รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต “เพื่อน” เป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งของชีวิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย คำกล่าวข้างต้นดูจะเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกินความเป็นจริง ยิ่งมาพลิกดูงานวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศล้วนเป็นสิ่งที่สนับสนุนคำกล่าวนี้อย่างชัดเจน เฟลดแมนและนิวคอม (Feldman and Newcomb) วิจัยพบว่า “กลุ่มเพื่อน” จะช่วยให้นักศึกษามีความมั่นใจและพอใจในตนเองมากยิ่งขึ้น กลุ่มเพื่อนจะตอบสนองความสนใจของนักศึกษาที่ไม่ได้รับการตอบสนองด้านวิชาการหรือมีความล้มเหลวทางวิชาการมาแล้ว กลุ่มเพื่อนจะช่วยฝึกการเข้าสังคมและการสร้างสัมพันธ์ส่วนตัว มีผลทำให้นักศึกษาสามารถปรับตัวอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ ช่วยฝึกทักษะทางสังคม ช่วยเสริมสร้างบุคลิกภาพที่มั่นคง มีผลสรุปการวิจัยของไทยที่ไม่ควรมองข้ามระบุว่า “การใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย ถ้านักศึกษาสามารถปรับตัวเข้ากับเพื่อนได้ ก็จะได้รับการยอมรับจากเพื่อนๆ ซึ่งจะช่วยให้นักศึกษาเกิดความรู้สึกอบอุ่นใจ มีความมั่นคงเกิดความเชื่อมั่นในตนเอง” เมื่อ “เพื่อน” มีความสำคัญต่อนักศึกษามากเช่นนี้ คงต้องมาเจาะลึกข้อมูลผลสำรวจของ “สวนดุสิตโพล” จากนักศึกษา 1,037 คน (14-17 สิงหาคม 2563) พบว่า ปัจจัยที่นักศึกษาใช้พิจารณาในการคบเพื่อนว่า ถ้าเป็น “เรื่องส่วนตัว” นักศึกษาพิจารณาจาก ความมีน้ำใจเอื้ออาทร 94.47% เคมีเข้ากัน 94.34% ถูกชะตากัน 92.45% ทรรศนะ/ความคิดคล้ายกัน 90.55% ดูแล้วเป็นคนดี 88.04% บุคลิกภาพดี/สุภาพ/เรียบร้อย 80.52% เคยเรียนด้วยกันตอนมัธยม 68.21% มาจากจังหวัด/ภูมิภาคเดียวกัน 56.25% และเป็นญาติกัน 54.52% “เรื่องการเรียน” นักศึกษาพิจารณาจาก ทำงานกลุ่มได้ดี 91.74% อดทนในการทำงาน91.13% ให้คำแนะนำช่วยเหลือในการเรียน 90.49% ขยันเข้าเรียน 85.63% เอาใจใส่การเรียน85.02% ปฏิบัติตามกฎระเบียบของมหาวิทยาลัย 75.25% และเรียนเก่ง 61.69% “ด้านกิจกรรม” นักศึกษาพิจารณาจากการที่มีแนวความคิดสร้างสรรค์ 80.62% ชอบทำกิจกรรม/ร่วมกิจกรรม 73.03% เป็นผู้นำกิจกรรม 69.01% และทำกิจกรรมเก่ง 67.37% สรุปในภาพรวม นักศึกษาจะคบเพื่อนโดยเรียงลำดับความสำคัญจาก เรื่องการเรียน 72.13% เรื่องส่วนตัว 69.91% และกิจกรรม 67.25% เห็นผลสำรวจดังกล่าวแล้ว แน่นอน “ข้อมูล” นี้ย่อมทำให้มองทะลุถึง “ปัจจัยของการเลือกคบเพื่อน” ได้อย่างชัดเจน... “ข้อมูลปัจจัยของการเลือกคบเพื่อน” คงไม่ได้สะท้อนให้เห็นเพียงมุมมอง...ความคิดของนักศึกษา แต่เป็นข้อมูลที่สามารถนำไป “ต่อยอด” ให้มหาวิทยาลัยต่างๆ สามารถวางระบบ...แนวทางในการดูแลที่ ทำให้นักศึกษารู้สึกว่า “เจ้าหน้าที่...อาจารย์...อาจารย์ที่ปรึกษา หรือแม้แต่ผู้บริหาร” เปรียบเสมือน “เพื่อนสนิท...เพื่อนคู่คิด” ที่จะประคับประคองการดำเนินชีวิต ในรั้วมหาวิทยาลัยได้ตลอดรอดฝั่ง... พูดแบบนี้แล้ว อาจดูเหมือนเป็น “การโยนโจทย์ที่หนักอึ้ง” ให้กับทุกคน ทุกภาคส่วนของมหาวิทยาลัย แต่ความเป็นจริงในแง่การปฏิบัติที่จะบังเกิดผลเป็นรูปธรรมคงไม่ง่ายนัก แต่ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด เพราะถ้ามหาวิทยาลัย ไม่สามารถทำให้นักศึกษารู้สึกสนิทสนม...สัมผัสได้ถึงความเป็นเพื่อนแล้ว การจะเข้าถึง...พูดคุย...ชี้แนะ...สิ่งต่างๆ ให้ “นักศึกษา” เกิดการยอมรับและยอมปฏิบัติตามในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมกับสภาพสังคมไทย “คงเป็นเรื่องที่ยากสุดๆ” ณ วันนี้น่าจะหมดยุคที่จะคิดว่า..เมื่อเป็นผู้บริหาร...อาจารย์...เจ้าหน้าที่แล้วพูดอะไร “นักศึกษา" ต้องฟัง...ต้องเชื่อ...ต้องปฏิบัติตาม(ทุกอย่าง) ผู้เขียนกล้าพูดเต็มปากเลยว่า “การดูแลนักศึกษายุคนี้/สมัยนี้” ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด...ถ้าไม่ได้เป็นมิตรที่นักศึกษาไว้วางใจ!!!