แสงไทย เค้าภูไทย แม้หนี้ 1.9 ล้านล้านบาท จะผ่านสภาฯ แต่จะก่อเกิดคุณูปการใดแก่คนไทยคุ้มกับที่ต้องทนใช้หนี้กันที่อาจจะข้ามชั่วอายุคน มีคนค่อนแคะว่า หนี้ที่รัฐบาลก่อเพื่อนำมาเยียวยาพิษโควิด-19 และกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้ จะต้องใช้เวลาชำระคืนถึง 80 ปี เป็นหนี้ข้ามช่วงอายุ ต้องใช้หนี้กันชั่วลูกชั่วหลาน แต่แท้ที่จริงแล้ว เป็นความจริงครึ่งหนึ่ง เป็นสิ่งลวงตาครึ่งหนึ่ง อายุหนี้นั้น สมมติว่ากู้ผ่านการขายพันธบัตรอายุ 10 ปี พอครบกำหนดซื้อคืน ก็อาจจะต้องขายพันธบัตรชุดใหม่ โดยอาจจะขายพันธบัตรรุ่นใหม่ 1 ล้านล้านบาท สมทบกับเม็ดเงินที่มีอยู่พอจะชำระคืนได้ 9 แสนล้าบาท ไปซื้อคืนล้างหนี้หมด ส่วนหนี้ก้อนใหม่ 1 ล้านล้านบาทก็ส่งต่อไปกับรัฐบาลชุดนั้นๆและรัฐบาลชุดต่อๆไป หนี้เหล่านี้ เป็นหนี้สาธารณะ (Public debt) รัฐบาลเป็นผู้ก่อ ประชาชนเป็นผู้ชำระ ผ่านการเสียภาษีและค่าธรรมเนียมหลากหลายชนิด ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจไทย 2 ไตรมาสของปีนี้ติดลบต่อเนื่องและอาจจะถึงไตรมาสที่ 3 และ 4 หากเกิดการระบาดของโควิด-19 เป็น second wave หลังเปิดเมืองเต็มตัว ซึ่งเกิดกับทุกประเทศที่มีการระบาดของไวรัสมรณะนี้ หลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่มีทางเลือก เพราะถ้าไม่ reopen เปิดเมือง เศรษฐกิจจะชะงักงันจนอาจจะต้องใช้เวลาเยียวยาฟื้นฟูกัน ไม่ต่ำกว่า 3 ปี จึงมีแต่จะป้องกันและลดความสูญเสียให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ซึ่งที่ผ่านมา ฝ่านการแพทย์ไทยทำหน้าที่ได้ดีเยี่ยมอยู่แล้ว หนี้สาธารณะนั้นหมายถึงการกู้ยืมเงินของรัฐบาลเมื่อรัฐบาลมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย โดยตั้งงบประมาณขาดดุลเพื่อใช้ดำเนินการ ในกรณีนี้ เป็นการกู้เพื่อนำมาใช้เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 กับใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้พลิกฟื้นคืนชีพมา แต่ก็มีข้อคลางแคลงอยู่ 2 ด้าน ว่าหนี้ก้อนนี้จะก่อเกิดมรรคผลได้ตามเป้ามายแค่ไหน เพราะงบฯเยียวยานั้นสูงกว่างบฯกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือแม้แต่งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจจะสูงกว่างบประมาณเยียวยา แต่จากการศึกษาผลการกู้หนี้มากระตุ้นเศรษฐกิจนับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 มาจนถึงวิกฤติการณ์เศรษฐกิจโลกหลายครั้ง พบว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการสร้างหนี้พอกพูนขนานใหญ่ ไม่ช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้รวดเร็วดังตั้งความหวังไว้ แม้ว่าต้นทุนการเงิน(ดอกเบี้ย)จะถูกกว่าปกติ ทั้งนี้ก็เพราะ ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกระส่ำระสายหรือตกต่ำ ถดถอย ชะลอตัว การกระตุ้นเศรษฐกิจมักได้ผลไม่คุ้มกับการทุ่มเทเงินทุน เพราะการเติบโตของเศรษฐกิจโลกเป็นเสมือนแม่หมู ยามใดแม่หมูอ้วน มีนมให้ลูกหมูกินอิ่ม ลูกหมูก็อ้วน ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทยพึ่งพาปัจจัยภายนอกถึง 92% โดยเป็นการส่งออก75% การท่องเที่ยว 17% ตอนนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ แม่หมูตัวหนึ่งของไทยระส่ำทั้งโดนโควิด-19 เล่นงาน ทั้งจลาจลผิวสี อัตราเติบโตหดลงไปกว่า 40% ส่วนจีนที่เป็นความหวังใหม่แทนที่สหรัฐฯนั้น ล่าสุดบรรดาชาติที่ป้อนวัตถุดิบให้จีนพากันผิดหวังกับการฟื้นตัว เพราะ การสั่งซื้อยังซบเซาเกินคาด จีนเป็นชาติได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯมากที่สุดในโลก อันเป็นผลให้ประธานาธิบดีทรัมป์ ต้องฟาดงวงฟาดงาทำสงครามการค้า เพื่อลดช่องว่างนี้ จึงไม่แปลกที่เศรษฐกิจสหรัฐฯย่ำแย่ ชาติพึ่งพาตลาดสหรัฐฯย่อมจะพลอยแย่ไปด้วย เป็นลูกโซ่มาถึงชาติลูกช่วงเช่นไทยเป็นต้น น่าเป็นห่วงว่า งบประมาณกระตุ้นเศรษฐฏิจที่ได้จากเงินกู้ จะไม่ช่วยให้้เศรษฐกิจฟื้นตัวเติบโตดังหวัง เพราะเป็นการฝืนภาวะเศรษฐกิจโลก ที่ห่วงอีกอย่างคือการเอาหนี้เอกชนมาเป็นหนี้รัฐด้วยการอัดเงินเข้าไปอุ้ม ไม่ว่าจะในตลาดพันธบัตรหรือเอสเอ็มอี ซึ่งก็พึ่งพาปัจจัยภายนอกประเทศเช่นกัน ซอฟต์โลน ถึงแม้จะ "soft" แต่ก็เป็น "loan คือหนี้ที่ต้องชำระ รัฐบาลรับหนี้จากเอกชนมา ก็เกิดภาระที่ต้องไปกู้หนี้มาให้กู้ต่อ วันนี้ทั่วโลกกำลังกังวลกับหนี้สาธารณะที่มียอดรวมไตรมาสแรกของปีนี้ถึง 257 ล้านล้านดอลลาร์ สูงกว่าระดับเฉลี่ยปีที่แล้วถึง 33% ใกล้วิกฤติเต็มที ในจำนวนนั้น ไทยมีอยู่ 12% คิดเป็นเงิน 67,000 ล้านดอลลาร์ (คิดเป็นดอลลาร์ เพราะเรากู้เป็นดอลลาร์) เงินกู้จำนวนนี้ใช้เยียวยาประชาชนที่สูญเสียรายได้จากการปิดเมืองหัวละ 5,000บาท ใช้เพิ่มประสิทธิภาพด้านการสาธารณสุข และฟื้นฟูด้านต่างๆ รวมแล้วราว 59 พันล้านดอลลาร์หรือ 1.9 ล้านล้านบาท เหลือเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรงราว 8 พันล้านดอลลาร์เท่านั้น กว่าจะกระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นได้ราว 70% ของปีก่อนเกิดวิกฤติอย่าง เร็วก็น่าจะปี 2565 อย่างช้าก็ 2566 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่า ใครเป็นผู้นำรัฐบาลเป็นสำคัญ