ณรงค์ ใจหาญ อาชญากรรมที่กำลังเป็นที่สนใจและสร้างความตระหนก รวมถึงก่อให้เกิดความเสียหายทั้งในระดับโลก และในแต่ละประเทศคงจะไม่พ้น อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะกรณีการดักข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์แล้วนำมาเรียกค่าไถ่ในการที่จะไม่นำออกให้ประชาชนเข้าใช้ฟรี ทำให้บริษัทผู้สร้างงานทางคอมพิวเตอร์ ต้องเสียประโยชน์จากการนำภาพยนต์ไปฉายในโรงภาพยนต์ หรือการนำข้อมูลของบริษัทไปใช้แล้วนำออกเผยแพร่หรือเรียกค่าไถ่เพื่อจะนำข้อมูลนี้มาคืน กรณีเหล่านี้ ถือเป็นความผิดต่อกฎหมายอาญา และผู้ได้รับความเสียหายสามารถที่จะเรียกร้องความเสียหายจากการกระทำละเมิดดังกล่าวได้ในกฎหมายของประเทศต่างๆอยู่แล้ว รวมถึงกฎหมายความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ของไทยเช่นเดียวกัน ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ไม่มีกฎหมายเอาผิดกับผู้กระทำ แต่ปัญหามีอยู่ว่า จะนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษอย่างไร เพราะลักษณะของการกระทำในเรื่องนี้ การลักข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ มีลักษณะแตกต่างจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์โดยทั่วไป ซึ่งต้องเข้ามาในสถานที่ที่เจ้าของเก็บรักษาทรัพย์ แต่เป็นการส่งไวรัสที่เข้ามาในระบบโดยเจ้าของเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่รู้ตัว และสำเนาข้อมูลไปยังแหล่งเก็บข้อมูลของผู้กระทำความผิด หรืออาจทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหายไม่สามารถดำเนินการได้ ทำให้เกิดความเสียหาย ที่ต้องเสียเวลาในการแก้ไขปัญหา และมีผลต่อการให้บริการซึ่งใข้ระบบคอมพิวเตอร์เป็นฐานในการปฏิบัติงาน นอกจากนี้ ผู้ที่กระทำความผิดยังสามารถอยู่ที่ใดก็ได้ในโลกนี้ และใช้การเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ของตนผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต แนวทางในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จึงมีข้อจำกัดทั้งในด้านการหาตัวผู้กระทำความผิด และการป้องกันไม่ให้ผู้กระทำความผิดเข้าถึง ข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ของเหยื่อแต่ละคน เพราะไวรัสที่ส่งเข้ามานั้น2500262nแฝงมาในระบบอินเทอร์เน็ต และเมื่อเข้ามาแล้วก็จะมากระทำต่อระบบคอมพิวเตอร์ของผู้นั้น หรือต่อหน่วยงานนั้นๆ กว่าจะรู้ว่าถูกลักข้อมูลไป การกระทำความผิดก็สำเร็จไปแล้ว ในส่วนของการติดตามหาผู้กระทำความผิด หากเป็นการกระทำความผิดในประเทศไทยคงจะหาไม่ยาก แม้ว่าผู้กระทำความผิดจะใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ของตน แต่หากเป็นการกระทำในต่างประเทศ มีข้อจำกัดในเรื่องของการติดตามจับกุมผู้กระทำความผิด รวมถึงการตามหาแหล่งที่ผู้กระทำความผิดดำเนินการอีกด้วย ในบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ได้มีการพัฒนาบุคคลากร รวมถึงหลักเกณฑ์ที่เจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมที่จะดำเนินการให้ได้ตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ เช่น มีหลักเกณฑ์ในการสืบสวนสอบสวน การพิจารณา คดีที่กระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และการรับฟังพยานหลักฐานทางคอมพิวเตอร์ ควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการรับมือกับความผิดดังกล่าว อันจะทำให้การปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มีประสิทธิภาพมากขึ้นแม้ว่าจะมีความยุ่งยากในการหาตัวผู้กระทำความผิด และการรวมรวมพยานหลักฐานในระบบคอมพิวเตอร์ก็ตาม แต่ในกฎหมายไทย ได้ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ในการดำเนินคดีเกี่ยวกับความผิดที่กระทำต่อคอมพิวเตอร์ เพื่อให้สามารถแสวงหาพยานหลักฐานได้กว้างกว่าการสืบสวนสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่หลักเกณฑ์วิธีการในการสืบสวนสอบสวน ยังไม่ได้กำหนดไว้เป็นพิเศษ เหมิอนในบางประเทศ แม้ว่าจะมีการฝึกอบรมเทคนิคการสืบสวนหาหลักฐาน แต่ยังขาดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการสอบสวนรวมถึงการพิจารณาพยานหลักฐานในศาล ที่เหมาะสมกับสภาพของพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในกรณีนี้ มีความจำเป็นต้องกำหนดหลักเกณฑ์ในการสอบสวนและการพิจารณาเพื่อให้สอดรับกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่นับวันจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และแผ่ขยายพื้นที่ในการกระทำความผิดไปในทุกภูมิภาค รวมถึงประชาคมอาเซียนของเราด้วย ในด้านการป้องกันมิให้เกิดปัญหารวมถึงการเตือนผู้เสียหายให้มีความระมัดระวัง ถือเป็นเรื่องที่ต้องกระทำควบคู่กับการติดตามจับกุมผู้กระทำความผิด ทั้งนี้ เพราะ การมีโปรแกรมป้องกันไวรัส หรือการเตือนภัยเพื่อไม่ให้หลงกลผู้ที่ส่งไวรัสมาเพื่อลักข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ ถือเป็นมาตรการป้องกันปัญหาอันมีผลสำคัญที่จะทำให้ลดความเสียหายในการที่ข้อมูลถูกลักไปหรือทำให้เสียหาย ซึ่งต้องอาศัยโปรแกรมเมอร์ที่จะต้องเฝ้าติดตาม และพัฒนาระบบป้องกันไวรัสอย่างต่อเนื่อง เพราะไวรัสที่ส่งมามีพัฒนาการที่เกิดจากการสร้างของโปรแกรมเมอร์แต่ขาดจริยธรรมในการทำงาน จึงสร้างไว้รัสเหล่านี้มาเพื่อแสวงหาประโยชน์จากการกระทำความผิด ซึ่งแนวทางป้องกัน คือ การสร้างโปรแกรมป้องกันไวรัส และการแจ้งเตือนประชาชนทั่วไปที่ไม่มีความรู้ลึกซึ้งในระบบคอมพิวเตอร์ มีความสามารถเพียงการใช้คอมพิวเตอร์พื้นฐานให้สามารถป้องกันตนเองได้จากผู้กระทำความผิดที่ส่งไวรัสเข้ามา ซึ่งต้องกระทำเป็นประจำและต่อเนื่อง ในอีกด้านหนึ่งผลการกระทำของผู้กระทำความผิดอาจเป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไป แต่ขัดผลประโยชน์แก่ผู้เป็นเจ้าของผลงานสร้างสรรค์ เช่น การลักข้อมูลของผู้อื่นมา แล้วนำมาเผยแพร่ให้ผู้อื่นได้เข้ามาชม เช่น ภาพยนต์ที่กำลังจะเข้าฉายในโรงภาพยนต์ หรือเพลงที่ค่ายเพลงต่างๆ ได้ผลิตขึ้นมาแล้วกำลังจะจำหน่ายหรือขายเพื่อให้ประชาชนซื้อหรือเข้าชม แต่การที่นำมาเผยแพร่ใน social media และไม่คิดค่าบริการ ก็เป็นการตัดรายได้หรือผลประโยชน์ที่ผู้ผลิตงานควรจะได้รับเป็นอย่างมหาศาล การกระทำเช่นนี้ แสดงให้เห็นชัดว่าเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ผลิต แต่ในอีกส่วนหนึ่งประชาชนได้ประโยชน์จากการได้รับชมภาพยนต์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือได้รับฟังเพลงโดยไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์เพลงหรือไม่ต้องซื้อแผ่น DVD มาฟัง แต่ในระยะยาว จะไม่มีผู้ประกอบการใดเข้ามาลงทุนเพราะมีการกระทำอันป็นการลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์เช่นนี้ แนวทางในการป้องกันไม่ให้ประชาชนเข้าไปรับชมงานที่ไม่มีค่าใช้จ่าย จากการเผยแพร่ของผู้กระทำความผิดก็ทำได้ยาก การป้องกันปัญหานี้จึงควรเป็นการสร้างจิตสำนึกในการเข้าไปใช้งานอันเกิดจากการกระทำความผิดเช่นนี้ สำหรับบุคคลโดยทั่วไปด้วยว่าไม่ควรเข้าไปใช้บริการของบุคคลเหล่านี้ และควรสร้างกระแสต่อต้านการกระทำดังกล่าวด้วย เพราะเป็นผลของการกระทำความผิด อันทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ปัญหาที่น่าคิด คือ การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์นี้ เกิดขึ้นได้เพราะมีผู้ที่มีความรู้ทางคอมพิวเตอร์สร้างโปรแกรมไวรัสเข้ามาเพื่อลักข้อมูลในระบบไป แล้วนำไปแสวงหาผลประโยชน์ การกระทำเช่นนี้ บางคนได้กระทำเพื่อทดสอบความสามารถของตนว่าจะเข้าถึงข้อมูลที่มีระบบป้องกันที่มีประสิทธิภาพได้เพียงใด เป็นการทำเพื่อความพอใจของตนเอง ซึ่งเมื่อเข้าไปแล้วก็ไม่ได้มีความประสงค์ที่จะแสวงหาประโยชน์ในทางทรัพย์สิน แต่บางคนทำไปเพื่อหาประโยชน์ในทางทรัพย์สิน ซึ่งในกรณีหลังนี้ ควรต้องถูกดำเนินคดีและลงโทษทางอาญาให้หลาบจำมากกว่าในกรณีแรก แต่ในด้านของผู้ให้บริการทางคอมพิวเตอร์ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องควรร่วมมือกันในการสร้างวัฒนธรรมของการใช้คอมพิวเตอร์ที่ดี และต่อต้านการสร้างโปรแกรมไวรัสที่ก่อให้เกิดความเสียหายนี้ร่วมกัน การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จึงไม่ใช่หน้าที่ของเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมแต่ฝ่ายเดียว และไม่ใช่เรื่องที่จะรอให้เกิดปัญหาแล้วจึงแก้ไข ตามจับกุมผู้กระทำความผิดมาลงโทษ แต่เป็นเรื่องที่บุคคลในสังคมต้องช่วยกันสอดส่อง ร่วมกันต่อต้านการกระทำดังกล่าว และไม่ร่วมมือหรือสนับสนุนการกระทำนี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้คอมพิวเตอร์โดยทั่วไป โปรแกรมเมอร์ ผู้ใช้บริการทางคอมพิวเตอร์ ที่จะร่วมมือกันแจ้งข่าว สร้างจิตสำนึก ต่อต้านการกระทำเหล่านี้ รวมถึงให้ความร่วมมือกับผู้ใช้กฎหมายเกี่ยวกับเทคนิกและวิธีการในการกระทำความผิดและการหาเบาะแสของผู้กระทำความผิดด้วย