บุญส่ง ชเลธร ร่างรัฐธรรมนูญผ่านการลงประชามติ“รับ”ไปแล้วด้วยเสียงท่วมท้นชนิดที่พรรคการเมืองใหญ่ กลุ่มการเมือง กลุ่มเอ็นจีโอและกลุ่มนักวิชาการหลายต่อหลายกลุ่มที่ออกมารณรงค์ต่อต้านกันอย่างหนัก เหลียวหน้าเหลียวหลังแบบไปไม่เป็น เมื่อคำที่มักกล่าวว่าตนเองเป็นตัวแทนประชาชนโดยเฉพาะสองพรรคการเมืองใหญ่ กลับมีผลไปในทางตรงกันข้าม สวนกับประชามติของประชาชนส่วนข้างมากอย่างสิ้นเชิง ไม่ใช่เรื่องยากเลยที่จะเข้าใจได้ว่าเป็นเพราะประชาชนต้องการการเลือกตั้ง แต่พรรคการเมืองใหญ่กลับเสนอการ“ไม่รับ” ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าในสถานการณ์อย่างนี้ การออกเสียง“รับ” ร่างรัฐธรรมนูญทำให้เกิดการเลือกตั้ง และการเลือกตั้งจะนำมาซึ่งโอกาสของประชาชนทีได้มีส่วนในการบริหารประเทศ ไม่ใช่มีแต่ทหารเพียงกลุ่มเดียวที่กุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จดังเช่นในปัจจุบัน นอกจากนั้นการมีรัฐธรรมนูญที่มีการเลือกตั้ง จะนำมาซึ่งสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกที่มากขึ้น คิดเพียงแค่นี้ก็คุ้มกับการออกเสียง“รับ”แล้วต่างกับการ “ไม่รับ” ที่ไม่มีการเลือกตั้งและมองไม่เห็นอนาคต คนที่ “ไม่รับ” คิดกันไปต่างๆนาๆ กระเจิงไปคนละทิศละทางแบบเอาใจตนเป็นใหญ่ โดยไม่เห็นความเป็นจริงว่าเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ คนหนึ่งบอกว่าเมื่อไม่รับแล้ว ก็ให้นายกฯจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ดีกว่ามาใช้เลย คนหนึ่งแย้งว่าถ้าประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ รัฐบาลต้องออกไป นายกฯต้องลาออก แสดงว่าประชาชนไม่ต้องการเผด็จการ คนหนึ่งบอกให้เอารัฐธรรมนูญ 40 หรือ 50 มาใช้ คนหนึ่งอยากให้นายกเป็นต่อไปอีกนานๆ อย่างน้อยก็ 5 ปี คนหนึ่งฝันว่าประชาชนจะลุกฮือขึ้นขับไล่รัฐบาลทหาร ที่น่าเป็นข้อสังเกตอย่างหนึ่งของนักการเมืองไทย คือเราไม่เห็นการแสดงสปิริตจากใครในพรรคการเมืองใหญ่ที่จะลาออกเพราะคิดและแสดงออกตรงข้ามกับประชาชน กลับมีแต่โวหารยินดีร่วมมือปฏิรูปต่อไป ซึ่งก็คือพร้อมลงเลือกตั้งเหมือนเดิม อ้างง่ายๆว่าการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญกับการลงเลือกตั้งเป็นคนละเรื่องกันนายเดวิด คาเมรอน อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ประกาศลาออกทันทีที่ผลการลงประชามติของประชาชนในประเทศเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามกับเขา ทั้งที่ชนะกันแค่ 3% ไม่ใช่เป็นสิบๆเปอร์เซ็นอย่างของไทยเรา น่าเสียดายที่ว่าเขาเป็นนักการเมืองอังกฤษ ถ้าเป็นนักการเมืองไทย เขาก็คงอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้อย่างไม่ต้องรู้สึกละอายหลังการลงประชามติไม่นาน ก็เกิดการวางระเบิดและเกิดเพลิงไหม้ติดๆกันกว่าสิบจุดใน 7 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงวันสำคัญของชาติที่คนไทยร่วมเฉลิมฉลองอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในช่วงปีที่ผ่านมา และดูจากความไม่พร้อมของหน่วยราชการที่รับผิดชอบอย่างตำรวจและทหารที่มีหน่วยข่าวกรองที่ใหญ่โต แต่กลับไม่ระแคะระคายเรื่องที่ทำกันแบบเป็นขบวนการที่ใช้คนมากอย่างนี้เลย แถมเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้ว แทนที่จะพิจารณาตัวเองว่าบกพร่องตรงไหน กลับหันมาวิพากษ์วิจารณ์ใส่องค์กรอิสระอย่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเข้าไปอีก ยิ่งสะท้อนความไม่พร้อมในการรับมือกับภาวะวิกฤติที่คนในชาติต้องการความปลอดภัย ขวัญและกำลังใจเป็นอย่างยิ่ง ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองก็แสดงทัศนะกันไปคนละทิศละทาง บางคนพูดเหมือนรู้ว่า“ใครทำ” “ใครอยู่เบื้องหลัง” เหตุการณ์การก่อวินาศกรรม แต่ก็อ้ำๆอึ้งๆ กล้าๆกลัวๆกับการระบุออกมาชัดๆ ราวสร้างภาพผีมาข่มขวัญประชาชนให้เกิดความไม่ไว้วางใจในความเป็นจริงของคำที่ว่าควบคุมสถานการณ์ไว้ได้แล้ว เหมือนเจ้าหน้าที่บ้านเมืองโผล่มา หลังการล่าถอยของโจรปล้น ทิ้งไว้แต่ความตื่นตระหนกของประชาชนที่ไม่รู้ว่าวันไหนโจรจะโผล่เข้ามาอีก ระเบิดลงแล้วใน 3 จังหวัดชายแดน ใน 7 จังหวัดภาคใต้ แม้แต่กรุงเทพฯก็ไม่เว้นและที่เกิดขึ้นมาแล้วก็ไม่น่าจะใช่ลูกสุดท้าย เมื่อประกอบเข้ากับความอ่อนแอไร้สมรรถภาพของผู้รักษากฎหมาย ประชาชนก็คงจะได้ยินเสียงระเบิดดังขึ้นอีกหลายครั้ง ยิ่งใกล้เลือกตั้ง ระเบิดก็คงยิ่งดัง ประชาชนจะพึ่งใครได้บ้างในสถานการณ์อย่างนี้