ทวี สุรฤทธิกุล พรรคกิจสังคมมีคำขวัญว่า “เราทำได้” แต่จบลงเพราะ “ทำเราได้” การหาเสียงของพรรคการเมืองไทยในอดีตเต็มไป “คำสัญญาเพ้อฝัน” ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะวาดฝันให้กับประชาชนว่า “จะทำโน่นทำนี่” ในแนวที่สร้างสวรรค์วิมานให้ผู้เลือกตั้ง “ละมอเพ้อพก” อยากได้อยากเป็น อย่างที่เรียกกันว่า “น้ำเน่า” ซึ่งพรรคกิจสังคมได้หาเสียงว่าเราจะสร้าง “น้ำดี – น้ำใหม่” ในทางการเมือง (ถ้าจะใช้ศัพท์สมัยนี้น่าจะเรียกได้ว่าพรรคกิจสังคมได้สร้าง “New Normal” ในทางการเมืองไทยขึ้นแล้ว) ในอดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งจะใช้ “โปสเตอร์” คือการพิมพ์รูปภาพและคำโฆษณาลงบนกระดาษ แล้วเอาไปติดแปะตามสถานที่ต่างๆ ที่นิยมกันมากคือเสาไฟฟ้าและกำแพงริมถนน ถ้ามีเงินมากก็ติดแปะได้มาก บางทีก็ติดแปะกันเลอะเทอะทับซ้อนกัน จนทะเลาะตีหัวกันก็มี ตามมาด้วยการเดินเคาะประตูบ้าน คือผู้สมัครแต่ละคนจะเดินเข้าออกตามตรอกซอกซอยไปตามบ้านผู้คน เดินเข้าหาและทักทายผู้คนพร้อมกับแจกนามบัตรหรือใบปลิวไปเรื่อยๆ บางทีถ้าชาวบ้านเขาให้การต้อนรับดีๆ ก็จะเชิญให้ดื่มน้ำท่าจนถึงข้าวปลาอาหาร ซึ่งผู้สมัครก็จะไม่อิดออด ต้องยอมร่วมดื่มร่วมกินให้เห็นความ “จริงใจ” แม้จะทานไม่ค่อยได้ก็ตามที และอีกอย่างหนึ่งที่นิยมใช้กันมากในการหาเสียงในสมัยก่อนก็คือการเปิดเวทีปราศัย ตั้งแต่เวทีเล็กๆ ที่จัดขึ้นตามชุมชน ไปจนถึงเวทีใหญ่อย่างที่นิยมกันมากในกรุงเทพฯก็คือเวทีท้องสนามหลวง ซึ่งพรรคใหญ่ๆ จำเป็นจะต้องจัดให้อลังการ์ ทั้งตอนเปิดตัวและการปราศัยปิดท้ายก่อนวันลงคะแนน พรรคกิจสังคมแม้จะยังคงใช้โปสเตอร์เป็นสื่อหาเสียง แต่ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบสีสันให้ดูดีขึ้น โดยไม่เน้นการใช้รูปผู้สมัครเต็มหน้ากระดาษ แต่ใช้เพียงภาพกำปั้นมือขวาที่ชูขึ้นสีดำทะมึน มีข้อความประกอบข่างใต้ว่า “เราทำได้” สีน้ำเงิน บนพื้นกระดาษสีส้ม มีโลโก้พรรคกิจสังคมอยู่มุมบนด้านซ้าย และมีภาพผู้สมัครพร้อมเบอร์ขนาดเล็กๆ อยู่มุมล่างข้างขวา จึงทำให้ “เตะตา” และดูท้าทายแก่สาธารณชนอย่างมาก อย่างไรก็ตามพอใกล้ๆ วันลงคะแนน ภาพผู้สมัครก็จะขยายขนาดขึ้น พร้อมกับเบอร์ที่จะให้คนกาลงคะแนนก็มีความเด่นชัด เหมือนว่าจะเป็นเทคนิคที่จะทำให้คนจำได้ติดตา โดยมีการเพิ่มรูปของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคขนาดพอประมาณขึ้นที่ทางด้านซ้ายใต้โลโก้พรรคนั้นด้วย นัยว่าจะได้ช่วยตอกย้ำความประทับใจให้กับผู้ลงคะแนนด้วยความโดดเด่นของผู้นำพรรคนั่นเอง ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการแต่งเพลงประกอบการหาเสียงของพรรค ทั้งเพลงมาร์ช เพลงรำวง และเพลงในแนวสมัยใหม่ ที่ติดหูผู้คนในยุคนั้นมากๆ ก็เช่น เพลงรักคึกฤทธิ์เลือกกิจสังคม และมาร์ชกิจสังคม เป็นต้น (ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2519 และครั้งต่อๆ มา ได้ใช้เพลงของคุณเพลิน พรมแดน ในเพลง “คึกฤทธิ์คิดลึก” มาเป็นเพลงหาเสียงของพรรคด้วย