ทวี สุรฤทธิกุล เรื่องของพรรคกิจสังคมอาจจะเก่า แต่ก็สะท้อน “การเมืองใหม่” ในทุกวันนี้หลายแง่มุม แง่มุมแรก “การเมืองไทยที่อยู่ภายใต้ท็อปบู๊ต” ในสมัยที่ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรคกิจสังคม ท่านคาดหวังว่าพรรคการเมืองน่าจะเป็น “แกนหลัก” ทางการเมือง คือเป็นที่พึ่งพิงของประชาชนได้ แต่ก็ไม่ได้เป็นไปอย่างที่ท่านคาดหวัง แม้ในตอนท้ายๆ ที่ท่านเป็นหัวหน้าพรรค ท่านก็ต้องอยู่ภายใต้แรงบีบของทหาร อย่างที่ท่านต้องมาค้ำจุนรัฐบาลให้กับ พลเอกเปรม ในสภาวะที่ทหารก็ได้ “กระทำ” ต่อพรรคกิจสังคมอย่างน่าเกลียดมาโดยตลอด (ความจริงไม่ใช่แต่เฉพาะพรรคกิจสังคม คือกองทัพได้บีบบังคับพรรคการเมืองให้ต้องร่วมมือกับกองทัพไว้ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 นั่นเอง) ดังที่ได้เล่ามาแล้วนั้น ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็เชื่อเหมือนนักการเมืองหลายๆ คน (รวมถึงนักวิชาการและนักสังเกตการณ์ทางการเมืองจำนวนมาก) ว่าหลังจากที่ทหารถูกขับไล่ออกไปจากอำนาจทางการเมือง ในเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ด้วยความต้องการที่จะเข้ามามีส่วนร่วมอย่างรุนแรงของประชาชน น่าจะทำให้พรรคการเมืองมีความสำคัญมากขึ้น ดังจะเห็นได้ว่าภายหลังที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 แล้วประกาศว่าจะมีการเลือกตั้ง ก็มีการจัดตั้งพรรคการเมืองเกิดขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะพรรคในแนว “อำนาจประชาชน” หรือแนวสังคมนิยมทั้งหลาย แต่พอเกิดเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตามมาด้วยการยึดอำนาจของทหารในตอนเย็นวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ก็ทำให้ท่านเปลี่ยนความคิดไป กลับไปเชื่อว่าทหารยังคงเป็นใหญ่เสมอ แต่กระนั้นเมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่ใน พ.ศ. 2521 ตามมาด้วยการเลือกตั้งในปีต่อมา ท่านก็ถูกลูกยุจากบรรดาลูกพรรคให้ฮึดขึ้นสู้อีกครั้ง แต่เหตุการณ์ก็เป็นไปอย่างที่เห็น คือพรรคการเมืองไม่ได้มีความเข้มแข็ง ทั้งกลับยังไปซูฮกให้ทหาร ด้วยการหวังพึ่งพิงอำนาจทหารเพื่อนำไปสู่ผลประโยชน์ของแต่ละพรรค (แต่ความเป็นจริงก็คือผลประโยชน์ของนักการเมืองแต่ละคนนั้นมากกว่า) แง่มุมต่อมา “การเมืองไทยที่นักการเมืองทำลายตัวเอง” ในสภาพที่นักการเมืองต่างก็แย่งชิงผลประโยชน์ระหว่างกันและกัน ดังที่พรรคการเมืองที่มาร่วมผสมกันเป็นรัฐบาล ภายใต้การนำของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ แล้วแย่งชิงกันกอบโกย จนทำให้ประชาชนเอือมระอา ในขณะที่พลเอกเปรมได้ชื่อว่าเป็น “ผู้บริสุทธิ์” แต่ก็เป็นเพราะการทำตัวแบบ “ลอยตัวอยู่เหนือความขัดแย้ง” ทำให้ภาพลักษณ์ของทหารที่เชื่อมโยงเข้ากับพลเอกเปรมด้วยนี้ มองดูเหมือนว่า “ปราศจากการคอร์รัปชัน” แต่เอาเข้าจริงๆ ก็มีทหารบางส่วนที่ “ตามน้ำ” หรือคอยรอรับผลประโยชน์บางส่วนที่นักการเมืองหามาให้นั้นอยู่ด้วย อันเป็นมูลเหตุหนึ่งที่นำมาซึ่งภาวะ “เบื่อป๋า” ที่แม้ว่านายกรัฐมนตรีจะไม่ได้รับรู้รับเห็น แต่ก็สร้างกระแสให้สังคมเคลือบแคลง นำไปสู่แรงบีบที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล จนกระทั่งพลเอกเปรมต้องยุบสภาในต้นปี 2531 ให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งภายหลังการเลือกตั้ง พลเอกเปรมได้ประกาศไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยวาทะแห่งปีที่ว่า “ป๋าพอแล้ว” ทำให้พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติไทย ที่ได้คะแนนเสียงเข้ามามากที่สุดและเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกชาติชายได้ใช้การบริหารแบบ “แบ่งกระทรวง” คือแต่ละกระทรวงก็ให้แต่ละพรรคนั้นคุมทั้งหมด คือทั้งรัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยว่าการก็ให้มาจากพรรคเดียวกัน ทั้งนี้มีความเข้าใจว่าเพื่อจะแก้ปัญหาการ “ปัดแข้งปัดขา” กัน ของรัฐมนตรีต่างพรรคที่มาร่วมบริหารอยู่ในกระทรวงเดียวกัน ในระบบ “ร่วมกระทรวง” ที่เคยเกิดปัญหามาแล้วในสมัยรัฐบาลของพลเอกเปรม แต่สิ่งนี้กลับทำให้นักการเมือง “ทำชั่ว” มากขึ้น เพราะไม่ต้องคอยระแวดระวังหรือแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองพรรคอื่น การคอร์รัปชั่นจึงมีมากในสมัยรัฐบาลชุดนี้ กระทั่งเกิดสภาพที่สื่อมวลชนเรียกว่า “บุฟเฟต์คาบิเนต” คือคณะรัฐมนตรีที่ “รับประทานกันตามสบาย” กระทั่งเป็นชนวนหนึ่งที่ทำให้ทหารเข้ายึดอำนาจในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ซึ่งตามมาด้วยการตั้งคณะกรรมการเข้ายึดทรัพย์และสอบสวนเอาผิดนายกรัฐมนตรีกับรัฐมนตรี รวม 15 คน แม้ว่าท้ายที่สุดนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีส่วนใหญ่จะหลุดพ้นข้อกล่าวหานี้ ด้วยเหตุผลที่ว่า “ไม่มีใบเสร็จ” หรือขาดหลักฐานที่ชัดเจน แต่ก็ทำให้ทหารได้กลับคืนมามีอำนาจเหนือนักการเมืองอีกครั้ง พร้อมกับตอกย้ำภาพลักษณ์ที่ “ชั่วช้าเลวทราม” ให้กับนักการเมือง (ที่ยังคงติดแน่นมาถึงปัจจุบัน) อีกแง่มุมหนึ่ง “คนไทยมีบทเรียนมาก แต่ทำข้อสอบผิดอยู่เรื่อยๆ” ภายหลังการรัฐประหารวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ทหารได้สร้างภาพให้ “ดูดี” ขึ้นมาอีก ด้วยการเข้าจัดการกับนักการเมืองที่โกงกิน แล้วก็จะลงจากอำนาจโดยเร็ว โดยจะให้มีการเลือกตั้งในต้นปี 2535 แต่เมื่อมีข่าวว่าทหารต้องการจะสืบทอดอำนาจ ด้วยการสมคบคิดกับนักการเมืองกลุ่มหนึ่ง ที่รวมกลุ่มกันขึ้นมาในชื่อว่า “พรรคสามัคคีธรรม” ก็ทำให้เกิดแรงต้านขึ้นรอบทิศ โดยเฉพาะในหมู่พรรคการเมืองที่มีอดีตทหารเป็นผู้นำ ได้แก่ พรรคความหวังใหม่ของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ และพรรคพลังธรรมของพลตรีจำลอง ศรีเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มทหารที่มีความสัมพันธ์ในลักษณะ “รุ่นพี่รุ่นน้อง” ดังนั้นภายหลังการเลือกตั้งในวันที่ 22 มีนาคม 2535 แล้วพรรคสามัคคีธรรมก็เสนอชื่อพลเอกสุจินดา คราประยูร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี จากนั้นการเมืองในสภาก็มีความวุ่นวายเกิดขึ้น พรรคฝ่ายค้านโดยเฉพาะพรรคความหวังใหม่และพรรคพลังธรรม ผนึกกำลังกันคัดค้านการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกสุจินดา โดยพลตรีจำลอง ศรีเมือง ได้ออกไปอดอาหารประท้วงอยู่หน้าสภา อันนำมาซึ่งเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในเดือนพฤษภาคมปีนั้น ซึ่งจะได้มานำเสนอในสัปดาห์ต่อไป ทั้งนี้ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า คนไทยมีบทเรียนมากมาย แต่ทำไมจึง “ทำข้อสอบไม่ได้” คือไม่รู้ว่าจะก็ปัญหาของการเมืองไทยได้อย่างไร จึงทำให้บ้านเมืองของเราขึงวนเวียนอยู่ใน “วงจรอุบาทว์” แบบนี้ การเมืองใหม่จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าเรายังอยู่ใน “วงจรอุบาทว์” เช่นนี้