รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต “ความรู้...ไม่เคยหยุดนิ่ง” ! แต่จะปรับเปลี่ยน พัฒนา หรือต่อยอดไปมากแค่ไหน ? เราจะตามทันหรือไม่ ? ล้วนเป็นคำถามที่จะมีคำตอบทยอยออกมาแบบไม่จบสิ้น ถึงขนาดที่ว่าตอบยังไม่ทันจะจบประโยคก็ดูเหมือนว่ามี “การเปลี่ยนแปลง” อีกแล้ว ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดในแวดวงของ “นักบริหาร” ก็คือกลไกแห่งการบริหารมืออาชีพที่มีคำกว้างๆเกี่ยวกับ “การบริหารการเปลี่ยนแปลง” ที่เน้นอยู่ตลอดเวลาว่าต้องทันสมัยทันการณ์และสามารถรับมือได้ตลอดเวลา ทักษะของผู้บริหารตั้งแต่อดีตกาลระบุไว้ 3 อย่าง คือ ทักษะด้านการทำงาน ด้านมนุษยสัมพันธ์และทักษะด้านความคิด แค่นี้พอหรือไม่ ? ต้องเพิ่มทักษะอะไรอีก? ...ทักษะด้านดิจิทัล...ทักษะด้านภาษา ฯลฯ “ทรัพยากรในการบริหาร” ดูจะเพิ่มขึ้นแบบ “โตวันโตคืน” หรืออาจจะบอกว่าเพิ่มแบบอินฟินิตี้...ไม่มีที่สิ้นสุด เริ่มตั้งแต่ 4 M คน(Man) เงิน(Money) วัสดุ( Material) การจัดการ ( Management) เพิ่มมาเป็น 8 M โดยเพิ่มตลาด (Market) เครื่องจักร (Machine) วิธีการทำงาน (Method) และ เวลา (Minute) เพิ่มเพราะอะไร ? ท่านผู้อ่านคงเดาเหตุผลได้ไม่ยากนัก (ก็เพราะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาน่ะซิ) “M”สรุปจบแค่นี้ใช่หรือไม่ ?...โปรดติดตามอ่านจนจบนะครับ ! จะได้สรุปด้วยตัวเอง คงต้องย้อนกลับมาดูสาระสำคัญของ “การบริหาร” ที่ระบุว่าเป็นกระบวนการดำเนินงานอย่างมีศิลปะในการใช้คนและทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อให้งานบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ โดยจะต้องยึดหลัก ประหยัด มีประสิทธิผล ประสิทธิภาพ เกิดความเป็นธรรมตามหลักธรรมาภิบาลและสร้างชื่อเสียงเกียรติยศจากการบริหารนั้น ๆ “บริหาร” อย่างไร ? ให้ได้ผลดีที่สุด...ต้องมีหลัก มีแนวคิด รวมทั้งแนวทางการบริหารที่ไม่หลงทาง แนวคิดของ POSDCORB ซึ่งเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กองทัพสหรัฐฯได้รวบรวมนักวิชาการประเมินข้อผิดพลาดในการบริหารจัดการกองทัพ ได้กลายมาเป็นแนวคิดแรก ๆ ที่ถูกกำหนดให้ผู้บริหารต้องปฏิบัติ P =Planing(การวางแผน) O = Organization(การจัดการองค์กร) S = Staffing (การจัดกำลังคน) D = Directing (การอำนวยการ) Co = Coordinating (การประสานงาน) R = Reporting (การรายงาน) B = Budgeting (การงบประมาณ) แค่นี้ก็น่าจะพอ...อย่าเพิ่งด่วนสรุป !?! ยังมีอีก(มาก)... จากนั้นก็มีการประยุกต์ การต่อยอด จนเหมาะสมกับการบริหารของแต่ละองค์กร และสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เช่น POSDCIR ที่เพิ่มตัว I คือ Innovation (การสร้างสรรค์สิ่งใหม่) เข้ามาเติมเต็ม ! เพื่อให้การบริหารสามารถที่จะบริหารทรัพยากรได้แบบ “เอาอยู่” การเพิ่มดังกล่าวเพื่อพร้อมที่จะรับมือ “การบริหารทรัพยากร” ที่มีส่วนขยายแบบไม่มีที่สิ้นสุดจึงเกิดการต่อยอดจาก 8 M มาเป็น 11 M โดยเพิ่ม M(Message) = การบริหารข้อมูลข่าวสาร M(Mediation) = การประสานงานแบบประนีประนอม และ M (Measurement)= ประเมินผลการปฏิบัติงาน โดยวาดหวังให้เป็นการบริหารที่ครบวงจร ถ้าถามว่า..จะมี M เพิ่มอีกมั้ย ตอบได้อย่างเต็มปากเต็มคำได้เลยครับว่า“มีแน่นอน” (ผู้อ่านหลายท่านแอบเติม M เข้ามาแล้ว !) ยิ่งมาเจอ โควิด-19 ที่ทำเอาโลกนี้วุ่นวายไม่ใช่น้อย มีหรือจะไม่มีเทคนิควิธีการบริหารที่จำเป็นต้องเพิ่ม M เข้ามา…จะเพิ่มอีกกี่ M (ไม่มีใครจะตอบได้) ข้อเขียนนี้อยากที่จะย้ำว่า... “ยิ่งมองผ่านข้อมูล” ในอดีตลงให้ลึกมากเท่าไร ? โอกาสที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงยิ่งเพิ่มมากขึ้นทวีคูณ ถ้าไม่ประมาท มองข้อมูลแล้วครุ่นคิด (ไม่ใช่ผ่านมาแล้วให้ผ่านไปเฉยๆ) ต่อให้มีทรัพยากรนับร้อยนับพันประเภท ผู้บริหารอย่างเราก็จะรับมือได้ไม่ยากเย็นอยู่แล้ว !