ทวี สุรฤทธิกุล เมื่อไหร่หนอ “ศาลาพักใจ” จะหมดไป? ระบบรัฐสภาแบบ “ศาลาพักใจ” ก็คือระบบที่โอบเอื้อคนที่เป็นพวกเดียวกันให้เข้าไป “พักผ่อน” ในตำแหน่งต่างๆ ของรัฐสภา ไม่เพียงแต่ทหารหรือข้าราชการเท่านั้นที่ทำแบบนี้ ในยุคที่มีรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งก็มีการโอบเอื้อในลักษณะเดียวกัน จนกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาหรือเป็น “ประเพณี” อย่างหนึ่งในทางการเมืองไทยไปเสียแล้ว รัฐสภาไทยมีปัญหามากในการทำงานของนักการเมือง ในส่วนของสภาผู้แทนราษฎรก็คือการเข้าไปแทรกแซงการทำงานของข้าราชการประจำ ส.ส.ยุคแรกๆ ได้สร้างประเพณีว่าถ้าอยากจะเป็นผู้แทนที่ดีจะต้องช่วยเหลือชาวบ้านให้ได้ทุกๆ เรื่อง และจะต้อง “ดูใหญ่” หรือมีอำนาจเหนือข้าราชการประจำที่เคยกดขี่อวดเบ่งกับชาวบ้านนั้นด้วย ต้องสามารถฝากลูกเข้าโรงเรียนได้ สามารถประกันตัวผู้ต้องหาได้ จนถึงเอาคนออกจากคุก และโยกย้ายหรือลงโทษข้าราชการ ในส่วนของวุฒิสภาก็มีปัญหาในเรื่อง “ไม่ค่อยทำงาน” คือมักจะมีความเข้าใจว่าเข้ามาทำหน้าที่ยกมือให้รัฐบาล ผ่านกฎหมายและรับรองญัตติต่างๆ ทั้งที่ความจริงนั้นก็คือต้องเป็น “สภากลั่นกรอง” (ในอดีตต้องเป็น “สภาพี่เลี้ยง” คือช่วยดูแลและสอนงานให้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย แต่ต่อมาดูเหมือนว่า ส.ส.จะไม่ยอมก้มหัวให้ ส.ว. ก็เลยกลายเป็นสภาต่างคนต่างใหญ่มาจนถึงปัจจุบัน) มีหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายที่ผ่านมาจากสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้เกิดความรอบคอบและสมบูรณ์ โดยมักจะกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภามีคุณสมบัติสูงกว่า เช่น อายุ ความรู้ หรือตำแหน่งในการบริหาร คำว่า “วุฒิ” ก็แปลว่า “ความรู้” นี่เองอาจจะเป็นสาเหตุให้ ส.ส.ไม่ค่อยจะพอใจ เหมือนกับว่ามีความรู้น้อยกว่า อย่างไรก็ตามมาถึงทุกวันนี้ สมาชิกวุฒิสภาน่าจะรู้สึก “ต่ำต้อยกว่า” ส.ส. แม้ว่าจะมีการเขียนรัฐธรรมนูญให้ ส.ว.บางยุคมาจากการเลือกตั้ง แต่บทบาทหน้าที่ของวุฒิสภาก็สู้ ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้ ท่านผู้อ่านคงได้ยินข่าวว่าพวก ส.ส. และ ส.ว.สามารถมีผู้ช่วยทำงานได้หลายตำแหน่ง ตั้งแต่ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว ที่ปรึกษา และผู้ช่วยผู้ดำเนินงาน รวมแล้ว 7-8 คน แต่ละคนกินเงินเดือนเป็นหมื่นๆ (ผู้เขียนไม่มีข้อมูลว่าปัจจุบันนี้มีตำแหน่งต่างๆ อย่างไร และกินเงินเดือนเท่าไร แต่ตอนที่ผู้เขียนเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติใน พ.ศ. 2549 – 2551 สามารถมีผู้เชี่ยวชาญประจำตัว 1 คน ที่ปรึกษา 1 คน และผู้ช่วยดำเนินงานอีก 2 คน) ตำแหน่งเหล่านี้ไม่ได้ได้มาโดยง่าย เพราะเพิ่งจะมามีในช่วงสภาปี 2535 – 2538 โดยต้องผ่านกระบวนการทำวิจัยอย่างเข้มข้น ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นงานวิจัยของคณะนักวิจัยที่นำโดยศาสตจราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ซึ่งท่านเคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติใน พ.