เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพบอกว่า โควิด-19 คงอยู่กับเราไปอีกนาน ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน เหมือนที่อยู่กับเอชไอวี (living with HIV) หรือเหมือนอยู่กับไข้หวัดใหญ่ที่ไม่เคยหมดไปแม้มีวัคซีน วันนี้ ทุกประเทศต่างก็ผ่อนปรนการล็อคดาวน์ ไม่ว่าตัวเลขผู้ติดผู้ตายจะลดมากลดน้อย หรือยังเพิ่มไม่หยุดก็ไม่สามารถทนต่อแรงกดดันของประชาชนได้ ผู้นำประเทศต่างๆ เชื่อว่า เมื่อลดล็อกดาวน์ ยังไงโควิดต้องกลับมา จะต้องเตรียมรับกันไป ทั้งขู่ทั้งปลอบให้ปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ให้มากที่สุด แม้ผ่อนคลายล็อกดาวน์ ยังไงโลกก็จะไม่เหมือนเดิม ผู้คนส่วนใหญ่ก็ยังคงอยู่แบบกล้าๆ กลัวๆ พอๆ กับรัฐบาล คงมีน้อยที่อดทนอดอยากมานาน ตั้งวงเฮฮาปาร์ตี้กัน การเดินทางท่องเที่ยวก็คงค่อยๆ เริ่มต้นจากในประเทศ ขยายไปสู่ปลายทางไกลออกไปในต่างประเทศ ในสภาพวิถีชีวิตใหม่ (new normal) เมืองไทยคงต้องปรับตัวไม่ใช่เพียงแค่ “ทาสี” บ้านให้ดูดีขึ้น แต่น่าจะรื้อบางอย่าง ต่อเติมบางส่วน ปรับระบบโครงสร้างให้รองรับกับสถานการณ์ใหม่ให้ได้ อนาคตของไทยในวิถีธรรมดาใหม่ น่าจะอยู่ที่ 3 เรื่อง คือ การท่องเที่ยว การเกษตร และสุขภาพ ซึ่งไทยมีจุดแข็งที่แข่งขันกับทั่วโลกได้ และเป็นความต้องการหรือความจำเป็นของโลกเลยทีเดียว ไทยได้รับการยอมรับและมีชื่อเสียงระดับโลกวันนี้ด้วยเรื่องอาหาร การนวด มวยไทย และการทำสมาธิ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของการท่องเที่ยวใหม่ (new tourism) ที่โควิดมาทำให้มีข้อจำกัดในการทำท่องเที่ยวหมู่แบบเดิมๆ (mass tourism) ต้องมีการจัดการใหม่ เป็นกลุ่มเล็กลง รักษาระยะห่างได้ง่ายกว่า จุดเด่นของการท่องเที่ยวไทยอยู่ที่ “ความเป็นคนไทย” ที่มีอัธยาศัยดี รับแขก มีเสน่ห์ บริการดี เอาใจเก่ง การท่องเที่ยวจึงควรเจาะจงกลุ่มเป้าหมายเฉพาะให้มาก ไม่คิดถึงแต่ปริมาณ ทัวร์ถูกๆ ทัวร์ศูนย์เหรียญ อย่างการท่องเที่ยวนิเวศ การท่องเที่ยวธรรมชาติที่ไทยมีหลากหลายมากตั้งแต่เหนือจรดใต้ ทุ่งนาป่าเขา ทะเลที่ยาวหลายพันกิโลเมตร เที่ยวชมนกชมไม้ชมสัตว์ ทัวร์ที่นำคนคืนสู่ธรรมชาติ การท่องเที่ยวชุมชน นำคนคืนสู่วิถีชีวิตท้องถิ่นที่มีวัฒนธรรมดีงาม ร่วมประเพณ๊วิธีกรรมต่างๆ อย่างเป็นธรรมชาติ คืนสู่รากเหง้า สัมผัสตรงกับของจริง ไม่ใช่ของปลอมที่ทำขึ้นเพื่อการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวเกษตร การทำเกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน ให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมทำกิจกรรมการเกษตร ชุมชนชาวบ้านได้ขายอาหาร ผลผลิตการเกษตรทั้งสดและแปรรูป โดยไม่ต้องไปหาตาด ให้ตลาดมาหาถึงบ้าน ไทยควรส่งเสริมการท่องเที่ยวใหม่ (new tourism) ที่เน้นกลุ่มเล็ก จัดการโดยชุมชนท้องถิ่นโดยตรง ซึ่งเทคโนโลยีในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลนี้ไม่มีบริษัททัวร์จัดการก็เกิดได้ เหมือนกับการขายของออนไลน์ยังขายได้จากบ้านจากสวนจากไร่ อยู่ที่ว่ารัฐให้การส่งเสริมสนับสนุนหรือไม่อย่างไรเท่านั้น เรื่องการเกษตร ไทยควรส่งเสริม “เกษตรใหม่” (new agriculture) ที่เน้นการผลิตของครัวเรือน ของชุมชน ของสหกรณ์ ไม่ใช่คิดแต่เรื่องการลดต้นทุนด้วยการทำเกษตรแปลงใหญ่ ทั้งๆ ที่ศักยภาพของไทยอยู่ที่การทำเกษตรอินทรีย์ ที่ทำใหญ่ไม่ได้ ต้องทำเล็กๆ เป็นคลัสเตอร์ เป็นเครือข่าย เชื่อมโยงกัน ทีคลัสเตอร์อุตสาหกรรมส่งเสริมได้ ทำไมคลัสเตอร์เกษตรอินทรีย์ทำไม่ได้ ถ้าทำได้จะเป็นอนาคตของประเทศ เพราะเกษตรกรจะมีรายได้มั่นคง มีการส่งเสริมการแปรรูป การเพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้ผลผลิตอย่างจริงจัง ทั้งอาหาร ผัก ผลไม้ พืชต่างๆ อย่างยางพารา และอื่นๆ เรื่องสุขภาพ ไทยได้ชื่อเสียงมากจากการจัดการเรื่องโควิด-19 โดยเฉพาะการสาธารณสุข ซึ่งความจริงก็ได้รับการยอมรับมานานแล้ว โดยเฉพาะในเรื่องเอดส์ และระบบสุขภาพถ้วนหน้า รวมไปถึงการท่องเที่ยวสุขภาพ ซึ่งคนในครอบครัวมารักษาตัว มาฟื้นฟูดูแลสุขภาพ ครอบครัวก็มาดูแลมาท่องเที่ยวด้วย แต่ที่ไทยมีจุดแข็งและจุดขายมากในยุค “สุขภาพใหม่” (new health) เมื่อโควิดรอบแรกผ่านไป คือ การสร้างระบบรองรับผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง โดยเฉพาะอัลไซเมอร์และอาการหลงลืม (dementia) สังคมสูงวัยเป็นปัญหาใหญ่ของโลก ไทยรองรับคนชราทั้งสุขภาพดีและป่วยขณะนี้น่าจะเป็นแสน ที่มาพำนักระยะยาว หลายคนคงอยู่ตลอดไปจนเสียชีวิต เพราะกลับไปบ้านเกิดก็จะไม่ได้รับการดูแลอย่างที่นี่ ที่ดูแล 24 ชั่วโมง แบบตัวต่อตัว ค่าใช้จ่ายก็ถูกกว่าที่ประเทศของตนอย่างอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น วันนี้มีโครงการผู้สูงอายุ และที่ดูแลผู้ป่วยสูงวัยที่เชียงใหม่ พัทยา หัวหิน ภูเก็ต ซึ่งยังนับว่าน้อยมาก ไทยเรามีศักยภาพสูงมากที่จะพัฒนาโครงการที่พักอาศัย ที่ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในแบบที่ประเทศพัฒนาทั้งหลายไม่อาจทำได้ ไม่ใช่จำนวนแค่แสน ไทยสามารถรองรับได้เป็นล้านด้วยซ้ำ เรามีแพทย์ พยาบาล ไม่พอก็ผลิตเพิ่ม มีบุคลากรที่สามารถฝึกอบรมให้เป็นผู้ช่วยหมอพยาบาล เป็นผู้ดูแลผู้สูงวัยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขในบั้นปลาย เห็นคลิปวิดีโอชื่นชมเรื่องนี้แพร่ในสื่อต่างประเทศในยุโรป อเมริกา และทางโซเชียลมีเดียจำนวนมาก สังคมไทยต้องการ “กระบวนทัศน์” ใหม่เพื่อเข้าใจและรองรับวิถีชีวิตใหม่ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจและสังคม กระทรวงมหาดไทยที่ควรกระจายอำนาจ และกระทรวงอื่นๆ โดยเฉพาะกระทรวงอุดมศึกษาฯ ที่ควรส่งเสริมการศึกษาแบบใหม่ (new higher education) ให้ผู้เรียนออกจากห้องเรียนสี่เหลี่ยมไปสร้างเศรษฐกิจใหม่ (new economy) กับชุมชน อย่าง 3 เรื่องใหญ่ที่พูดถึงในบทความนี้ วัดผลสัมฤทธิ์การเรียนจากผลงาน นี่คือการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากที่รัฐบาลพูดบ่อย อยากเห็นรูปธรรมที่ไม่เพียงแต่เปิดห้างขายผลผลิตจากเกษตรกร ซึ่งเขาก็ทำกันอยู่แล้ว หรือส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบเดิมๆ ที่เน้นปริมาณ new normal ของจริงควรจะ new เริ่มจากวิธีคิด อยู่ที่ว่าคิดมาจากข้างบน หรือข้างล่าง (top down vs bottom up) ถ้าคิดวิถีชีวิตใหม่ (new normal) จากข้างล่าง จะได้การท่องเที่ยวใหม่ (new tourism) การเกษตรใหม่ (new agriculture) สุขภาพใหม่ (new health)