ทวี สุรฤทธิกุล วันนี้ของเสนอสำนวน “เป็นนกกระจอกให้ระวังนกอินทรีย์” ใน พ.ศ. 2549 ผู้เขียนได้มีโอกาสสนิทสนมกับสมาชิกสภานิติบัญญัติท่านหนึ่ง เพราะต้องนั่งประชุมอยู่ข้างๆ กันทุกนัดของการประชุมสภา (การจัดที่นั่งของสมาชิกรัฐสภาจะเรียงตามตัวอักษร ผู้ที่มีชื่อขึ้นต้นด้วยอักษร ก จะอยู่แถวแรกสุด เรียงกันไปตามลำดับจนถึง อ และ ฮ ในแถวท้ายๆ ดังนั้นถ้าอยากจะรู้ว่าใครนั่งข้างๆ ผู้เขียนก็หาได้ไม่ยากนัก) แต่ต้องขอปิดชื่อเสียงเรียงนามของเขาไว้ก่อน เนื่องจากเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้น่าจะเป็นเรื่องที่ก่อความเสียหายให้กับคนบางกลุ่ม ซึ่งอาจจะนำความเสื่อมเสียมาสู่บุคคลท่านนั้นได้ ท่านบอกว่าท่านเคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติครั้งแรกใน พ.ศ. 2516 ภายหลังเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ที่เรียกว่า “วันมหาวิปโยค” เพราะทหารและตำรวจได้สังหารผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยเสียชีวิตนับร้อย ท่านบอกว่าการเมืองช่วงนั้นคึกคักมากเพราะต้องถูก “จองจำ” อยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการมาหลายปี ชัยชนะของนิสิตนักศึกษาที่สามารถรุกไล่เผด็จการทหารให้ไปอยู่นอกเวทีได้ ทำให้เกิดความตื่นตัวในการใช้สิทธิเสรีภาพอย่างวุ่นวาย รัฐบาลโดย “นายกฯพระราชทาน” ท่านอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ต้องทำงานหนักมาก โดยเฉพาะการประสานกลุ่มคนต่างๆ ให้เข้ามาช่วยกันในการสร้างประชาธิปไตยในประเทศ สิ่งหนึ่งก็คือการคัดสรรผู้คนให้มาเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ถือว่าเป็นรากฐานของการวางโครงสร้างใหม่ทางการเมือง ซึ่งก็คือการเขียนรัฐธรรมนูญ ที่มีกำหนดว่าจะต้องให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อจะได้จัดให้มีการเลือกตั้งให้มีรัฐบาลที่มาจากประชาชน ขั้นตอนแรกคือการตั้ง “สมัชชาแห่งชาติ” อันประกอบด้วยบุคคลจากทุกสาขาอาชีพรวม 2,347 คน ให้มาคัดเลือกกันเองเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จำนวน 299 คน ซึ่งก็มีความวุ่นวายพอสมควร เพราะมีการจัดตั้งกระบวนการ “เกาหลัง” คือช่วยกันเลือกให้ได้คะแนนเป็นกลุ่มก้อน แบบที่เรียกว่า “บล็อคโหวต” ซึ่งก็มีข่าวว่ามีการแลกเปลี่ยนกันด้วยผลประโยชน์บางอย่าง ทำให้คนที่เข้ามาได้ก็ต้องเป็นผู้ที่มี “พรรคพวก” พอสมควร ทำให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ได้มานั้นเกิดมุ้งต่างๆ อยู่หลายมุ้ง ต่อมาในการทำงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติแม้จะเป็นไปอย่างขยันขันแข็งของสมาชิกแต่ละคนในระยะแรกๆ แต่พอเวลาผ่านไปก็เริ่มมีการขัดแข้งขัดขากัน อันเนื่องมาจากการแบ่งกลุ่มแบ่งฝ่ายดังกล่าว กลุ่มที่มีอิทธิพลมากมีชื่อว่า “กลุ่มดุสิต 99” เพราะไปสุมหัวจัดตั้งกลุ่มกันที่โรงแรมดุสิตธานี กลุ่มดุสิต 99 มีความพยายามที่จะเกาะกลุ่มกันให้เข้มแข็ง นัยว่าจะร่วมกันเป็นพรรคการเมืองภายหลังการเลือกตั้ง (ซึ่งก็ไม่ได้เป็นไปตามความฝันนั้น เพราะภายหลังที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ในเดือนตุลาคม 