งหากได้ค้นพบความจริงดังกล่าวแล้ว เราก็อาจจะมี “การเมืองใหม่” ที่สอดคล้องกับธรรมชาติของสังคมไทยนั้นได้ แต่ก็หวังว่าธรรมชาติของคนไทยคงไม่ได้เป็นไปดังตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นนั้น