ทวี สุรฤทธิกุล บางทีการเมืองในระบบก็จัดการนักการเมืองนอกระบบไม่ได้ ใน พ.ศ. 2538 กระแสปฏิรูปการเมืองก่อตัวขึ้นอย่างรุนแรง ในมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้มีการกิจกรรมให้ความรู้เพื่อการปฏิรูปการเมืองแก่ประชาชนอย่างขวางมาโดยลำดับ เพื่อร่วมกระตุ้นให้เกิดกระแสการเคลื่อนไหวไปสู่เป้าหมายดังกล่าว นอกเหนือจากการจัดปาฐกถาและการอภิปรายต่างๆ แล้ว ยังได้ออกจุลสารและวารสารต่างๆ เพื่อร่วมไปในกระแสนั้นด้วย โดยมีจุลสารฉบับหนึ่งใช้ชื่อว่า “ปฏิรูปการเมืองไทย” ด้วยการสนับสนุนเงินทุนจากมูลนิธิคอนราด อเดนเนาว์ (อดีตรัฐบุรุษของเยอรมันที่ประชาชนตั้งมูลนิธิให้) ออกเป็นรายเดือน ทำอยู่ได้สัก 2 ปีก็ไม่ได้ขอเงินทุนทำต่อ รวมถึงกำลังของอาจารย์ที่มาช่วยกันทำก็ลดลงไปด้วย แต่ก็ได้ประโยชน์มากในแง่ของการ “เปิดเผย” ผลงานทั้งในด้าน “มืด” และ “สว่าง” ของนักการเมือง เพราะจุลสารนี้ได้นำเสนอผลงานของนักการเมืองไทยจำนวนหนึ่งให้สาธารณชนได้รับทราบ ทั้งในผลงานของ ส.ส.น้ำดี และของ ส.ส.น้ำเน่า เพื่อให้เกิดการเปรียบเทียบและนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองดังกล่าว (ความจริงหนังสือพิมพ์สยามรัฐก็ใช้แนวทางการนำเสนอข่าวสารแบบนี้มาตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว อย่างที่มีคำขวัญของหนังสือพิมพ์ว่า “ชมคนที่ควรชม ข่มคนที่ควรข่ม” นี้) อย่างไรก็ตาม การสร้างกระแสของจุลสารเล็กๆ นี้ก็คงจะมีไม่มากนัก อาจจะเป็นเพราะจุลสารนั้นเผยแพร่อยู่ในวงแคบ เพราะจัดพิมพ์ครั้งละ 500 ฉบับ ส่วนใหญ่แจกจ่ายไปตามห้องสมุดของสถานศึกษา คือมหาวิทยาลัยต่างๆ และโรงเรียนมัธยมทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นกลุ่มเป้าหมายของคณะผู้จัดทำ เรื่องใหญ่ๆ ที่พอจำได้ ก็เช่น เรื่องงบยุงลาย ที่ส.ส.คนหนึ่งเสนอซื้อน้ำยาฆ่ายุงลายที่แสนแพงแต่ใช้ได้ไม่คุ้มค่า เรื่องผักสวนครัวรั้วกินได้ ที่รัฐมนตรีมีการโกงกินงบประมาณในการซื้อเมล็ดพันธุ์ผัก และเรื่องการซื้อยาของกระทรวงสาธารณสุขอันโด่งดัง เรื่องเหล่านี้บางเรื่องก็ยังเป็นที่จดจำมาถึงปัจจุบัน อย่างกรณีการซื้อยาของกระทรวงสาธารณสุขที่รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบต้องเข้าคุก แต่บางเรื่องอย่างงบยุงลายและผักสวนครัวรั้วกินได้ดูจะจางหายไป ทั้งที่รัฐมนตรีที่เคยเป็นผู้จัดทำนโยบายนี้ยังลอยหน้าลอยตาอยู่ในรัฐบาล(แม้ไม่ได้เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดปัจจุบัน แต่ก็มีบทบาทสำคัญอยู่ในพรรคร่วมรัฐบาล) ก็คงเป็นไปอย่างสำนวนที่ว่า “คนไทยลืมง่าย” แต่ในอีกด้านหนึ่งคนไทยก็ “บ้าจี้ง่าย” คือถ้ามีกระแสอะไรมาจุดประกาย ก็คงจะสร้างความฮือฮาบางอย่างขึ้นในสังคมได้อีกเช่นกัน ในสมัยนี้ โซเชียลมีเดียมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย และน่าจะเป็นสื่อที่ “ทรงอิทธิพล” มากที่สุดในโลกสมัยใหม่ รวมถึงอิทธิพลที่มีต่อการเมือง เพราะสามารถสร้างกระแสต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพียงแต่ในบางสังคมได้มีกฎหมาย “พันธนาการ” ไว้ รวมถึงการที่สังคมมีการเลือกฝั่งเลือกข้าง