2517 กลุ่มนี้ก็แตกออกเป็นหลายก๊ก กระจายออกไปอยู่ในพรรคการเมืองต่างๆ กัน) กระนั้นในระหว่างการทำงานของสภาชุดนี้ กลุ่มนี้ก็มีบทบาทอย่างมากในการเคลื่อนไหวเพื่อที่จะครอบงำการทำหน้าที่ต่างๆ ของสภา สมาชิกสภานิติบัญญัติท่านนี้ก็อยู่ในกลุ่มดุสิต 99 ด้วยคนหนึ่ง เขาบอกว่าถ้าจะว่าไปแล้วกลุ่มนี้ก็คือ “พวกอำมาตย์” นั่นเอง เพราะประกอบด้วยข้าราชการใหญ่ๆ (เว้นแต่ทหาร เพราะมีทหารน้อยมากที่ได้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติในตอนนั้น) พ่อค้านักธุรกิจระดับชาติ และบุคคลที่มีชื่อเสียง ร่วมกับที่คนกลุ่มนี้ “มักใหญ่ใฝ่สูง” และคิดจะครอบงำการเมืองไทยหลังเลือกตั้ง บ้างก็เสนอตัวว่าจะคุมกระทรวงโน้นกระทรวงนี้ ทำให้หลายคนพยายามที่จะสร้างอิทธิพล บางคนอ้างความสนิทสนมกับ “ทหารใหญ่” รวมถึงเบื้องสูง ทำให้สมาชิกหลายคนมีความหวั่นใจและเกรงว่าจะสร้างปัญหาให้กับการเมืองในอนาคต สมาชิกท่านนี้ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ก็ยังมีความสัมพันธ์กับพรรคการเมืองหลายพรรค หลังการเลือกตั้งเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลแล้วก็มีนักการเมืองมาชวนไปช่วยงานในบางเรื่องอยู่บ้าง จึงทำให้ทราบถึงความเคลื่อนไหวต่างๆ ทั้งในรัฐบาลและในรัฐสภา เรื่องหนึ่งที่ได้เห็นก็คือมีนักการเมืองจำนวนมากรวมกลุ่มกันต่อรองผลประโยชน์ต่างๆ ภายในรัฐบาล บางคนไปเข้าสังกัดอยู่หลายกลุ่ม พอเรียกร้องจากกลุ่มนี้ไม่ได้ก็ไปอยู่กลุ่มอื่น ทีนี้ก็เป็นเรื่องเพราะมีบางคนเข้าไปหานายทหารใหญ่บางคน ทำให้ทหารเป็นช่องทางที่จะเข้ามามีอำนาจในทางการเมืองอีกครั้ง (หลังจากที่ต้อง “ฟุบ” และหลบไปหลังเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516) ทหารได้ขอให้นักการเมืองกลุ่มที่เข้ามาหา (บางทีทหารเองนั่นแหละที่เข้าหานักการเมือง) พยายามผนึกกำลังกันไว้ โดยอ้างว่าการเมืองในตอนนั้นไม่ค่อยมีความมั่นคง ด้วยเหตุที่บ้านเมืองมีความปั่นป่วยวุ่นวาย มีการเรียกร้องเสรีภาพ การเดินขบวน และการหยุดงาน ของกลุ่มประชาชนต่างๆ ไม่หยุดหย่อน ร่วมกับที่มีข่าวว่าความวุ่นวายทั้งหลายนั้นมีพวก “คอมมิวนิสต์” เข้ามายุยงส่งเสริม และคนพวกนี้จำนวนหนึ่งก็อยู่ในสภา (ตอนนั้นพรรคแนวสังคมนิยมต่างๆ ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นจำนวนมากพอควร และพรรคการเมืองแนวนี้ได้มีหลายคนเชื่อว่ามีอุดมการณ์แบบคอมมิวนิสต์) สภาอาจจะมีอายุไม่ยืน รัฐบาลก็มีคะแนนเสียงง่อนแง่น ที่อยู่ร่วมกันเป็นรัฐบาลก็ทะเลาะกันวุ่นวาย ถ้าแก้ปัญหาไม่ได้นายกรัฐมนตรีอาจจะต้องยุบสภาพอมาถึงขั้นนี้ก็มีเสียงเล่าลือว่า ทหารได้ยุให้กลุ่มการเมืองเหล่านั้นเปลี่ยนขั้วเสีย เพื่อเปลี่ยนรัฐบาลจะได้ไม่ต้องเลือกตั้งใหม่ (ข้อมูลเรื่องนี้ตรงกันกับที่ท่านอาจารย์เกษม ศิริสัมพันธ์ อดีตเลขาธิการพรรคกิจสังคมและรัฐมนตรีหลายกระทรวงได้เขียนไว้ในหนังสือรวมบทความชื่อ “เหลียวหลังแลหน้า” ที่ทางญาติๆ ได้พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในการพระราชทานเพลิงศพเมื่อ พ.ศ. 2550) ความวุ่นวายนั้นยังไม่จบ เพราะมันเป็น “ยุทธการ” ที่มีการวางแผนไว้