ศ. 2516 – 2517 และได้มีส่วนสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2517 ที่ถือว่าเป็นประชาธิปไตยมากๆ เป็นฉบับแรกนั้นด้วย ต่อมาท่านได้เสนอโครงงานวิจัยต่อสภาเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพงานของสมาชิกรัฐสภา โดยใช้เวลาอยู่หลายปี สิ่งหนึ่งที่งานวิจัยชิ้นนี้เสนอแนะก็คือต้องมี “ทีมงานวิชาการและประสานงาน” สักจำนวนหนึ่ง โดยกำหนดคุณสมบัติต่างๆ ไว้อย่างละเอียด เช่น ผู้เชี่ยวชาญประจำตัวนั้นจะต้องจบการศึกษาระดับปริญญาโท รวมถึงต้องมีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง หรือผู้ช่วยดำเนินงานก็จะต้องจบการศึกษาระดับปริญญาตรี และต้องมีความสามารถด้านการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น แต่ก็เป็นอย่างที่ทราบกัน ตำแหน่งที่ว่าจะให้มาช่วยงานก็ไม่ได้เป็นจริง แต่เอามา “ประกับบารมี” เสียมากกว่า รวมถึงที่เอาลูกหลานญาติพี่น้องมากินเงินเดือนในตำแหน่งดังกล่าว ดังที่สื่อมวลชนเคยเอามาแฉให้เห็นอยู่เป็นประจำ ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมช เล่าให้ฟังว่าในตอนที่ท่านเป็นหัวหน้าพรรคกิจสังคมและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีครั้งหนึ่งต้องทำพาสพอร์ตเพื่อเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งมีช่องที่จะต้องกรอกว่ามีอาชีพอะไร ท่านเห็น ส.ส.หลายคนเขียนว่า “อาชีพนักการเมือง” ท่านเห็นแล้วก็ค่อนข้างจะขัดเขิน เนื่องจากท่านไม่เห็นด้วยว่าการเมืองนั้นคืออาชีพอย่างหนึ่ง เพราะถ้าเป็นอาชีพก็ต้องทำมาหาได้จากอาชีพนั้น ซึ่งนักการเมืองไม่ควรจะมาทำมาหาได้อะไรกับประชาชน มีแต่จะต้องมาทำงานด้วยความเสียสละและไม่เอาเปรียบประชาชน ท่านจึงกรอกแค่ว่า “อาชีพงานสาธารณะ” ก็ทำให้สบายใจขึ้น ตอนนี้สังคมไทยโดยคนกลุ่มหนึ่งกำลังมีแคมเปญรณรงค์ผ่านโซเชียลมีเดียในประเด็นที่ว่า “มี ส.ว.ทำไม” นี่ก็คงเป็นเรื่องคาใจของคนจำนวนมาก ส่วนหนึ่งก็คงเป็นอย่างที่ผู้เขียนตั้งประเด็นขึ้นมาในบทความนี้ คือความไร้ผลงานอย่างที่ควรเป็น เช่น การต่อสู้เพื่อประชาชน หรือการสร้างความเป็นธรรมในสังคม (ยิ่งในวิกฤติโควิด ๑๙ นี้สภาต้องถูกปิดปากไปหลายเดือน แม้จะเป็นพักการประชุม แต่พอเปิดประชุมก็ยังไม่เห็นบทบาทที่เอาจริงเอาจังในเรื่องต่างๆ เท่าไรนัก โดยเฉพาะสมาชิกวุฒิสภาที่ดูเหมือนจะมีปัญหามากกว่าใคร) จึงนำมาสู่ความคิดในก้าวต่อไปว่า เราควรจะปรับปรุงประสิทธิภาพงานของสมาชิกรัฐสภากันอย่างไร มีแนวคิดหลายอย่างที่เคยมีผู้ศึกษาไว้ เป็นต้นว่า ให้เหลือสภาผู้แทนราษฎรเพียงสภาเดียวจะดีไหม เพื่อไม่ให้สภามีสภาที่อยู่เหนือกันและกัน แล้วกำหนดบทบาทหน้าที่ให้เหมือนงานในวิชาชีพทั่วไปให้ละเอียดชัดเจน รวมถึงการมีการประเมินคุณภาพงานเป็นประจำ เช่นในระบบราชการก็ทุกๆ 6 เดือน เป็นต้น ตลอดจนมีการบังคับใช้จริยธรรมของสมาชิกรัฐสภาให้จริงจัง เพื่อไม่ให้สมาชิกรัฐสภาประพฤติตัวอันเป็นที่น่ารังเกียจต่างๆ ทั้งนี้ในเบื้องต้นก็เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ระบบรัฐสภา แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือการกระตุ้นให้สมาชิกรัฐสภาเหล่านั้นแสดงบทบาทหน้าที่ของตนให้เข้มแข็งและถูกต้อง จะได้ไม่ถูกหาว่ามา “เสวยสุข” ก่อนที่จะลาจากโลกนี้ไป