ที่สนใจแต่การสื่อสารในกลุ่มของตน ก็อาจจะทำให้กระแสที่ถูกสร้างนั้นโหมกระพืออยู่ในแวดวงของผู้คนเฉพาะกลุ่มนั้นเท่านั้น แต่กระนั้นถ้าสามารถสร้างกระแสเฉพาะกลุ่มให้กลายเป็น “กระแสสาธารณะ” คือแพร่กระจายไปยังกลุ่มอื่นๆ ได้ ก็อาจจะสร้างกระแสให้ลามไหม้ หรือส่งผลที่รุนแรงออกมาภายในสังคมนั้นได้ นักการเมืองไทยจำนวนหนึ่งยังเป็นนักการเมือง “น้ำเน่า” คือมีประวัติที่ไม่ดีนัก แต่ก็น่าเสียดายที่สังคมไทยยังตระหนักรู้หรือแสดงปฏิกริยาต่อต้านไม่เพียงพอ ส่วนหนึ่งก็เป็นด้วยผู้นำประเทศไม่ได้ให้ความสำคัญกับการต่อสู้ในเรื่องนี้เท่าที่ควร(หรืออาจจะไม่ “แยแส” สนใจในเรื่องนี้เลย) ทั้งที่ได้ประกาศตอนที่ทำรัฐประหารมาทุกครั้งว่าจะจัดการกับนักการเมืองเลวๆ เหล่านั้น เพื่อให้เกิดการปฏิรูปการเมือง แม้แต่ คณะ คสช.นี้ก็ “กลืนน้ำลาย” ตัวเองไปจนหมดสิ้น ดังจะเห็นได้จากการสนับสนุนให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองด้วยการรวบรวมนักการเมืองจำพวกน้ำเน่านั้นให้เข้ามาอยู่ด้วยกัน ทั้งยังหล่อเลี้ยงไว้ด้วยการแบ่งปันผลประโยชน์ต่างๆ แม้จะมีทีท่าเสี่ยงต่อการคอร์รัปชั่นโกงกินเป็นอย่างมาก ซึ่งเราควรเรียกนักการเมืองจำพวกนี้ว่า “พวกสันหลังหวะ” แต่ผู้นำประเทศก็ยังเลี้ยงดูไว้ รวมถึงแกนนำบางคนของกลุ่มผู้นำรัฐบาลก็มีสภาพสันหลังหวะนั้นอยู่ด้วย แต่ก็ต้องเอาไว้ประดับบารมีให้กับรัฐบาล ซึ่งไม่ได้ช่วยปฏิรูปการเมืองตาม “ขี้ปาก” ที่เคยสัญญาไว้แต่อย่างใด ซ้ำร้ายกับทำให้เห็นว่า ด้วยอำนาจที่มีอยู่อย่างเด็ดขาดนี้ “ข้าจะทำอะไรก็ได้” การเมืองสมัยใหม่เป็นการเมืองที่เกิดจากการสร้างภาพลักษณ์ให้ดูดีน่าเชื่อถือ ที่สำคัญคือต้องทำให้ประชาชนศรัทธาเชื่อมั่น ดังนั้นถ้านักการเมืองจำนวนหนึ่งยังมีสภาพที่ “อัปลักษณ์” อยู่เช่นนี้ ก็ยากที่จะพัฒนาการเมืองไทยให้ไปสู่การเมืองในยุคใหม่นั้นได้ (ตัวอย่างหนึ่งของการเมืองที่ไม่แยแสหรือแคร์สังคมก็คือ การบริหารประเทศของนายโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ที่มีนักวิเคราะห์การเมืองบอกว่าที่แกทำอย่างนั้นก็ด้วย แกเชื่อว่าคนที่เลือกแกเข้ามาชอบ คือคนอเมริกันส่วนใหญ่เป็นแบบนี้ ชอบคนที่ใจกล้าบ้าบิ่น คนที่สร้างความยิ่งใหญ่ให้กับสหรัฐ อย่างที่ทรัมป์ประกาศคำขวัญว่า “American First” แต่ก็ต้องมาลุ้นว่าในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหม่ในปลายปีนี้ ทรัมป์จะได้กลับคืนสู่ตำแหน่งหรือไม่) ซึ่งน่าเศร้าใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้าคนไทยยังเลือกตั้งนักการเมืองจำพวกนี้กลับเข้ามาอีกเรื่อยๆ ก็แสดงว่าคนไทยชอบของ “เน่าๆ” เหล่านี้ คือชอบอยู่กินอะไรที่น่ารังเกียจ ดังสำนวนที่ว่า “คนไทยเป็นอย่างไร นักการเมืองไทยก็เป็นอย่างนั้น” คนรุ่นใหม่แคร์ในเรื่อง “หน้าตา” ของประเทศไทยเป็นอย่างมาก เพราะสิ่งนี้คืออนาคตของพวกเขา และส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการเมืองก็คือการ “กำจัด” ความอัปลักษณ์ต่างๆ ในทางการเมือง โดยเฉพาะการจัดการกับนักการเมือง “ตกยุค” ที่ควรจะหมดสิ้นไปจากเมืองไทยได้แล้ว นักการเมืองสันหลังหวะกำลังจะถูกชำแหละ เพื่อให้บ้านเมืองสะอาด