เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com รัฐบาลใช้แนวคิดโอทอป กระทรวงการอุดมศึกษาฯมีแผนให้ทำ “1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย” ใช้งบฟื้นฟูโควิด 400,000 ล้านเพื่อสร้างงาน สร้างชุมขนเข้มแข็ง ให้นักศึกษามีงานทำ มีรายได้ ไปทำบิ๊กดาต้า ให้ชุมชนได้ทำโครงการอะไรก็ไม่ชัดเจน เลยไม่ทราบว่า กรอบคิดจริงๆ ของรัฐบาลคืออะไร เพราะท้ายที่สุด แต่ละกระทรวงก็ส่งโครงการเข้ามากรุงเทพฯ รวมแล้วกว่าล้านล้านบาท มากกว่างบประมาณที่ตั้งไว้หลายเท่า ของกระทรวงไหนอยู่ตรงไหนได้เท่าไรก็ไม่รู้ เพราะเขียนโครงการนั้นง่าย ไปลอกของเก่าที่มีอยู่แล้ว เคยทำแล้วงบหมด อยากทำใหม่ แต่ดูเหมือนไม่มีใครคิดสร้างระบบ เพราะทำโครงการมีงบประมาณก็ทำได้ แต่ทำระบบต้องใช้ “ปัญญา” “ความกล้าหาญ” และ “ความเพียรทน” บนฐานคิดเศรษฐกิจพอเพียงจึงจะมั่นคงยั่งยืนเหมาะกับสังคมไทย สร้างระบบต้องมีกรอบคิดตั้งแต่ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลลงไป และบูรณาการแผนการทำงานของกระทรวงต่างๆ ซึ่งรัฐบาลนี้หรือรัฐบาลไหนก็ไม่มีใครทำ อาจจะไม่ได้ขาดวิสัยทัศน์ อย่างแกนนำเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้ แต่วิสัยทัศน์ที่ขาดแนวคิดเชิงระบบก็เป็นได้แต่โครงการเดี่ยวๆ เงินหมดก็ขอใหม่ “เมื่อความฝันสิ้นสุดลง คนก็เริ่มค้นหาความจริงกันใหม่” “เพื่อก้าวพ้นนิยายของการพัฒนา เราจะต้องมีระบบเศรษฐกิจที่พึ่งตนเอง” (อมาตยา เซน) คุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประกาศโครงการ เศรษฐกิจพอเพียงสร้างไทย โดยให้ ธ.ก.ส. เป็นแกน ใช้งบสามแสนล้านพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก อ่านจนจบก็ยังนึกไม่ออกว่า จะแตกต่างไปจากที่ทำมา 30 ปีอย่างไร และชาวบ้านก็คงเป็นหนี้ ธ.ก.ส. มากขึ้น แล้วรัฐบาลก็พักหนี้ จ่ายชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. เวียนไปเวียนมา ยังไม่เห็นแนวคิดเรื่อง “ระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นที่พึ่งตนเอง” จึงไม่มีแผนงานที่เป็นระบบ การพัฒนาระบบอย่างเป็นขั้นตอน องค์ประกอบต่างๆ บทบาทของชุมชน การเรียนรู้และการพัฒนาอย่างมีแบบมีแผน มียุทธศาสตร์ จึงเห็นมีแต่ “โครงการ” ที่คงไม่แตกต่างไปจากเดิม ในเมื่อคุณสมคิดดูแลเรื่องนี้ ทำไมไม่ให้ ธ.ก.ส. กับกระทรวง อว. ที่คุณสุวิทย์ ดูแลอยู่ ให้ร่วมมือกันทำไม่ใช่ “1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย” แต่ “1 อำเภอ 1 ระบบ” ระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นที่พึ่งตนเองที่ อมาตยา เซนพูดถึง และตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง (สร้างไทย) ที่ตั้งชื่อชื่อเพราะๆ นั่น การพัฒนาระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นที่พึ่งตนเองเริ่มจากการทำข้อมูลชุมชน ไม่ใช่ให้นักศึกษาไปทำเองมาส่งอาจารย์ แต่ไปร่วมกับชุมชนทำ “ประชาพิจัย” (People Research and Development : PR&D) ซึ่งมีระเบียบแบบแผนที่มูลนิธิหมู่บ้านได้พัฒนามา 20 ปีแล้ว โดยงบประมาณจาก UNDP ที่เอาผลการวิจัยและพัฒนาไปเผยแพร่ทั่วโลก และมหาวิทยาบัยฮาร์วาร์ดยังขอยืมไปใช้ในแอฟริกาและคาริบเบียน เมืองไทยก็ได้นำไปเผยแพร่เริ่มจาก SIP กองทุนจากธนาคารโลก จากนั้น สภาพัฒน์ ก็ประสานให้กระทรวงต่างๆ นำไปใช้ กระทรวงมหาดไทยก็ให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเป็นแกน อบรมข้าราชการไปทั่วประเทศ แต่เมื่อมีการนำไปใช้ แทนที่จะได้ “แผนแม่บทชุมชนเพื่อการพึ่งตนเอง” ก็ถูกตัดตอน ปรับเปลี่ยนไปเป็นเครื่องมือเพื่อทำโครงการของบประมาณจากรัฐเหมือนเดิม ทั้งๆ ที่หลักคิดเดิมนั้น คือ ทำให้ชุมชนค้นพบศักยภาพที่แท้จริงของตนเอง และวางแผนพัฒนาจากศักยภาพนั้นก็จะ “ช่วยให้ชุมชนพ้นจากวิธีคิดแบบพึ่งพา ไม่รอแต่ความช่วยเหลือจากรัฐหรือภายนอก” ประโยคที่คุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์เคยฟังผมพูดเรื่อง “ประชาพิจัย” และ “วิสาหกิจชุมชน” ที่ห้องประชุม ธ.ก.ส.นางเลิ้งเมื่อปี 2546 ผมจำได้ดีเพราะเขาบอกว่าชอบประโยคนี้ การทำประชาพิจัย คือการวิจัยของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน เป็นการพัฒนาจิตสำนึกไปพรัอมกับการสร้างฐานคิดฐานข้อมูลเพื่อทำแผนและพัฒนาระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นที่พึ่งตนเอง เจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส. ก็รู้จักประชาพิจัยนี้ดี เคยทำเคยใช้ แต่คงไม่เข้าใจเรื่องการสร้างระบบ จึงใช้มาจะ 20 ปีก็ไม่มีระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นที่พึ่งตนเอง มีแต่พึ่ง ธ.ก.ส.มากขึ้น พึ่งรัฐบาลมากขึ้น พึ่งนายทุนมากขึ้น โควิดยังไม่จบง่ายๆ อาจกลับมารอบใหม่ อาจกลายพันธุ์และมาอีกในอีกสายพันธุ์หนึ่ง วันนี้สี่แสนล้านอาจพอเยียวยาได้บ้าง ชั่วครั้งชั่วคราว แต่ถ้าหากโควิดยืดยาวกว่านี้ จะเอางบจากไหน ถ้าไม่สร้างระบบ ที่จะอยู่ยืนยาวยั่งยืน เพราะดูแต่ละโครงการที่กระทรวงต่างๆ ส่งเข้ามาขอเงิน ไม่รู้ว่าต่อไปจะกู้ที่ไหนมาแจกอีก ขณะที่ชุมชนมีศักยภาพที่จะพึ่งพาตนเองได้ ถ้าไม่ถูกครอบงำทางความคิดและเปลี่ยนวิธีคิด ซึ่งต้องเปลี่ยนเริ่มจากรัฐบาล ชาวบ้านจึงจะเป็นอิสระ พัฒนาระบบเศรษฐกิจของตนเองได้ ถ้าทำ “1 อำเภอ 1 ระบบ” เอาพื้นที่หนึ่งหรือหลายตำบลรวมกันเป็นตัวตั้ง ก็จะได้นับพันระบบ ที่จะขยายผลเป็นเครือข่าย เป็นคลัสเตอร์ บูรณาการการทำแผน ทำข้อมูล การผลิต การตลาด การบริโภคในท้องถิ่น การขยายไปสู่ตลาดใหญ่ภายนอก ข้อมูลบิ๊กดาต้าก็จะมีคุณค่าเพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากจริง ทำเกณฑ์ “พอเพียง” เบื้องต้นตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงสอนว่า “อุ้มชูตนเอง ไม่ต้องทั้งหมด ครึ่งหนึ่งก็ไม่ต้อง เอาแค่เศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอ” คือร้อยละ 25 ให้เศรษฐกิจหมุนไปมาสามสี่รอบจนได้ ร้อยละ 100 นั่นคือพระปรีชาญาณ (wisdom) ของการพึ่งตนเองแบบเศรษฐกิจพอเพียง