ณรงค์ ใจหาญ การดำเนินคดีอาญามีเป้าหมายที่จะค้นหาความจริงว่าผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดนั้น เป็นผู้กระทำความผิดจริงตามที่ถูกกล่าวหรือไม่ และหากกระทำความผิดจริง ศาลจะพิพากษาให้จำเลยรับโทษเท่าใด ดังนั้นกระบวนการดำเนินคดีตั้งแต่ในชั้นสอบสวน และการพิจารณาจึงให้ความสำคัญกับการที่ผู้กล่าวหาจะต้องมีตัวอยู่เพื่อให้มีส่วนร่วมในการสอบสวน หรือพิจารณา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีอยู่เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา การมีโอกาสที่จะได้นำเสนอข้อโต้แย้ง หรือพยานหลักฐานเพื่อให้เจ้าพนักงานหรือศาลได้นำมาพิจารณาชั่งน้ำหนักในการวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร และจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดหรือไม่ การมีตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในระหว่างการสอบสวนหรือพิจารณาจึงมีความสำคัญต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีอาญา กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้ความสำคัญกับการมีตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ต่างกัน กล่าวคือ ในชั้นสอบสวนและสั่งคดีของพนักงานอัยการ ผู้ต้องหาจำเป็นต้องมาพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา และอาจชี้แจงหรือกล่าวอ้างพยานบุคคลเพื่อจะยืนยันความบริสุทธิ์ของตนได้ แต่ไม่มีกฎหมายบังคับให้ผู้ต้องหาต้องให้การในเรื่องที่ถูกกล่าวหา ในขณะที่ถ้าเป็นจำเลยที่ถูกฟ้องเป็นคดีอาญาแล้ว จำเลยต้องอยู่ในชั้นพิจารณาทุกนัดที่มีการสืบพยาน ทั้งนี้เพราะการพิจารณาต้องกระทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลย ซึ่งหลักการนี้ไม่ใช่เหตุผลเพราะเหตุที่จำเลยต้องมาศาล แต่เป็นหลักการที่ให้ความคุ้มครองจำเลยว่า หากจำเลยไม่อยู่ในการพิจารณาแล้วการพิจารณาจะดำเนินต่อไปไม่ได้ เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญา หรือกฎหมายอื่นที่กำหนดไว้ เหตุที่ให้จำเลยต้องอยู่ในระหว่างการพิจารณาเพื่อให้จำเลยได้ทราบว่าตนถูกกล่าวหาหรือปรักปรำว่าอย่างไร และถ้อยคำหรือพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมานั้นมีข้อพิรุธหรือไม่ถูกต้องอย่างไร จำเลยสามารถตรวจสอบพยานหลักฐานดังกล่าวได้ และสามารถนำเสนอพยานของตนเพื่อหักล้างพยานฝ่ายโจทก์ได้ ดังนั้นหากจำเลยไม่ได้มาฟังการพิจารณาแล้ว ก็เป็นการยากที่จำเลยจะมีโอกาสที่จะโต้แย้งคัดค้านการนำเสนอพยานหลักฐานของโจทก์ ด้วยเหตุนี้เองการที่จะพิจารณาโดยไม่มีตัวจำเลยในคดีอาญาจึงต้องเป็นข้อยกเว้นและเป็นเหตุจำเป็นที่ไม่มีผลกระทำต่อสิทธิจำเลยในการต่อสู้คดีหรือคัดค้านพยานหลักฐานของโจทก์จนเกินไป ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 ทวิ กำหนดให้มีการสืบพยานลับหลังจำเลยได้ ในบางกรณีได้แก่ กรณีที่หนึ่ง คดีที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และจำเลยมีทนายความ เมื่อจำเลยขออนุญาตศาลที่จะไม่มาฟังการสืบพยาน และศาลอนุญาต จำเลยไม่มาศาลได้ แต่มีทนายความมาฟังการพิจารณาและสามารถซักค้านหรือนำเสนอข้อเท็จจริงต่อศาลได้ กรณีนี้ จำเลยไม่ต้องมาศาล กรณีที่สอง ในกรณีที่จำเลยมีหลายคนในคดีเดียวกัน ถ้าเป็นการสืบพยานโจทก์ที่ไม่เกี่ยวกับจำเลยคนใด ศาลอาจอนุญาตให้สืบพยานลับหลังจำเลยคนนั้นได้ ส่วนกรณีที่สามในกรณีที่มีจำเลยหลายคน ถ้าเป็นการสืบพยานจำเลยคนหนึ่งๆ ลับหลังจำเลยคนที่ไม่มาศาลได้ เพราะทั้งกรณีที่สองและที่สาม ไม่ได้มีผลกระทบต่อการต่อสู้หรือซักค้านพยานของจำเลยคนที่ไม่มาศาลนั้นเพราะไม่ได้สืบพยานเกี่ยวพันกับจำเลยคนที่ไม่มาศาลนั้น กรณีที่สี่ เป็นกรณีที่จำเลยอยู่ในห้องพิจารณา แต่มีการกระทำที่เป็นการขัดขวางการพิจารณา ศาลจึงไล่ให้ออกไปนอกห้องพิจารณา กรณีนี้การสืบพยานก็สามารถกระทำลับหลังจำเลยได้ กรณีที่ห้าเป็นการสืบพยานไว้ก่อนล่วงหน้า ตามมาตรา 237 ทวิ เพราะเหตุที่พยานจะเดินทางออกนอกราชอาณาจักรไทย ในวันสืบพยานหรือเป็นการยากที่จะนำสืบในภายหลังเพราะที่อยู่อยู่ห่างไกล กรณีนี้ศาลมีอำนาจให้สืบพยานลับหลังจำเลยได้เพราะเป็นความจำเป็นที่เกี่ยวกับการได้มาซึ่งพยานในชั้นพิจารณา เพียงแต่ว่าในกรณีหลังนี้ การชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานต้องรับฟังด้วยความระมัดระวังเพราะเป็นกรณีที่จำเลยไม่มีโอกาสซักค้านพยานที่สืบไว้ก่อนล่วงหน้านั้น อย่างไรก็ดี ในกระบวนพิจารณาคดีอาญาบางประเภท ได้เพิ่มหลักเกณฑ์เพื่อให้สามารถสืบพยานลับหลังจำเลยได้ เช่นในวิธีพิจารณาคดีทุจริต และวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ที่ได้กำหนดขึ้นใหม่ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 28 และ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ. 2559 มาตรา 33 กำหนดข้อยกเว้นที่ศาลจะสืบพยานลับหลังจำเลยเพิ่มจากข้อยกเว้นที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไว้สี่ประการ ประการแรก จำเลยได้รับอนุญาตจากศาลที่จะไม่มาฟังการพิจารณา เพราะเหตุที่จำเลยเจ็บป่วยหรือมีเหตุจำเป็นไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ แต่มีทนายความเข้ามาช่วยเหลือแทน ประการที่สอง จำเลยเป็นนิติบุคคลและศาลได้ออกหมายจับผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคลแล้วแต่ยังจับตัวไม่ได้ ประการที่สาม จำเลยอยู่ในอำนาจศาลแล้วแต่จำเลยหลบหนีไปละศาลได้ออกหมายจับแล้วแต่ยังจับตัวไม่ได้ ส่วนประการสุดท้าย จะเป็นเหตุเดียวกับที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คือ ศาลสั่งให้จำเลยออกนอกห้องพิจารณาในระหว่างการพิจารณาสืบพยาน แต่ได้เพิ่มกรณีที่จำเลยออกนอกห้องพิจารณาโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล กรณีที่กำหนดไว้ทั้งสี่กรณีนี้เห็นได้ว่า เป็นกรณีที่การพิจารณาลับหลังเกิดจากเหตุจำเป็นอันเกิดจากตัวจำเลยเป็นหลัก และเพื่ออำนวยความยุติธรรมที่ต้องการความรวดเร็ว และเป็นคดีที่รัฐในความสำคัญในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเป็นการเฉพาะ ดังนั้นหากเหตุอันทำให้จำเลยไม่อาจฟังการพิจารณาและสืบพยานเกิดเพราะจำเลยสมัครใจไม่มาหรือเป็นเพราะจำเลยขัดขวางหรือจงใจประวิงคดี การพิจารณาควรจะสามารถดำเนินการต่อไปได้ เพื่อความเป็นธรรมในการดำเนินคดีอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดี การสืบพยานลับหลังจำเลยในเหตุทั้งสี่กรณีที่กล่าวไว้ข้างต้น เมื่อเทียบกับเหตุห้าประการที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดข้อยกเว้นไว้แล้ว ถือว่าเป็นเหตุที่กว้างกว่ามาก โดยเฉพาะกรณีนิติบุคคลเป็นจำเลยและไม่มีผู้แทนมาฟังเพราะผู้แทนนิติบุคคลหลบหนี หรือในกรณีที่ไม่มาศาลเพราะเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ ก็เป็นเหตุที่กว้างมาก หากบังคับใช้กฎหมายอย่างกว้างไม่ได้มีการกลั่นกรองให้ดีจะเป็นเหตุให้การสืบพยานลับหลังจำเลยเป็นหลักไป ส่วนการที่จำเลยหลบหนี หรือออกนอกห้องพิจารณาโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลเห็นได้ว่าเป็นเหตุที่เกิดจากตัวจำเลยเอง ซึ่งกรณีหลบหนีเป็นประเด็นที่เห็นว่าได้ จำเลยจงใจที่จะไม่มาฟังการพิจารณา ดังนั้นเหตุดังกล่าวจึงไม่ควรต้องให้กระบวนพิจารณาหยุดไป มิฉะนั้นแล้ว จำเลยก็จะได้ประโยชน์จากการหลบหนีของตน ซึ่งในบางประเทศ เช่นสหรัฐอเมริกาถือว่า เป็นกรณีที่จำเลยสละสิทธิในการที่จะซักค้านพยานโจทก์ การพิจารณาจึงสามารถดำเนินการต่อไปได้ ข้อน่าคิดว่า หากจะนำเหตุทั้งสี่ประการนี้มาใช้ในคดีอาญาโดยทั่วไป โดยกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพิ่มเติม จะทำให้หลักการตามมาตรา 172 ที่ต้องพิจารณาโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลย ผ่อนคลายไปเพียงใด เพราะกรณีคดีทุจริตหรือค้ามนุษย์ เป็นคดีที่รัฐต้องการปราบปรามอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ส่วนคดีอาญาทั่วไป เป็นคดีที่ผู้กระทำความผิดไม่ได้มีลักษณะที่ต้องดำเนินการอย่างเฉียบขาด และในบางกรณีก็ไม่ได้มีความตั้งใจที่จะหลบเลี่ยงคดีโดยอาศัยช่องที่ว่าเมื่อไม่มาฟังการพิจารณาก็จะดำเนินไม่ได้ ดังนั้นหากจะนำข้อยกเว้นทั้งสี่ประการมาใช้กับจำเลยในคดีอาญาโดยทั่วๆ ไป ควรมีข้อพิจารณาว่า ข้อยกเว้นบางกรณีที่กำหนดไว้ เช่น นิติบุคคลเป็นจำเลยแต่ผู้แทนนิติบุคคลหลบหนี หรือกรณีที่มีความเจ็บป่วยและข้ออนุญาตศาลที่จะไม่มาศาล ควรเป็นกรณีที่จำเป็นจริงๆ มิฉะนั้นแล้วการสืบพยานลับหลังจำเลยจะทำให้จำเลยเสียสิทธิในการตรวจสอบพยานหลักฐานและไม่ได้รับหลักประกันในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาตามมาตรฐานสากล