เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com ผู้ก่อตั้ง ผู้บริหารไมโครซอฟท์ แอปเปิล กูเกิล เฟซบุ๊ก อะเมซอน อาลีบาบา ซัมซุง สมาร์ทโฟนและธุรกิจดิจิทัลทั้งหลาย ที่รวยอันดับต้นๆ ของโลก คือคนที่มีข้อมูลและเครื่องมือข้อมูลข่าวสารอยู่ในมือ นี่คือความเป็นจริงของโลกดิจิทัล ที่ข้อมูลข่าวสารเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนสังคม สังคมดิจิทัล ที่ค่ายมือถือไทยทั้งหลายแทบจะแจกมือถือเพื่อให้คนใช้ระบบกลไกสื่อสารของตนเอง ในโลกที่เชื่อมต่อกันหมดนี้ ใครสั่งสมข้อมูลได้มากที่สุดและกระจายใช้ประโยชน์มากที่สุดก็มีอำนาจมากที่สุด Big Data จึงเป็นเรื่องใหญ่ ทำให้อะเมซอนและอาลีบาบากลายเป็น “ธุรกิจการค้า” ที่รวยที่สุดในโลก โดยตัวเองไม่ต้องผลิตอะไรเองเลย ทำให้เกิด uber ที่ไม่มีรถเองสักคันแต่มีเป็นแสนเป็นล้าน เกิด Airbnb ที่ไม่มีโรงแรมเองแต่มีห้องให้คนพักในเกือบทุกประเทศทั่วโลก การรู้ว่าข้อมูลอยู่ที่ไหน นำมาใช้ประยุกต์ในระบบของตนก็จะเกิดพลังอำนาจ เพราะเชื่อมต่อเป็นเครือข่ายในระบบดิจิทัลอย่างไร้ขีดจำกัดและไร้ขอบเขต ที่เก็บข้อมูลก็ไม่ต้องซื้อหรือสร้างแบบเดิมที่ใหญ่โต แต่ฝากไว้ในระบบ “ก้อนเมฆ” (clouds) ได้แทบไม่มีขีดจำกัด ปัญหาที่ตามมาไม่ใช่เพียงความได้เปรียบทางธุรกิจของผู้ประกอบการเล็กใหญ่ที่ใช้ข้อมูลและเครื่องมือสื่อสารเป็น แต่เกิดช่องว่างระหว่างประชากรที่ถ่างออกไปอีก ข้อมูลข่าวสารทำให้เกิด “คนชั้นล่าง” มี “ตลาดล่าง” อย่างเห็นได้ชัดกว่าเดิม เกิดปัญหาในการบริหารจัดการของรัฐที่ต้องการช่วยเหลือประชาชนในยามวิกฤติโควิดเพราะมีคนอีกจำนวนมากที่ไมมีสมาร์ทโฟน เข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสาร จนเกิดปัญหาหน้ากระทรวงการคลัง นอกนั้น ข้อมูล “ประชากร” ของรัฐเองก็ยังมีข้อจำกัด การแยกอาชีพยังสับสน มีคนทำงานหลายอย่าง หน้านาก็ทำนา เสร็จจากนาก็ไปตัดอ้อย ไปรับจ้างในเมือง ทำงานก่อสร้าง บ้านเราไม่มี “ฐานข้อมูล” ที่ดีพอ ที่ผ่านมารัฐพึ่งพากำนันผู้ใหญ่บ้านทำข้อมูลอย่าง “จปฐ.” “กชช 2 ค” ก็ได้ข้อมูลที่ไม่ตรงความเป็นจริง เพราะมีการ “ยกเมฆ” ให้ลูกหลานกรอกให้ก็มี ถึงมีการเสียดสีว่า “กรอกชุ่ยชุ่ยสองครั้ง” อาจจะมีการทักท้วงว่า นั่นเป็นของเก่าหลายปีก่อน วันนี้ทุกกระทรวงมีข้อมูลของตนเองหมดแล้ว แต่เอาแค่ปัญหาสารพิษ ปัญหาโควิด-19 ก็เห็นแล้วว่า ข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ ไม่ได้มีพลังอำนาจอะไร มาเร่งเอาจริงๆ เมื่อถูกบีบหนักจากการระบาดใหญ่ครั้งนี้เอง โควิด-19 ทำให้เห็นว่า การทำข้อมูลแบบบูรณาการและผนึกพลังกันทุกภาคส่วนนั้นทำได้ และมีพลังในการรับมือเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาการระบาด การติดตามผู้ที่ติดเชื้อ การทดสอบ ซึ่งนำไปสู่การบริหารจัดการผู้ติด ผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ ข้อมูลจากทุกประเทศทั่วโลกแสดงให้เห็นว่า การตรวจ (test) เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการรับมือกับโรคระบาดนี้ เพราะทำให้สามารถติดตามแยกผู้ติดเชื้อผู้ป่วย กักบริเวณหรือส่งโรงพยาบาล ยังมีการนำระบบดิจิทัลมาใช้ผ่านมือถือเพื่อให้รู้ข้อมูลบุคคลที่เสี่ยง คนที่เคยอยู่ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ ทำให้ติดตามและดูแลได้ ทำให้เกาหลี ไต้หวัน ควบคุมการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่หลายประเทศก็ยังถกเถียงกันว่าเป็นการละเมิดสิทธิข้อมูลส่วนบุคคลหรือไม่ ตัวอย่างสุดโต่งที่มีทั้งข้อดีข้อเสีย คือ การใช้เก็บข้อมูลเกี่ยวกับการระบาดทุกวิถีทางอย่างเมืองจีน ซึ่งมีข้อมูลทุกครอบครัวโดยละเอียดมาก่อนแล้ว แม้ว่าจะปิดบังข้อมูลเรื่องโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ตอนต้น จนมีการระบาดไปไม่น้อย แต่ก็สามารถควบคุมได้เพราะมี “ข้อมูล” ทำให้ติดตามและป้องกันการแพร่ระบาดได้ สิ่งที่จำเป็นเร่งด่วนบ้านเราไม่ใช่การไปฟื้นมหาวิทยาลัยที่จัดการศึกษาล้าสมัย แต่เป็นการให้ความรู้แก่ประชากรจำนวนมาก (digital info literacy) ให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้วยสื่อเทคโนโลยียุคใหม่ ชาวไร่ชาวนา คนชายขอบ ผู้ประกอบการนอกระบบ เพื่อ “เพิ่มอำนาจ” (empower) ให้ประชาชน ไม่ใช่เพิ่มแต่อำนาจรัฐหรือภาคธุรกิจที่ครอบงำเอาเปรียบประชาชน ที่เสียเงินรายเดือนเพื่อสื่อสาร ดูหนังดูละคร แต่ไม่รู้วิธีการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์เกี่ยวกับสุขภาพ การทำมาหากิน การจัดการชีวิต ไม่ว่ายามวิกฤติหรือยามปกติ ไม่ได้ใช้เพื่อพัฒนาอาชีพ การผลิต การตลาด เมืองจีนส่งอาจารย์นักศึกษาลงไปทำข้อมูลครัวเรือนนานแล้ว จึงออกแบบงานพัฒนาบนฐานข้อมูลจริงถึงระดับครอบครัว แม้จะดูเป็นวิธีการเพื่อการ “ควบคุม” ตามระบอบคอมมิวนิสต์ แล้วต่างอะไรกับที่กูเกิล เฟซบุ๊ก อะเมซอน และอื่นๆ มีข้อมูลของเราแต่ละคนจนครอบงำกำหนดการบริโภคของเราได้ บ้านเรามีเครื่องมือการทำข้อมูลชุมชน คือ “ประชาพิจัย” (PR&D) ที่แพร่ไปในหน่วยงานต่างๆ เป็นเครื่องมือของชุมชนให้ทำข้อมูลของตนเอง ไม่แต่เรื่องปัญหาและความต้องการ แต่รวมไปถึง การกินการอยู่การใช้จ่าย หนี้สิน โรคภัยไข้เจ็บในครอบครัว การเรียนรู้รากเหง้าของตนเอง เรียนรู้ที่มาเพื่อจะได้รู้ที่ไป เป็นการวิจัยเพื่อพัฒนาจิตสำนึกไปพร้อมกัน (conscientizing research) การศึกษาที่ดี (education) เป็นการเรียนรู้การหาข้อมูล เชื่อมโยงข้อมูลให้เป็นความรู้ นำสู่การปฏิบัติให้เกิดปัญญา เป็นการปลดปล่อยให้เป็นไท (emancipation) จากความไม่รู้ โรคภัยไข้เจ็บ ความยากจน และทำให้เข้มแข็งมีพลังอำนาจ (empowerment) ในการพึ่งพาตนเอง และมีส่วนร่วมในบ้านเมือง สังคมเป็นประชาธิไตยให้ความสำคัญกับการศึกษาเช่นนี้ และวัดที่เสรีภาพในเรื่องข้อมูลข่าวสาร ผู้คนไม่ถูกครอบงำจากข่าวข้างเดียวหรือบิดเบือนจากฝ่ายมีอำนาจ มีความโปร่งใสตรวจสอบได้