พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ พูดกันว่า ในอนาคตกาลข้างหน้า(ไม่รู้นานเท่าใด) ในยุคโลกาภิวัตน์ มหาวิทยาลัยของไทย จะเหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่ง หรือไม่กี่สถาบันเท่านั้น ผู้พูดบอกเหตุผลว่า ดูจากสภาพของมหาวิทยาลัยของไทยตอนนี้แล้ว เหมือนสถานศึกษาร้าง โรงเรียนร้าง ไร้ชีวิตชีวา ทั้งในด้านการบริหารจัดการและบรรยากาศทางด้านวิชาการ ดูโรยราเหี่ยวเฉา ไม่เป็นโล้เป็นพาย สถาบันการศึกษาเกือบทั้งหมดไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้กับประชาชาชนพลเมือง โดยเฉพาะที่พึ่งทางด้านวิชาการที่เป็นหน้าที่หลักของมหาวิทยาลัย ยิ่งในยุคดิจิตัลด้วยแล้ว สถานการณ์ของมหาวิทยาลัยไทยสะท้อนถึงความล้าหลังอย่างหนัก ขณะที่ก่อนหน้าที่ก็พากันโทษ ที่มาของผู้เรียนก่อนเข้ามหาวิทยาลัย คือ การเรียนในระดับประถม มัธยม...ว่า ผลิตคนออกมาไร้มาตรฐาน แน่นอนว่าการออกนอกระบบงบประมาณของรัฐ คือเหตุผลหนึ่งที่เป็นตัวเร่ง ให้มหาวิทยาลัยไทยเดินหน้าสู่หลุมดำเร็วมากขึ้น ท่ามกลางยุคการแข่งขันแบบสากล คือ ไม่ได้แข่งเฉพาะสถาบันในเมืองไทยนั้น หากยังแข่งกันในภูมิภาคและต้องแข่งขันกับมหาวิทยาลัยทั่วโลก หมายความว่า ตลาดเป็นของผู้เรียน ผู้เรียนมีโอกาสเลือกมหาวิทยาลัยมากกว่าเมื่อก่อน และด้วยเหตุนี้ทำให้ธุรกิจมหาวิทยาลัยของไทยตกอยู่ในสภาพเหมือนกำลัง “ตายซาก” มากกว่าธุรกิจอย่างอื่น กิจการพร้อมที่จะพังพาบได้ตลอดเวลา การมุ่งกอบโกยผลประโยชน์ทางด้านธุรกิจ เงินๆ ทองๆ ชนิดที่ทำกันแบบลูบหน้าปะจมูก เช่น เปิดหลักสูตรแบบไร้คุณภาพ ขยายสาขา ขยายวิทยาเขตกันอย่างไร้ข้อจำกัด รู้ๆ กันว่า ที่อ้างว่า เปิดสาขาในต่างประเทศนั้น เป็นที่ยอมรับของประชาชนหรือหน่วยงานของประเทศนั้นๆ มากเพียงไร หรือเพียงเพื่อให้ได้นำมาอ้างคุยโวว่ามหาวิทยาลัยของตนมีสาขาอยู่ในต่างประเทศเท่านั้นอันเป็นการสำแดงถึงความโก้หรู ได้หน้าได้ตา จากการอวดอ้างสาขาหรือวิทยาเขตต่างแดน แต่แล้วมีใครตรวจสอบได้บ้างว่า สาขาของมหาวิทยาลัยมีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับของมหาชนในประเทศนั้นๆ หรือไม่ ลักษณะดังกล่าวนี้ ได้บั่นทอนศักยภาพและคุณภาพของมหาวิทยาลัยไทยหลายๆ แห่ง ทั้งๆ ที่ประเทศไทยควรเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาคได้ด้วยซ้ำ ซึ่งหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้อีกต่อไป ไทยก็จะเสียโอกาสดังกล่าวให้กับมหาวิทยาลัยนานาชาติที่เข้าไปเปิดสอนในประเทศไทยนั่นเอง และด้วยหลักสูตรบวกกับวิธีการเรียนการสอนที่ยังล้าหลังก็ทำให้มหาวิทยาลัยของไทยถดถอยไปอยู่ข้า หลัง ขณะที่มหาวิทยาลัยของเพื่อนบ้านถีบตัวเข้าสู่มาตรฐานสากล ไม่เว้นแต่มหาวิทยาลัยในพม่า มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ขณะที่สิงคโปร์นั้นลอยลำไปไกลแล้ว สิงคโปร์ได้กลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาคอาเซียนเรียบร้อยนานมาแล้ว ดังเป็นที่รู้ๆ กัน ส่วนมหาวิทยาลัยของไทยภายใต้การกำกับของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ (สกอ.) อยู่ท่ามกลางฝุ่นเขรอะลิบลิ่วอยู่ในช่วงท้ายๆ ในบรรดาประเทศเพื่อนบ้าน มุมมองเรื่องนี้จากอเมริกา จะเห็นได้ว่าบริษัทอเมริกันจำนวนมากเลือกสิงคโปร์เป็นฐานหรือเป็นสาขาในการทำธุรกิจในภูมิภาคเอเชีย แม้ค่าครองชีพหรือต้นทุน จะสูงกว่าไทยหรือประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ก็ตาม นั่นเพราะง่ายในการแสวงหาบุคลากร หรือคนทำงานที่มีคุณภาพ เข้ากับวัฒนธรรมตะวันตกได้ดี แม้พวกเขาจะยังให้คงไว้ซึ่งอัตลักษณ์แบบตะวันออกก็ตามที ขณะเดียวกันมีข้อน่าสังเกตว่า นักศึกษาที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในเมริกาที่อยากไปทำงานในเอเซีย ส่วนใหญ่เลือกสิงคโปร์หรือไม่ก็ฮ่องกงมากว่าประเทศอื่นๆ ด้วยเหตุจากสภาพวัฒนธรรมการทำงานแบบเปิด ซึ่งตรงกันข้ามกับวัฒนธรรมการทำงานแบบอำนาจนิยมเหมือนบางประเทศในกลุ่มอาเซียน นี้เป็นจุดดึงดูดความสนใจของนักศึกษาจากอเมริกา โดยเฉพาะนักศึกษาเชื้อสายเอเชียน ทำให้บุคลากรประเภทคุณภาพไหลไปรวมที่สิงคโปร์หรือแม้แต่ฮ่องกง ในโลกการทำงานแบบ 4.0 นั้น วัฒนธรรมการสื่อสารไม่ได้เป็นไปในแนวดิ่งอีกต่อไป หากเป็นแนวราบ คือ ทุกคนสื่อสารถึงกันในรูปแบบที่เท่าเทียมกัน สามารถเข้าถึงตัวได้ตลอดเวลาและรวดเร็ว การเรียนในมหาวิทยาลัยก็เช่นกัน อาจารย์ผู้สอน กลายเป็นที่ปรึกษาเท่านั้น ไม่ใช่ผู้สอนที่ให้ความรู้เป็นหลักในความหมายแบบเดิมๆ อีกต่อไป เพราะความรู้มีอยู่ทั่วไป ผู้เรียนสามารถแสวงหาด้วยตัวเองได้ อาจดีกว่าแสวงหาจากผู้สอนเสียด้วยซ้ำ คำว่า “ศิษย์ล้างครู” กลายเป็นคำบวกมากกว่า คำความหมายลบแบบเก่า จากความรู้ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แทบทุกวินาที และนี่คือหลักปรัชญาของมหาวิทยาลัยในอเมริกาทุกแห่ง ในเวลานี้ วัฒนธรรมโลกาภิวัตน์ ทำให้สถาบันอุดมศึกษาในอเมริกา อย่างเช่น คาเนกี้ เมล่อน แห่งเมืองซานโฮเซ่ แคลิฟอร์เนีย (ซิลิคอนวัลเลย์) ออกแนวคิดสอนด้วยการไม่พูด คือให้นักศึกษาทำโปรเจคท์ เป็นหลัก อาจารย์ (ศาสตราจารย์) เป็นแค่ที่ปรึกษา นักศึกษาเรียนรู้จากการปฏิบัติหรือ แก้ปัญหาจากปัญหาจริงๆ ไม่ใช่การตั้งสมมติฐานแบบลอยๆ ซึ่งนี่ก็ไม่ทราบว่าจะเรียกวิธีการเรียนการสอนแบบนี้ว่า การเรียนการสอนแบบ 4.0 ได้หรือไม่? ผมไม่ทราบว่ามหาวิทยาลัยของไทยไปถึงไหน จะเป็นไปตามที่มีคนพูดกันว่า จำนวนของมหาวิทยาลัยจะเหลือน้อยลงหรือไม่ เห็นแต่ว่า มีการขยายสาขา เปิดเพิ่มหลักสูตรในลักษณะทำมาค้าขาย กินส่วนต่างกำไร ซึ่งที่จริงแล้วคงไม่มีใครว่า หากหลักสูตรหรือสาขาที่ขยายมีคุณภาพ สอดรับกับวัฒนธรรมโลกาภิวัตน์ เพราะนั่นกลับยิ่งทำให้ความฝัน “ไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาของอาเซียน” เป็นจริง เร็ววันมากขึ้น ตรงข้ามถ้าผลิตบัณฑิตออกมาแล้วยังคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์องค์ความรู้ไม่เป็น เอาวุฒิการศึกษาที่ได้ไว้โชว์โอ้อวดกัน ติดไว้ข้างฝาบ้านหรือที่ทำงาน อย่างนี้จะมีประโยชน์อะไร เก่งแต่ในบ้าน เจอฝรั่งซึ่งเป็นตัวแทนโลกาภิวัตน์แล้ววิ่งหนีมิกล้าสู้หน้า อย่างนี้ความเป็นบัณฑิตก็ไม่รู้อยู่ไหนเหมือนกัน อาจเรียกว่า “บัณฑิตรูหนู” ที่พูดนี่ไม่ได้หมายความว่า ไทยต้องเดินตามก้นสิงคโปร์หรือฮ่องกงครับ แต่การดีลกับโลกาภิวัตน์นั้นต้องใช้ความรู้ครับ ไม่ใช่ใช้อำนาจยันไป มหาวิทยาลัย ควรเป็นตัวอย่างของการใช้และผลิตองค์ความรู้ให้กับพลเมือง มากกว่าการกลายหรือทำตัวเป็นสถาบันในระบบอุปถัมภ์เสียเอง เป็นที่ฝังตัวของบัณฑิตชนจอมปลอมทั้งหลาย ประเทศต้องการ “ของจริง” ครับ บุคลากรคนไทยที่มีคุณภาพในอเมริกามีจำนวนมาก หากประเทศแม่ สามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมระดับหนึ่ง พวกเขาก็คงไม่มีเงื่อนไขอะไรมาก ที่จะกลับไปรับใช้ชาติในฐานะคนไทยคนหนึ่ง