ตะเกียงเจ้าพายุ / ทวี สุรฤทธิกุล โชคดีที่พรรคกิจสังคมไม่ได้เป็น “พาหะ” ของรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 หลังการเลือกตั้ง 4 เมษายน 2519 พรรคกิจสังคมแม้จะมี ส.ส.ถึง 45 คน แต่ก็ได้เป็นแค่ฝ่ายค้าน พรรคประชาธิปัตย์ที่มี ส.ส.เป็นอันดับหนึ่ง จำนวน 114 คน ได้เป็นรัฐบาล โดยมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช พี่ชายของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ทว่ารัฐบาลก็ไม่ได้มีความสงบสุขนัก สิ่งแรกก็คือเป็นรัฐบาลผสมที่ความง่อนแง่น พรรคประชาธิปัตย์ที่แม้จะเป็นพรรคหลักก็ต้องคอยเอาอกเอาใจพรรคร่วมอยู่ตลอดเวลา สิ่งต่อมาในพรรคประชาธิปัตย์เองก็มีการแก่งแย่งชิงดีกันโดยตลอด ด้วยจำนวน ส.ส.ที่มีอยู่จำนวนมาก ส่วนหนึ่งเป็น ส.ส.หน้าใหม่ที่มีความตื่นตัวทางการเมืองค่อนข้างมาก จึงพยายามที่จะแสดงบทบาท “ออกนอกหน้า” อยู่เสมอ ทำให้ข้ามหัว ส.ส.เก่าๆ แม้แต่หัวหน้าพรรคที่เป็นหัวหน้ารัฐบาลนั้นด้วย จน ม.ร.ว.เสนีย์ได้ฉายาจากสื่อในยุคนั้นว่า “ฤาษีเลี้ยงลิง” เนื่องจากไม่สามารถควบคุมลูกพรรคให้เชื่อฟังได้ สิ่งสุดท้ายและเป็นอันตรายสำหรับรัฐบาลที่สุดก็คือ การเข้ามายุ่มย่ามทั้งในและนอกสภาของทหาร โดยในสภาก็เป็นความสืบเนื่องจากความพยายามที่จะล้มรัฐบาลกิจสังคมในปลายปี 2518 อันนำซึ่งการยุบสภาและเลือกตั้งในวันที่ 4 เมษายน 2519 นั้น แม้จะเปลี่ยนรัฐบาลใหม่แล้ว ทหารก็ยังไม่เลิกราที่จะ “เอาคืน” เพื่อลบรอยแค้นจากกรณีที่ถูก “เฉดหัว” ออกไปจากเวทีการเมืองภายหลังเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 เช่น แสดงความไม่พอใจที่จะเอานายทหารที่ทหารไม่ยอมรับมาเป็นรัฐมนตรีกลาโหม และการเสนองบประมาณของกองทัพที่ทำเหมือนว่าจะประชดรัฐบาล ด้วยการตั้งงบในการปราบปรามคอมมิวนิสต์ให้สูงขึ้น โดยอ้างว่าประเทศไทยกำลังถูกคอมมิวนิสต์แทรกซึมเข้ามาถึงในเขตกรุงเทพมหานครแล้ว รัฐบาลฤาษีเลี้ยงลิงยังต้องเจอมรสุมนอกสภาอีกอย่างหนึ่งก็คือ การเดินขบวนประท้วงของกลุ่มประชาชนจำนวนมากที่มีขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน ทหารได้ออกข่าวว่ากลุ่มประท้วงเหล่านี้มีคอมมิวนิสต์มาบงการอยู่เบื้องหลัง สื่อของทหารที่เป็นหลักในเรื่องนี้ก็คือสถานีวิทยุยานเกราะ ที่เกียกกาย ร่วมกับกลุ่มจัดตั้งของฝ่ายทหาร เป็นต้นว่า กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน กลุ่มกระทิงแดง และกลุ่มอภิรักษ์จักรี ต่อมากลุ่มนักศึกษาได้ตั้งเวทีปราศรัย ขับไล่ทั้งรัฐบาลและทหาร ขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยากาศก็ยิ่งร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ สถานีวิทยุยานเกราะโดยผู้จัดรายการคนดังคือ พันโทอุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ได้ใช้คำว่า “คอมมิวนิสต์” เรียกกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างเปิดเผย พร้อมกับเปิดเพลงปลุกใจประกอบการกล่าวหานั้นตลอดวันตลอดคืน เช่น เพลงหนักแผ่นดิน ไทยสู้ และต้นตระกูลไทย เป็นต้น จนกระทั่งหนังสือพิมพ์ดาวสยามได้ตีพิมพ์ภาพ “การผูกคอของบุคคลสำคัญ” ลงหน้าหนึ่ง ซึ่งเป็นภาพจากแสดงการละครล้อเลียนการเมืองของกลุ่มผู้ใช้แรงในจังหวัดแห่งหนึ่ง นำมาซึ่งความไม่พอใจของผู้ที่รักและเทิดทูนสถาบัน นำมาซึ่งการเรียกร้องให้ปรามปรามกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างเด็ดขาด