ผศ.ดร.พิทักษ์ จันทร์เจริญ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต หลายคนอาจยังคงสงสัยว่าบริการเดลิเวอรี่ (Delivery) คืออะไร อาจจะบอกได้ว่าเดลิเวอรี่ ก็คือ “บริการจัดส่งถึงที่” นั่นเอง ปัจจุบันธุรกิจเดลิเวอรี่เติบโตเร็วมาก โดยเฉพาะธุรกิจบริการส่งอาหาร “ฟู้ดเดลิเวอรี่” (Food Delivery) คนกรุงฯ รู้จักและคุ้นเคยกับธุรกิจบริการส่งอาหารหรือ ฟู้ดเดลิเวอรี่ จริงๆ จังๆ น่าจะเป็นยุคที่ร้านพิซซ่าและฟาสต์ฟู้ดต่างๆ เข้ามาในไทยใหม่ๆ แม้ร้านอาหารบางร้านจะไม่มีบริการเดลิเวอรี่เป็นของตัวเอง แต่ก็มีรถจักรยานยนต์รับจ้างละแวกใกล้เคียงบริการ ส่วนใหญ่จะให้บริการลูกค้าประจำแต่ก็ยังไม่แพร่หลาย และแข่งกันดุเดือดอย่างทุกวันนี้ เทรนด์การเติบโตของธุรกิจ ฟู้ดเดลิเวอรี่ ยังมีแนวโน้มการเติบโตค่อนข้างสดใส เพราะส่วนหนึ่งเข้าไปรองรับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของคนเมืองรุ่นใหม่ที่ “รอไม่ได้ ช้าไม่เป็น” ทำให้ทุกคนจึงยอมซื้อความสะดวกสบาย จากเหตุผลที่ทำให้อาหารเดลิเวอรี่ เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมไทย แล้วยิ่งเกิดสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งทำให้ร้านอาหารไม่สามารถให้บริการภายในร้านได้ เหลือไว้เพียงบริการซื้ออาหารกลับบ้าน และส่งอาหารถึงบ้านเท่านั้น ก็ยิ่งเปรียบเสมือนว่า “อาหารเดลิเวอรี่” ได้พบทางเบี่ยงในยุค “โควิด-19” ที่ทำให้ธุรกิจเดลิเวอรี่ได้รับความนิยมและเติบโตขึ้นทวีคูณ เพราะเป็นวิธีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของร้านอาหาร ภาพสะท้อนที่เป็นรูปธรรมของการเติบโต ก็คือ ผลการสำรวจ ซึ่งพบว่า การจัดส่งอาหารออนไลน์เดลิเวอรี่ผ่านแอพพลิเคชั่น ฟู้ดแพนด้า (foodpanda) มีปริมาณการสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 20-25 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ขณะที่บริการฟู้ด เดลิเวอรี่ของ LINE MAN มียอดการใช้งานเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า จากช่วงเวลาปกติ นอกจากนั้นยังมีร้านอาหารใหม่ๆ สมัครเข้ามาจำนวนมาก นี่คือ สิ่งที่แสดงให้เห็นว่า อาหารเดลิเวอรี่ ยังมีอนาคตที่สดใส แล้วหากผ่านพ้นสถานการณ์โควิด-19 จะเป็นอย่างไร? ผลการสำรวจของ “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ซึ่งสอบถามความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อ “อาหารเดลิเวอรี่” รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,043 คน ในประเด็น “อาหารเดลิเวอรี่” ที่ลูกค้าต้องการ ทำให้พบประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้ - ความถี่ในการสั่งอาหารต่อเดือน พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.86 “สั่งอาหาร 2-5 ครั้ง ต่อเดือน” - ค่าใช้จ่ายในการสั่งอาหารต่อครั้ง พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 21.52 “สั่งอาหารครั้งละ 101-200 บาท” - สถานที่ที่นำอาหารไปรับประทาน พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 65.68 “สั่งอาหารไปรับประทานที่บ้าน” - จำนวนคนที่รับประทานอาหารในแต่ละครั้ง พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ36.05 มีจำนวนคนที่รับประทานอาหาร 1-2 คน - การเปรียบเทียบอัตราการสั่งอาหารก่อนและหลังสถานการณ์โควิด-19 พบว่า หลังมีสถานการณ์โควิด-19 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.75 “สั่งอาหารมากขึ้นกว่าเดิม” - ความสนใจในการสั่งอาหารหลังจากสถานการณ์โควิด-19 สิ้นสุด พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 90.03 “สนใจจะสั่งอาหารต่อไป” - ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจสั่งอาหารเดลิเวอรี่ พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ตัดสินใจจาก ความสะอาดถูกหลักอนามัย ร้อยละ 97.73 รองลงมาคือ ความสะอาดของพนักงานส่งอาหาร ร้อยละ 94.83 รสชาติอร่อย ร้อยละ 94.28 ราคาถูก/ย่อมเยา ร้อยละ 92.56 และส่งตรงเวลา ร้อยละ 92.11 ผลการสำรวจเกี่ยวกับ “อาหารเดลิเวอรี่” ที่ลูกค้าต้องการ ไม่เพียงแต่จะสะท้อนให้เห็นพฤติกรรมของผู้ใช้บริการอาหารเดลิเวอรี่เท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มของพฤติกรรมของผู้ใช้บริการในอนาคตว่า แม้วิกฤติโควิด-19 จะผ่านไป แต่เชื่อว่า คนไทยยังคงคุ้นชินกับ “อาหารเดลิเวอรี่” ไปอีกนานแสนนาน ดังนั้น แม้จะผ่านพ้นยุคโควิด-19 ไปแล้ว แต่ก็กล้า “ฟันธง” ว่า “อาหารเดลิเวอรี่” ยังคงเป็นธุรกิจที่รุ่งแน่แน่...!! เพราะ ณ วันนี้ อาหารเดลิเวอรี่ ไม่ได้เป็นแค่ “ทางเบี่ยง” เพื่อแก้ปัญหาช่วงโควิด-19 เท่านั้น แต่เป็น “ทางหลัก” ทั้งในมิติการทำธุรกิจ หรือแม้แต่การดำเนินชีวิตของคนยุคใหม่ที่ต้องการกินอาหารอร่อยแต่ไม่เสียเวลารอคอย...การใช้ชีวิตในบ้าน เพื่อหลีกหนีมลพิษ หรือแม้แต่โรคภัยต่างๆ เป้าประสงค์สูงสุดของข้อเขียน “อาหารเดลิเวอรี่” จาก “ทางเบี่ยง” ช่วงโควิด-19...กลายเป็น “ทางหลัก” คงไม่ใช่แค่เพียงต้องการให้คนรู้ความเป็นมาของ “อาหารเดลิเวอรี่” หรือสื่อให้เห็นถึงพฤติกรรมการใช้บริการเดลิเวอรี่ แต่ต้องการสื่อให้เห็นความสำคัญของการหาทางเลือกเพื่อทางรอด...การคิดเพื่อรับความเปลี่ยนแปลง...ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ หรือแม้แต่ลงมือทำบนฐานขององค์ความรู้ เพื่อสร้างความอยู่รอด”... ทักษะเหล่านี้ต่างหาก คือ สิ่งที่คนไทยทุกคน จำเป็นต้องเรียนรู้อย่างแท้จริง...!! ณ วันนี้ แม้จะมีหลากหลายธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 จนแทบเอาตัว ไม่รอด แต่ก็คงต้องยอมรับว่า “อาหารเดลิเวอรี่” คือ อีกหนึ่งตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของการปรับตัว เพื่อความอยู่รอดในยุคโควิด-19 ซึ่งหากมนุษย์เรียนรู้ที่จะปรับตัวแล้ว ต่อให้ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอีกกี่ครั้ง...เชื่อว่าอยู่รอดได้แน่นอน..!! ถ้าไม่เชื่อ!! ก็ต้องลองทำดู…!!