แสงไทย เค้าภูไทย ขณะที่อัตราเติบโตของจีดีพีติดลบติดต่อกัน 2 และอาจจะ 3 ไตรมาสเพราะตลาดส่งออกสินค้าสำคัญ ถูกแย่ง โดยเฉพาะข้าว เหตุค่าบาทแข็งเกินค่าแท้จริงจนเสียเปรียบด้านราคาสินค้าไทยในตลาดโลกโดนคู่แข่งหน้าใหม่คือเวียดนามแซงไปไกล นอกจากค่าบาทแข็งจนข้าวไทยแพงแล้ว คุณภาพข้าวไทยยังลดลง เหตุภัยแล้งและการพัฒนาพันธุ์และการผลิตหยุดนิ่ง ขณะที่เวียดนามก้าวหน้าเร็วมาก จนทำท่าจะเป็นคู่แข่งสำคัญของข้าวบาสมาติของอินเดียที่ครองอันดับหนึ่งของโลก นอกจากบาทจะแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯที่ใช้เป็นอัตราแลกเปลี่ยนกำหนดราคาหลักแล้ว เวียดนามยังแทรกแซงค่าด่องจนทำให้ค่าอ่อนเพื่อความได้เปรียบทางการค้าอีกด้วย ขณะที่ไทยเน้นเสถียรภาพเงินบาท แต่เวียดนามสามารถลดค่าด่องได้แทบจะหัวเดือนท้ายเดือน นอกจากเสียเปรียบด้านค่าเงินแล้ว ด้านราคาก็ยังเสียเปรียบด้วย เพราะภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตข้าวในประเทศลดลง ยังผลให้ราคาข้าวภายในประเทศแพงขึ้น ผู้ส่งออกจำต้องขายข้าวแพงตามเนื่องจากต้นทุนซื้อข้าวสูง อย่างไรก็ดี ตัวการสำคัญที่สุดที่ทำให้ไทยเสียตลาดข้าวรวมถึงสินค้าส่งออกอื่นๆก็ยังคงเป็นค่าเงินบาทเหมือนเดิม ค่าเงินบาทปัจจุบันเคลื่อนไหวที่ 31.04-31.58 บาท/ดอลลาร์( 1 -26 ส ค ) แต่ค่าแท้จริงแล้ว บาทถูกกว่านี้มาก คือประมาณ 5 บาทถึง 8.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หากคำนวณด้วยดัชนีค่าเงินบาท (Nominal Effective Exchange Rate, NEER) กับดัชนีค่าเงินที่แท้จริง (Real Effective Exchange Rate, REER)แล้ว จะไม่ใช่ระดับ 31.00-32.00 ตามที่เป็นอยู่ โดยใช้ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยย้อนหลัง25 ปี (2537-2562 ) จะได้ค่าเฉลี่ยแท้จริงของดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในระดับ 38.5 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ ดัชนีค่าเงินที่แท้จริง (REER) อยู่ในระดับที่ 35 บาท ถ้าเป็นอัตราแลกเปลี่ยนระดับนี้ ราคาข้าวไทยจะถูกลง 15-27% ทีเดียว จึงไม่แปลกที่เวียดนามที่เคยส่งออกข้าวได้ในสัดส่วน 16-18% เมื่อปีก่อนๆกลับแซงไทยด้วยสัดส่วนราว 20% ต้นๆโดยมีกัมพูชากับเมียนมาตอดนิดตอดหน่อยทำให้สัดส่วนข้าวไทยในตลาดโลกลดลงเหลือราว 20% คิดเป็นปริมาณราว 6 ล้านตัน ไทยเคยขายข้าวได้ราคา 40-50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ข้าวเวียดนามราคาถูกกว่าราว 10 ดอลลาร์ต่อตัน ลูกค้าเชื่อถือข้าวไทยในด้านคุณภาพยังคงซื้ออยู่ แต่เมื่อเวียดนามพัฒนาพันธุ์ข้าวดีขึ้นซ้ำขายในราคาเดิม เหตุจากลดค่าด่อง ลูกค้าก็เลยหันไปซื้อข้าวดีราคาถูกแทน นี่คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไทยเสียตลาดข้าว ยังไม่นับสินค้าส่งออก 10 อันดับแรกที่เราถูกแย่งตลาดเพราะค่าบาทแข็ง จะทำอย่างไรให้ค่าบาทอ่อน ? เลิกฝันร้ายวิกฤติการณ์ต้มยำกุ้ง 2540 เสียที เพราะหากยังฝังใจเรื่องค่าบาทถูกโจมตีด้วยสาเหตุขาดเสถียรภาพ เราก็ยังคงเสริมเสถียรภาพค่าบาทไม่ผ่อนหรือหย่อนความตึงลงมา ทำให้บาทขาดความยืดหยุ่นตามธรรมชาติ ขณะที่ทั่วโลกลดอัตราดอกเบี้ยกันโครมๆ แต่ไทยยังห่วงหน้าพะวงหลัง ดอกเบี้ยนโยบายของไทยปัจจุบัน 0.50บาทขณะที่สหรัฐ 0.00-0.25% จึงไม่แปลกที่เงินจะไหลเข้าไทยในรูปของการลงทุนในตราสารหนี้ นักลงทุนต่างชาติสามารถปั่นค่าเงินบาทได้ตามที่ต้องการทั้งด้วยเงินสดและตราสารอนุพันธุ์ ครอบงำเส้นอัตราผลตอบแทน(Yield Curve) ที่แม้ กนง.จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ นับแต่สิ้นปี 2562 เป็นเวลา 6 เดือน ฝรั่งทำธุรกรรมอนุพันธ์ดอกเบี้ยมูลค่า 650,000 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนไทยทำแค่ 110,000 ล้านบาทเท่านั้น เงินที่ไหลเข้ามาลงทุนและนำกำไรกลับไปนี้ หนุนให้ค่าบาทแข็งขึ้นมา 1.3% นับแต่ 31 ธันวาคม 2562 เป็นเช่นนี้แล้ว ค่าบาทจะไม่แข็งถึง 5-8.50 บาท/ดอลลาร์เกินค่าแท้จริงได้ไง ?