โดยทหารและตำรวจได้เข้าปิดล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งแต่เช้าตรู่ของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 แล้วกราดยิงเข้าไปในมหาวิทยาลัยที่นักศึกษาชุมนุมกันอยู่นับหมื่น จากนั้นก็สั่งให้นักศึกษายอมแพ้ หมอบลงกับพื้น ถอดเสื้อเพื่อความสะดวกในการตรวจค้นอาวุธทั้งหญิงและชาย อันเป็นภาพที่อุจาดและน่าเวทนาเป็นที่สุด จากนั้นก็กวาดต้อนนักศึกษาขึ้นรถ บางส่วนนำไปกักขัง บางส่วนแค่สอบถามประวัติแล้วก็ปล่อยตัวออกมา แต่ที่ทุเรศยิ่งกว่านั้นก็คือได้มีการนำศพของผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งออกมาแขวนประจานที่ต้นมะขามข้างสนามหลวง ด้านตรงข้ามกับหอประชุมใหญ่ บางศพถูกนำลงมากระทืบ เอาไม้และของแหลมทุบตีทิ่มแทง จนสุดท้ายก็เอายางรถยนต์มาสุมแล้วเผา “ย่างสด” ใต้ต้นมะขามนั้น ก่อนค่ำวันนี้ คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่นำโดย พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ได้ประกาศยึดอำนาจ โดยเหตุผลหลักของการยึดอำนาจก็คือเรื่องการเข้ามาบ่อนทำลายประเทศของคอมมิวนิสต์ โดยอาศัยการก่อชุมนุมประท้วงของนักศึกษาและผู้ใช้แรงงานนั่นเอง และเรื่องปัญหาภัยคอมมิวนิสต์นี้ยังนำมาสู่การจัดตั้งรัฐบาลที่มีแนวคิด “ขวาจัด” โดยคณะปฏิรูปฯได้ไปเชิญนายธานินทร์ กรัยวิเชียร มาเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยการแต่งตั้งบุคคล “ประหลาดๆ” เข้ามาเป็นรัฐมนตรีด้วยจำนวนหนึ่ง (ที่ว่าเป็นพวก “ประหลาดๆ” ก็เพราะบางคนมีนโยบายเพี้ยนๆ เช่น นายภิญโญ สาธร รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศจะสร้างเสาธงให้สูงที่สุดในประเทศ บางคนประกาศรวมกิจการรถเมล์ ที่ทำให้รถเมล์เจ๊งสืบเนื่องมาตั้งแต่บัดนั้น บางคนก็อวดสมรรถภาพว่าถึงแม้ตัวเองจะอายุเกือบ 80 แล้ว แต่ก็ยังมีเอ๊าะๆ มาอยู่ด้วย) แต่คนที่แปลกประหลาดที่สุดก็คือ นายสมัคร สุนทรเวช ส.ส.ดาวรุ่งของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ “บุญมาวาสนาส่ง” ได้เป็นรัฐมนตรีครั้งแรกก็ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยนั้นเลย อีกคนหนึ่งก็คือ นายดุสิต ศิริวรรณ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมกับทำหน้าที่โฆษกรัฐบาล ซึ่งแทนที่จะมีความสัมพันธ์อันดีกับสื่อ แต่กลับตั้งตัวเป็นไม้เบื่อไม้เมากับสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ตลอดอายุของรัฐบาล ในวันที่เข้ารับตำแหน่ง นายธานินทร์ได้แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่า รัฐบาลนี้เกิดขึ้นได้เพราะทหาร และมีทหารให้ความคุ้มครองดูแล เหมือนว่ารัฐบาลนี้เป็นเนื้อหอย และมีทหารเป็นเปลือกหอยกระนั้น สื่อมวลชนจึงเรียกรัฐบาลชุดนี้ว่า “รัฐบาลหอย” รัฐบาลชุดนี้บริหารประเทศด้วยความแข็งกร้าว โดยเฉพาะการประกาศนโยบายปรามปรามคอมมิวนิสต์ และเอาผิดนักศึกษาและปัญญาชน ที่รวมถึงครูบาอาจารย์และนักการเมืองจำนวนมากที่นิยมแนวคิดคอมมิวนิสต์ ทำให้คนเหล่านั้นหลบหนีเข้าป่าเป็นจำนวนมาก (นายชวน หลีกภัย ก็เคยเข้าป่าในยุคนี้เช่นกัน โดยออกเขียนหนังสือเรื่อง “เย็นลมป่า” บรรยายถึงชีวิตในช่วงนั้น) หลายคนเรียกการเมืองในยุคนั้นว่า “ยุคขวาพิฆาตซ้าย” แต่สุดท้ายเปลือกหอยก็แคะเอาเนื้อหอยนั้นทิ้ง ยึดอำนาจคืนสู่กองทัพในอีก 1 ปีต่อมา