แสงไทย เค้าภูไทย แม้จะยังไม่ออกจากห้องไอซียูด้วยพิษของโควิด-19 แต่ก็พอมองเห็นภาพเศรษฐกิจไทยได้รางๆว่า น่าจะฟื้นคืนสภาพเท่าปี 62 ได้ภายในระยะเวลา 2-2 1/2 ปีในรูปตัว U การฟื้นตัวแบบอักษรตัว U คือการที่เศรษฐกิจทรุดหรือหดตัวจนตกลงไปถึงก้นตัวอักษรยู จากนั้นอยู่ในสภาพราบตามก้นตัวยูไปจนถึงมุมหักหัวขึ้น เศรษฐกิจไทยจะเป็นไปในลักษณะนี้ ใช้เวลา 2 ปีถึง 2 ปีครึ่ง จึงจะฟื้นขึ้นมาถึงระดับปี 2562 ทั้งนี้เป็นการวิเคราะห์ของสำนักวิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา ส่วน EIC ของธนาคารไทยพาณิชย์ บอกว่าใช้เวลา 2 ปี ขณะที่สำนักวิจัยธนาคารพาณิชย์อื่นๆ รวมถึงสถาบันวิจัยเศรษฐกิจทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนต่างเห็นพ้องกัน จากนี้ไป 2 ปี คนไทยจะอยู่กันอย่างไร ? ส่วนที่ว่า เศรษฐกิจตกลงไปถึงก้นตัว U นั้น ถามว่า ตอนนี้เราลงไปถึงจุดนั้นหรือยัง จะถือว่าช่วง มาตรการล็อกดาวน์ เศรษฐกิจไทยทรุดหรือหดตัวลงจนถึงจุดต่ำสุดได้หรือไม่ ดูตามดัชนีชี้วัดต่างๆแล้ว ไม่น่าจะใช่ การล็อกดาวน์ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก จนเกิดอาการชะงักงันหรือช็อกไปชั่วขณะเท่านั้น ยังมีอาการ afterchock เกิดขึ้นอีกหลายระลอก ที่จะนำพาเศรษฐกิจไทยดิ่งลงไปสู่ก้นตัวยู เช่นการระบาดรอบสองหรือ second wave ที่อาจจะเกิดขึ้นในไทยหลังเปิดเมืองเสรีเป็นปกติดังเดิม ที่คาดว่าจะทำให้อัตราเติบโตจีดีพีไทยติดลบเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก -5.3% ซึ่งต่ำสุดในรอบ 10 ปี เป็น -8 % ถึง-10% ดูผลงานของฝ่ายการแพทย์ของเราที่จัดการกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ผลดีเยี่ยมแล้ว second wave ไม่น่าจะเกิด หรือเกิดขึ้นก็ควบคุมได้ อย่างไรก็ตามการระบาดแบบไข้กลับเป็น second wave ในจีน ฝรั่งเศส สเปน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่นและหลายๆประเทศรวมถึงการระบาดที่ยังอยู่ในเฟส first wave ในสหรัฐฯยังไม่หยุดยั้ง ซ้ำกลับรุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลกระทบไม่น้อยเลย เพราะสหรัฐฯกับจีนและยุโรปเป็นตลาดใหญ่ของไทย จีดีพีไทยพึ่งพาการส่งออกถึง 68.2% และ การท่องเที่ยวจากต่างประเทศ 12% ผลกระทบที่มาจากภายนอกจึงรุนแรงกว่าภายในมาก อีกทั้งด้านจิตวิทยา ผู้ประกอบการและนักลงทุนพากันชะลอการลงทุนหรือชะลอการขยายกิจการด้วยความรู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในสภาพเปราะบาง