ทวี สุรฤทธิกุล “เงินผัน ประกันราคาพืชผล ส่งเสริมสภาตำบล คนจนรักษาฟรี” การหาเสียงของพรรคกิจสังคมในครั้งแรก เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2518 ยังไม่ได้ใช้สโลแกนข้างต้น ซึ่งเป็นสโลแกนที่นำมาใช้ในการเลือกตั้งวันที่ 4 เมษายน 2519 คือครั้งต่อมา หลังการยุบสภาในต้นปี 2519 นั้น โดยพรรคกิจสังคมได้ ส.ส. มากถึง 45 คน จากเดิมที่ได้มาเพียง 18 คน อันเป็นผลมาจากนโยบายทั้งสี่ข้างต้น ที่ได้คิดค้นในระหว่างที่เป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้งครั้งแรก คุณบุญชู โรจนเสถียร ได้ให้สัมภาษณ์ผู้เขียน(ในการเขียนวิทยานิพนธ์ที่เคยอ้างถึงแล้ว)ว่า ก่อนวันเลือกตั้งในปี 2518 คุณบุญชูได้อธิบายในที่ประชุมของผู้สมัครของพรรค เพื่อเสนอนโยบายของพรรค แต่ก็มีคนให้ความสนใจน้อยมาก ต่างคนก็ต่างหาเสียงในแบบของตน แม้แต่คุณบุญชูเองที่ลงรับเลือกตั้งในจังหวัดชลบุรี ก็ต้องสู้กับคนที่ขนดารานักร้องไปช่วยหาเสียง ประชาชนไม่ค่อนสนใจที่จะฟังนโยบายพรรค ยิ่งเป็นช่วงหัวค่ำด้วยแล้วก็ยิ่งแย่ใหญ่ เพราะคนฟังปราศัยเอาแต่ร้องขอให้ฉายภาพยนตร์(หนังกลางแปลง)เร็วๆ แต่พอถึงการเลือกตั้งในปี 2519 การหาเสียงก็ “พลิกโฉม” มีการปราศัยด้วยนโยบายของพรรคมากขึ้น หรือไม่ก็หันมาโจมตีนโยบายของพรรคกิจสังคม โดยพรรคการเมืองบางพรรคได้เรียกนโยบายเงินผันว่าเป็น “เงินผลาญ” ซึ่งก็ปรากฏว่าพรรคการเมืองพรรคนั้นได้เสียงลดลงอย่างมากในต่างจังหวัด คุณบุญชูบอกว่า เขาได้ศึกษาปัญหาของประเทศไทยตั้งแต่ตอนที่ทำงานเป็นผู้บริหารอยู่ในธนาคารกรุงเทพจำกัด โดยมีทีมงานเป็นพนักงานธนาคารจำนวนหนึ่ง ร่วมกับนักวิชาการและนักธุรกิจอีกหลายคน เนื่องด้วยธนาคารต้องมีกิจกรรมทางการเงินกับผู้คนจำนวนมาก ทั้งกลุ่มธุรกิจใหญ่ๆ นักธุรกิจทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงกลุ่มอาชีพทุกกลุ่ม และประชาชนรายบุคคล เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางการเงินการคลังของรัฐทั้งระบบ ธนาคารจึงมีข้อมูลเชิงลึกที่ละเอียดซับซ้อนทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐจำนวนมหาศาล ทีมงานของคุณบุญชูได้นำข้อมูลเหล่านี้มาคิดวิเคราะห์ โดยตั้งสมมุติฐานว่าจะแก้ไขปัญหาความยากจนของคนไทยอย่างไร แล้วก็พบว่าต้องเริ่มที่การแก้ปัญหาของเกษตรกร ได้แก่ ที่ทำกิน ทุน ต้นทุนการผลิต ตลาด และพ่อค้าคนกลาง มาตรการแรกที่ต้องทำในการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรนี้ก็คือการเพิ่มรายได้ให้คุ้มทุนและมีเหลือขยายผลผลิต พร้อมกับเพิ่มรายได้และสร้างความยุติธรรมในกลไกการตลาด ด้วยเหตุนี้เมื่อมาตั้งพรรคการเมือง คุณบุญชูจึงวางแนวทางให้พรรคกิจสังคมมีนโยบายต่างๆ ในการช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งเป็นฐานทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของประเทศ นโยบายแรกที่คิดไว้ก็คือการประกันราคาพืชผลในพืชผลที่เป็นตัวหลัก คือ ข้าว ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง และยางพารา พ่วงกับการจัดไซโลเพื่อการจัดเก็บพืชผลเหล่านั้น เพื่อการระบายปริมาณพืชผลให้สอดคล้องกับภาวะความต้องการของตลาด (สมัยนี้เรียกว่า “โลจิสติกส์”) ร่วมกับการลดต้นทุนให้แก่เกษตรกร คือ กำหนดราคาปุ๋ย และค่าขนส่ง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในการจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคการเมืองหลายพรรคมาผสมกัน โดยที่พรรคกิจสังคมเองก็มีเพียง 18 เสียง ในวันที่จัดทำนโยบายเพื่อแถลงและขอความเห็นชอบจากรัฐสภา (ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 รัฐบาลจะเริ่มทำงานได้ต้องเสนอนยาบให้สภาโหวตให้ความเห็นชอบในนโยบายของรัฐบาลนั้นเสียก่อน ดังที่พรรคกิจสังคมได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนั้น ก็เพราะสภาโหวตไม่เอานโยบายของรัฐบาลที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ พรรคกิจสังคมจึงได้โอกาสในการฟอร์มรัฐบาลดังกล่าว) ก็ต้องมีการผสมผสานกัน และเนื่องด้วยเวลาอันรีบเร่งให้ทันการแถลงนโยบาย คุณบุญชูบอกว่า “ก็ทำให้เสร็จๆ ไปก่อน” โดยเน้นเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการแก้ไขปัญหาที่สำคัญๆ ทางสังคม โดยเฉพาะในเรื่องปัญหาความยากจน อันเป็นที่มาของนโยบายเงินผันและการประกันราคาพืชผลในช่วงแรก พร้อมกับได้วางนโยบายที่จะส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นคือสภาตำบล และการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ได้แก่ สวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล การขึ้นรถไฟและรถเมล์ฟรี เป็นต้น คุณบุญชูดูมีความภูมิใจในนโยบายเงินผันเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งความจริงเป็นนโยบายที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ คือในการทำวิจัยของทีมงานคุณบุญชูพบว่าประเทศไทยมีปัญหาเร่งด่วนที่ร้ายแรงมากๆ เรื่องหนึ่งก็คือ การอพยพเข้ามาหางานทำในเขตเมืองของคนชนบท โดยเฉพาะในฤดูแล้งที่เกษตรกรว่างเว้นจากการทำงาน ทำให้มาแย่งกันขายแรงงานในเขตเมืองต่างๆ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ที่คนจากต่างจังหวัดหลั่งไหลเข้ามาทุกปีๆ ละนับล้านๆ คน จึงเข้ามาแย่งกันอยู่ แย่งกันกิน ก่อให้เกิดความแออัด เกิดสลัม การก่ออาชญากรรม ปัญหาครอบครัว และสุขภาพอนามัยต่างๆ เมื่อคุณบุญชูได้มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงได้พบว่าประเทศไทยมีเงินคงคลังที่เก็บไว้อยู่เป็นจำนวนหลายหมื่นล้าน จึงคิดแบ่งมาใช้ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยได้แถลงเหตุผลต่อสภาว่าเพื่อแก้ไขปัญหาการว่างงานในฤดูแล้ง และแก้ไขปัญหาทางสังคมในวงกว้างของประเทศ แล้วก็ได้รับความเห็นชอบจากสภาด้วยดี ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้พูดถึงนโยบายเงินผันว่า ตอนที่คุณบุญชูมาเสนอนโยบายนี้ ท่านถามคุณบุญชูว่าจะให้ใครทำ คุณบุญชูก็อ้ำอึ้งอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนที่ท่านอาจารย์เกษม ศิริสัมพันธ์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ลาออกมาร่วมจัดตั้งพรรคกิจสังคม และต่อมาได้เป็นเลขาธิการพรรคต่อจากคุณบุญชู ได้เสนอความคิดว่าน่าจะให้สภาตำบลเป็นผู้ดำเนินการ ดีกว่าที่จะให้ระบบราชการแบบเดิมๆ ทั้งนี้จะได้เป็นการกระจายอำนาจออกไปสู่ท้องถิ่น และพัฒนาประชาธิปไตยในระดับหมู่บ้านตำบลอีกด้วย นโยบายนี้ถูกโจมตีเละเทะ แต่ก็มีรัฐบาลต่างๆ ทำกันต่อมาโดยตลอด