ก็ยิ่งทำให้ชื่อพรรคกิจสังคมติดหูผู้คนมากขึ้น) พร้อมกับทำสปอตโฆษณา(ถ้าสมัยนี้น่าจะเรียกว่า “คลิปเสียง”)แล้วไปจ้างให้วิทยุต่างๆ เปิดระหว่างรายการ แต่ทางโทรทัศน์ยังทำไม่ได้เพราะค่าโฆษณาแพงมาก แต่กระนั้นก็แสดงให้เห็นว่าพรรคกิจสังคมได้ “แหวกแนว” การหาเสียงออกไปมาก นอกจากนี้ยังมีจัดขบวนผู้สมัครออกพบปะชาวบ้าน จากแบบเดิมที่มีเพียงผู้สมัครและผู้ติดตามคนสองคน ก็สร้างให้เป็น “ขบวน” คือมีคนถือป้ายนำหน้าและตามหลัง กลุ่มละ 3-4 คน จนถึงเป็นสิบๆ คน มีเครื่องขยายเสียงมือถือที่เรียกว่า “โทรโข่ง” ให้คนในขวนและผู้สมัครได้แจ้งประกาศและพูดคุยกับชาวบ้าน คนในขบวนจะแต่งตัวเป็นชุดและสีเดียวกัน โดยของพรรคกิจสังคมจะเป็นเสื้อแจ็คเก็ตสีขาว มีโลโก้และชื่อพรรคปักที่หน้าอก ดูหรูหราสง่างาม ในขณะที่บางพรรคได้พยายามลอกแบบ แต่อาจจะด้วยเงินมีน้อยก็ใช้เพียงเสื้อยืดให้มีสีสันตามสมควร ซึ่งวันหนึ่งๆ อาจจะมีหลายๆ ขบวน ทำให้การเข้าถึงผู้คนทำได้มากขึ้นและน่าสนใจมากขึ้น การเลือกตั้งครั้งแรกของพรรคกิจสังคมในวันที่ 26 มกราคม 2518 ได้ ส.ส.มาเพียง 18 คน ถ้าเทียบกับค่าใช้จ่ายในการหาเสียงที่ทุ่มเทลงไปก็คงดูไม่คุ้ม แต่ก็ได้แสดงให้เห็นว่าพรรคแนวใหม่ได้เป็นที่สนใจของประชาชนพอสมควร คุณบุญชู โรจนเสถียร ผู้รับผิดชอบในแคมเปญทั้งหมดนี้ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้เขียนว่า คุณบุญชูได้จ้างทีมงานคนรุ่นใหม่มาร่วมคิดและจัดทำ โดยพยายามที่จะเน้นนโยบายพรรคมากกว่าตัวบุคคล ด้วยการใช้สื่อโฆษณาและรูปแบบการหาเสียงสมัยใหม่ ซึ่งโดยส่วนตัวของคุณบุญชูก็พอใจ และที่พอใจมากกว่านั้นก็คือ ได้ทำให้การเมืองไทยมีสีสันสดใส และก้าวพ้นออกมาจาก “น้ำเน่า” หรือการขายฝันอย่างในอดีต เพราะจากนั้นรูปแบบการหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ก็เปลี่ยนไป พร้อมกับสร้างการตื่นตัวของผู้เลือกตั้ง ซึ่งก็คือการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของไทยให้ดีขึ้นนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ส.ส.ของพรรคกิจสังคมแม้จะมีคนรุ่นใหม่เข้ามาพอสมควร แต่ผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรคก็ยังคงเป็นคนรุ่นเก่าที่ยังคงมีอิทธิพลต่อการดำเนินการทางการเมืองของพรรคอยู่มาก โดยเฉพาะในการจัดตั้งรัฐบาลภายหลังจากที่พรรคประชาธิปัตย์ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นพรรคที่มี ส.ส.มากที่สุด ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ โดย ส.ส.ส่วนหนึ่งของพรรคกิจสังคมยังคิดว่า การเป็นรัฐบาลผสมน่าจะไม่มีเสถียรภาพเท่าใดนัก แต่ผู้ใหญ่ในพรรคกลับคิดว่าเมื่อได้เป็นรัฐบาลแล้ว เดี๋ยวพรรคการเมืองต่างๆ ก็จะวิ่งเข้ามาหาและรัฐบาลก็จะเข้มแข็งขึ้นมาเอง ซึ่งปรากฏารณ์การคัดง้างระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่นี้เป็น “สามัญลักษณะ” ของการเมืองไทยมาโดยตลอด เช่นเดียวกันกับชะตากรรมของพรรคกิจสังคมที่ก็อยู่ในครรลองนั้น เช่นเดียวกันกับการเมืองไทยในปัจจุบัน ที่ยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะมี “New Normal” เกิดขึ้น