แต่ที่น่าห่วงที่สุดก็คือ อัตราขยายตัวของหนี้เสีย โดยเฉพาะหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL ในช่วง 2-3 เดือนที่เกิดภาวะชะงักงัน ธุรกิจ อุตสาหกรรม และกิจการต่างตกอยู่ใน 3 สภาพ คือพวกที่หนึ่ง อยู่ได้แม้จะขาดทุนอย่างหนัก เหตุเป็นกิจการที่มีทุนสำรองหนา ที่เป็นตัวอย่างคือกลุ่มธุรกิจ อุตสาหกรรมและบริการของกลุม top 5 ของประเทศ นำโดยเครือเซ็นทรัล เจริญโภคภัณฑ์ ไทยเบฟฯ เป็นต้น พวกที่ 2 คือพวกที่อยู่ไม่ได้ ต้องปิดกิจการ ล้มละลาย พวกนี้เป็นกลุ่มเอสเอ็มอีและ กิจการที่ต้องพึ่งตลาดภายนอก เช่นกิจการเกี่ยวข้องกับการส่งออก การท่องเที่ยวและบริการ และกลุ่มที่ 3 คือพวกที่อยู่ได้แบบกระเสือกกระสน เมื่อเปิดกิจการอีกครั้ง ก็ต้องนอนหยอดน้ำเกลือ กว่าจะฟื้นได้ก็อีกหลายเดือน สองกลุ่มหลังนี้ ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย ที่มีตั้ง แต่ระดับร้านค้าตึกแถวไปจน ตลาดนัด ร้านชำ ร้านอาหาร ร้านบริการต่างๆ ไปจนถึงหาบเร่แผงลอย พวกที่ 2 และ 3 คือพวกที่ต้องพึ่งพาเงินกู้ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยมีมาตรการซอฟต์โลน ให้ธนาคารพาณิชย์ช่วยกันพยุง ถ้าเศรษฐกิจฟื้นตัวเร็ว พวกที่อาศัยเงินกู้เป็นน้ำเกลือหล่อเลี้ยงชีวิตก็จะอยู่รอดและอาการดีขึ้น ฟื้นสภาพเป็นปกติเหมือนก่อนไวรัสระบาดได้ แต่ถ้ายืดเยื้ออยู่ก้นตัว U นานๆจนรู้สึกว่า เส้นราบก้นตัวยูทำไมมันถึงลากยาวออกไปไม่จบสิ้นก็น่าห่วง อย่างที่บอกว่า 2 ปีถึง 2 ปีครึ่งนั้น อาการแทรกซ้อนถามหาแน่นอน โดยเฉพาะ NPL ต่อให้ลดดอกเบี้ยจนเหลือต่ำกว่า 1% ก็ช่วยไม่ได้ แล้วเราจะอยู่กันได้อย่างไรเมื่อกว่าจะกลับไปสู่สภาพเศรษฐกิจปี 62 ต้องใช้เวลาเกิน 2 ปี และถ้ากลับไปอยู่ในสภาพเมื่อปี 62 จะอยู่กันแบบไหน ? เพราะปี 62 ก็ใช่ว่าจะดีนัก สิ้นไตรมาสสุดท้ายของปี ช่วงที่ยังไม่เกิดสถานการณ์โควิด-19 สภาพัฒน์ฯสรุปฐานะเศรษฐกิจไทยว่า จีดีพีไทยหดตัวอยู่ที่ 1.5% ต่ำสุดในรอบ 5 ปี ดร.โกร่ง วีรพงษ์ รามางกูร อดีตรมว.คลังหลายรัฐบาล เปรียบเปรยเศรษฐกิจไทยไว้ว่า “ ปีกลายเผาหลอก ต้นปี 2563 เผาจริง ปลายปีเก็บกระดูก ลอยอังคาร” ตอนนี้กำลังเผาจริง อีกไม่กี่วันเข้าสู่ครึ่งหลังของปี เก็บกระดูก จากนั้นเอาไปลอยอังคารปลายปี เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวกลับไปอยู่ในสภาพ Common Normal 2562 ได้แค่นั้นหรือ ?