ศ.ดร.ไชยา ยิ้มวิไล ปัญหาของระบบสังคมแทบทุกสังคมโดยเฉพาะ “สังคมที่ด้อยพัฒนา” และ “สังคมกำลังพัฒนา” จะเกิดจาก “ปัญหาความยากจน” จนก่อให้เกิด “ปัญหาความเหลื่อมล้ำ” และแน่นอนนำพาไปสู่ “ปัญหาระบบการศึกษา” แม้กระทั่งประเทศไทยที่ระบบการศึกษาไทยก็ยังคง “จมปลัก” อยู่กับ หนึ่ง โครงสร้างและระบบการศึกษาที่หมายถึง “วัฒนธรรม” ของประเพณีไทย สอง โครงสร้างและระบบหลักสูตรของการศึกษาไทยที่คร่ำครึ สาม ระบบการเรียนการสอนของไทย สี่ สมรรถนะและศักยภาพของความรู้ของครูไทย ห้า ความทันสมัยของความรู้ไทยของครูไทย หก ข้อมูลข่าวสารที่ครูไทยได้ติดตามมากน้อยเพียงใด และ/หรือ ทันสมัยหรือไม่ เจ็ด ความรู้ของครูได้มีการประเมินหรือไม่ แปด ปัญหาด้านการเงินและหนี้สินของครูได้มีการตรวจสอบหรือไม่ จนครูอาจไม่มีสมาธิในการทำหน้าที่ของการเป็นครู เก้า การทำหน้าที่ครูเปรียบเสมือนเป็นหน้าที่พ่อแม่ที่สองของเด็กนักเรียน ที่ครูจำต้องมีความรู้สึกที่ต้องทุ่มเทอย่างน้อยร้อยละ 70 ของความเป็นครูที่เอาใจใส่เด็กนักเรียน และสิบ อาชีพครูต้องเป็นคนที่มีทั้งคุณธรรม จริยธรรม และศีลธรรมที่มากเพียงพอ ในการที่ต้องยึดมั่นอย่างมากกับการนำมาควบคุมอารมณ์ จิตใจ มิเช่นนั้นก็ไม่ควรเป็นครู “ระบบการศึกษา” จึงมีบทบาทสำคัญที่จำต้องทำหน้าที่ “อบรมบ่มสั่งสอน” เด็กเยาวชนตั้งแต่เยาว์วัย เพื่อให้เด็กได้ซึมซับ “คุณงามความดี” และสามารถแยกแยะ “ผิด ชอบ ชั่ว ดี” ได้ว่าอยู่ตรงไหนอย่างใด จริงๆ แล้วถ้าสังคมใด เด็กและเยาวชนสามารถแยกแยะได้ว่า “คุณงามความดี” อยู่ที่ไหน และ “ผิดชอบชั่วดี” อยู่ที่ใด สังคมนั้นจะเป็น “สังคมที่มีคุณภาพ” ขึ้นมาทันที! อย่างไรก็ตาม คงมิใช่ “สถาบันครอบครัว” และ “สถาบันการศึกษา” เท่านั้น ที่ต้องทุ่มเทและมีส่วนช่วยเท่านั้น “สังคมขนาดใหญ่” ต้องเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ต้องช่วย “หล่อหลอมร่วมกัน” โดยเฉพาะ “สื่อมวลชน” ที่ต้องร่วมมือกัน “สร้างสรรค์” และ “เฝ้าระวัง” มิให้ “สังคมออกนอกลู่นอกทาง” โดยมิใช่ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายทำหน้าที่เท่านั้น! เรามาลองดูระบบการศึกษาและสังคมในประเทศอังกฤษกันบ้าง ระบบการศึกษาในประเทศอังกฤษและเครือจักรภพแบ่ง เป็น 4 ระดับ คือ “ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา ระดับ อาชีวศึกษา และระดับปริญญา” การศึกษาภาคบังคับเริ่มตั้ง แต่อายุ 5 ปีถึง 16 ปี เด็กนักเรียนส่วนใหญ่ประมาณ 95% จะเข้าศึกษาใน “โรงเรียนของรัฐบาล” ส่วนผู้ปกครองที่มีฐานะดีและมีรสนิยมสูงมักจะเลือกส่งบุตรหลานเข้าเรียนใน “โรงเรียนเอกชน” โดยนักเรียนจากประเทศไทยมีสิทธิเรียนในโรงเรียนของเอกชน เท่านั้น  “ระดับประถมศึกษา (Preparatory School)” รับนักเรียนอายุ 5-13 ปี การสอนจะเน้นให้เด็กมีทักษะในการเขียนและทักษะทางตัวเลข เพื่อพัฒนาเด็กให้มีความรู้ความสามารถ ตามความเจริญเติบโตตามวัยของเด็ก  ระดับเตรียมประถม (Pre-Preparatory School) รับเด็กอายุ 5-7 ปี ระดับประถม (Preparatory School) รับเด็กอายุ 8-13 ปี การเรียนระดับนี้จะมุ่งเน้นเตรียมนักเรียนเข้าสอบ “Common Entrance Examination (CEE)” เพื่อก้าวเข้าศึกษาต่อในระดับมัธยม “ระดับมัธยมศึกษา (Public School)” หมายถึง โรงเรียนมัธยมของเอกชน รับนักเรียนอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไปที่สอบผ่าน CEE แล้วเข้าศึกษาต่อ โรงเรียนมัธยมเอกชนส่วนมาก เป็นมูลนิธิหรือเป็นสถานประกอบการที่มิได้หวังผลกำไร โดยรายได้ของโรงเรียนมาจากค่าธรรมเนียมการเรียนและเงินบริจาค จึงมีความเป็นอิสระในการ ตัดสินว่าสิ่งใดจะเป็นประโยชน์ทางการสูงสุดแก่นักเรียน โรงเรียนประเภทนี้มีให้เลือกทั้งแบบหญิงล้วน ชายล้วน หรือสหศึกษา ทั้งแบบประจำและไปกลับ มีบางแห่งที่เปิดสอนเฉพาะนักเรียน ที่มีพรสวรรค์พิเศษเช่น ทางกีฬาและดนตรีด้วย แต่ข้อดีของ การศึกษาในโรงเรียนเอกชนคือ การจัดชั้นเรียนจะเล็กกว่าโรงเรียนรัฐบาลจึงทำให้ครูผู้ ดูแล เอาใจใส่นักเรียนได้อย่างใกล้ชิด โรงเรียนจะพัฒนานักเรียนแต่ละคนให้สามารถแสดงถึง การมีศักยภาพสูงสุดที่มีอยู่ให้ปรากฏเด่นชัด เน้นหนักทางด้านงานวิชาการและความมั่นใจในการเข้า วางตัวในสังคม โรงเรียนพร้อมที่จะเป็นผู้นำในการพัฒนาสิ่งแปลกใหม่ใน วงการการศึกษา และมีอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ทันสมัย โดยครูผู้สอนได้รับการคัดเลือกเป็นอย่างดี สนับสนุนกิจกรรมทางด้านกีฬาหลายประเภท เช่น รักบี้ ฟุตบอล ฮอคกี้ ว่ายน้ำ พายเรือ ขี่ม้า เรือใบ กอล์ฟ และอื่นๆ เป็นต้น เน้นพัฒนาความสามารถในการรู้จักพึ่งตนเอง การใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น การประสานงาน และการทำงานโดยพร้อมเพรียงกัน ฝึกให้นักเรียนเป็นผู้รู้จักหน้าที่ มีความรับผิดชอบ มีวินัย ซื่อสัตย์ และมีระเบียบเคร่งครัดเป็นสำคัญ              ระบบโรงเรียนประจำในอังกฤษ นักเรียนที่มีอายุน้อยจะต้องอยู่ในกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดและจะถูกฝึกฝนให้มี “ความรับผิดชอบ” ในการทำประโยชน์ให้กับหอพัก ส่วนนักเรียนที่มีอายุมากกว่าจะได้รับการฝึกฝนให้เป็น “ผู้นำ” ด้วยการได้รับสิทธิพิเศษและมีความเป็นอิสระมากขึ้น ในระดับมัธยมศึกษา ทางกระทรวงศึกษาธิการและวิทยาศาสตร์ของอังกฤษกำหนดให้มีการสอบวัดผลความรู้และความ สามารถของเด็ก การสอบจะจัดโดยคณะกรรมาธิการอิสระ ซึ่งมี 5 คณะ ผลการสอบดังกล่าวจะนำไปใช้ในการสมัครเข้าในระดับ อุดมศึกษาต่อไป การสอบนี้มี 2 ประเภท คือ “GCSE (General Certificate of Secondary Education)” การสอบระดับนี้จะสอบเมื่อเด็กมีอายุประมาณ 16 ปีขึ้นไป นักเรียนเลือกสอบประมาณ 8-12 วิชา เช่น วิทยาศาสตร์ ภาษา อังกฤษ คณิตศาสตร์ สังคมศึกษา ภาษาต่างประเทศ ศิลปะ ฯลฯ และผลการสอบจะแบ่งเป็น 7 ระดับ คือ Grade A, B, C, D, E, F, G ผู้ที่สอบได้ Grade C ขึ้นไปจึงจะถือว่าสอบผ่าน นักเรียนที่สอบ GCSE จนได้รับวุฒิบัตรสามารถเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรสายสามัญ "A" Level ได้หรือหลักสูตรสายวิชาชีพ Advanced GNVQ อีก 2 ปี และ “GCE A Level (GCE Advanced)” เป็นการสอบวัดผลความสามารถทางวิชาการของเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป วิชาที่สอบมีให้เลือก 50 กว่าวิชา ส่วนใหญ่จะสอบ 2-3 วิชาที่มีความสัมพันธ์กันคือ ทางด้าน Science หรือทางด้าน Humanity ผลการสอบมี 5 ระดับคือ A, B, C, D, E แต่ Grade ที่ได้ทั้ง 5 ถือว่าสอบผ่านทั้งหมด มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่พิจารณารับผู้มีผลการสอบในระดับ C ขึ้นไปบางแห่งอาจรับเฉพาะผู้ที่ได้คะแนนระดับ A และ B ผลสอบ GCE "A" Level  นี้จะเป็นเกณฑ์ที่สถานศึกษาใช้ในการพิจารณารับนักเรียนเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี โดยกำหนดดังนี้ แบบ 5 วิชานักเรียนจะต้องมีคะแนนสอบ GCSE 3 วิชา และ GCE "A" Level 2 วิชา แบบ 4 วิชานักเรียนจะต้องมีคะแนนสอบ GCSE 1 วิชา และ GCE "A" Level 3 วิชา การสอบ GCSE, GCE "A" Level จะสอบประมาณเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม…ต้องมาว่ากันต่อคราวหน้าครับ!