ทวี สุรฤทธิกุล ถ้าพลเอกประยุทธ์ “มีอันเป็นไป” แล้วใครจะ “ขึ้น” หรือ “เข้า” มาแทน? ในสัปดาห์ก่อนได้นำเสนอว่า พลเอกประยุทธ์อาจจะถูกรัฐประหารได้ ที่ชัดเจนที่สุดคือขบวนการปลดแอกต่างๆ ที่เบื่อลุงตู่เต็มทน โดยที่อาจจะมี “งูเห่า” ในกองทัพ อาศัยสถานการณ์กระแสสังคมที่เบื่อลุงตู่นี้ออกมายึดอำนาจเสียเอง แต่กระนั้นก็ต้องคำนวณ “ล้มฟ้าอากาศ” ให้ดี เพื่อที่จะทำให้ทุกสิ่งเป็นไปได้อย่างที่ต้องการ และยังค้างประเด็นอยู่ว่า พลเอกประยุทธ์จะต่อสู้กับสถานการณ์นี้ได้หรือไม่ และที่สุดถ้าหากทนไม่ได้จะลาออกเองอย่างสง่างาม หรือปล่อยให้เขาบีบอย่างน่าสงสาร ตามความเข้าใจของกระแสสังคมส่วนหนึ่ง ว่าทำไมพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา “จำเป็น” ต้องอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ เชื่อกันว่าเป็นเพราะ “สถานการณ์บีบบังคับ” มาตั้งแต่แรก ในวันที่ทำรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ก็เพื่อแก้ไขสภาวะ “อะนาร์กี้” (Anarchy) หรือ “ประชาปั่นป่วน” ที่ประเทศไทยในตอนนั้นเหมือนไม่มีรัฐบาล และมีกลุ่มประชาชนขัดแย้ง ปะทะต่อสู้กัน โดยหวังที่จะอยู่ในอำนาจเพียงเวลาสั้นๆ จัดระเบียบโครงสร้างต่างๆ เช่น เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต่างๆ เสร็จแล้ว ก็จะให้มีเลือกตั้ง ให้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นปกครองต่อไป แต่ทันทีที่ คสช.(ซึ่งก็คือองค์กรทางทหารที่มีพลเอกประยุทธ์เป็นผู้นำ)ล้มร่างรัฐธรรมนูญในต้นปี ๒๕๕๘ ก็ทำให้สังคมเริ่มสงสัยว่า นี่คือสัญญาณที่บอกว่าจะมีการสืบทอดอำนาจ กระบวนการต่อต้านพลเอกประยุทธ์จึงก่อตัวขึ้น แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรพลเอกประยุทธ์ได้ จนประเทศไทยต้องสูญเสีย “พระมิ่งขวัญแห่งชาติ” ในปี 2559 ก็ยิ่งทำให้สังคมไทยต้องเชิดชูพลเอกประยุทธ์ให้อยู่รักษาความสงบเรียบร้อยนั้นต่อไป ซึ่งนักสังเกตการณ์ทางการเมืองบางคนกล่าวว่า สังคมไทย “ไม่มีทางเลือก” ที่จำเป็นจะต้องให้ทหารคุ้มครองบ้านเมืองในระยะนั้น เพราะทหารคือองค์กรที่เข้มแข็งและเป็นที่เชื่อมั่นได้มากที่สุด ในการจัดการสังคมไทยในภาวะหัวเลี้ยวหัวต่อดังกล่าว และก็เป็นเหตุผลเดียวกันที่กำหนดให้ “พลเอกประยุทธ์และคณะทหาร” จำเป็นต้องอยู่รักษาบ้านเมืองต่อไป ภายหลังพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ และการสืบสันตติวงศ์ในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ปัจจัยของ “เหตุจำเป็น” ข้างต้น คือเหตุผลที่ทหารยังคงมีความเป็นปึกแผ่น และร่วมช่วยกันในการประคับประคองประเทศในช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่ในระบบราชการที่ต้องมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนตำแหน่งต่างๆ ในกองทัพ ร่วมกับกระแสสังคมที่เปลี่ยนไป ในตำราการบริหารก็มีทฤษฎีบอกว่า ทัศนคติและพฤติกรรมของผู้นำในองค์กรก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปได้ อย่างเช่น กองทัพไทยในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่มีความขัดแย้งระหว่าง จปร.5 กับ จปร.7 อันส่งผลกระทบต่อชะตากรรมของผู้นำทหารในคณะ รสช. ในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 นั้น มีผู้ให้ความเห็นว่ากองทัพไทยในยุคนี้ก็มีการ “ปรับเปลี่ยน” โครงสร้างของกองทัพอยู่บางส่วน นับตั้งแต่การขึ้นครองราชของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 รวมถึงแนวคิดของ “การเมืองใหม่ – ประชาธิปไตยใหม่” ที่แทรกซึมเข้ามาในหมู่นายทหารที่จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อย(ของทุกเหล่าทัพ)ภายหลังความวุ่นวายทางการเมืองไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2548 เป็นต้นมานั้น (ส่วนใหญ่จะมีอายุราชการประมาณ 10-15 ปี และมียศในเหล่าทัพตั้งแต่ร้อยเอก เรือเอก และเรืออากาศเอก ขึ้นไป) ซึ่งถือว่าอยู่ในวัยของ “ยังเติร์ก” หรือนายทหารหนุ่มที่คุมกองกำลังในส่วนต่างๆ ของกองทัพ ที่ได้ผ่านการบ่มเพาะประสบการณ์ทางการเมืองมาในภายใต้ความวุ่นวายทางการเมืองของการเมืองไทยตลอดเวลา 15 ปีนั้น รวมถึงการรัฐประหารโดยคณะทหาร 2 ครั้งที่ผ่านมานั้นด้วย จึงเชื่อกันว่า “ทหารยุคใหม่” น่าจะมีการปรับเปลี่ยนทัศนคติต่างๆ ไปพอสมควร และอาจจะนำมาซึ่งการกระทำหรือการแสดงออกบางอย่างที่แตกต่างจากนายทหารรุ่นเก่า จนกระทั่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอนาคตนั้นด้วย ตามความเชื่อ “ทหารเปลี่ยนไป” และด้วยเหตุผลว่าทหารยังคง “จำเป็น” จะต้องปกครองบ้านเมืองต่อไป ร่วมกับ “แรงบีบ” ทางการเมืองจากกลุ่มสังคมต่างๆ นำมาซึ่งข้อสันนิษฐานที่ว่า ผู้นำทหารคนใหม่ที่มาดำรงตำแหน่งสืบแทนพลเอกประยุทธ์นั้น จะต้องเป็นที่ยอมรับของนายทหารรุ่นใหม่เหล่านั้นด้วย โดยกองทัพจะมีสภาพคล้ายๆ กันกับยุคที่พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ กำลังจะหมดอำนาจ แล้วก็มีนายทหารรุ่นใหม่(ในยุคนั้น)ผลักดันพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ขึ้นมาแทน โดยเชื่อกันว่าพลเอกเปรมจะปกป้องสถาบันได้ดีที่สุด เนื่องด้วยเป็นผู้ที่ไว้วางพระราชหฤทัยมากที่สุด ถ้าเป็นไปตามแนวคิดนี้ คนที่จะมาแทนพลเอกประยุทธ์ก็ยังจะเป็นนายทหารในแบบเดียวกับพลเอกเปรม (จึงไม่น่าสงสัยว่าทำไมพลเอกประยุทธ์จึงใช้ “กระบวนยุทธในการบริหาร” คล้ายๆ กันกับพลเอกเปรม เช่น ลอยตัวอยู่เหนือความขัดแย้ง และภาพของความจงรักภักดี เป็นต้น เพียงแต่ว่าพูดมากและอารมณ์ค่อนข้างฉุนเฉียว แตกต่างจากพลเอกเปรมมาก) คือจะต้องเป็นที่ยอมรับทั้งภายในและภายนอกกองทัพ รวมถึงต้องเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย อย่างไรก็ตามในสภาพของการเมืองยุคใหม่ ที่คนรุ่นใหม่กำลังเติบโตขึ้นมาแทนที่คนรุ่นเก่าๆ (เช่นเดียวกันที่ทหารมีทหารยังเติร์ก คนรุ่นใหม่ก็มีกระบวนการปลดแอกต่างๆ นี้เป็น “ยังบลัด” หรือ “ผู้นำเลือดใหม่” เหมือนกัน) น่าจะเป็น “ปัจจัยที่สำคัญที่สุด” ที่จะต้องมี “ฉันทามติ” ให้กับการขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำประเทศของผู้นำทหารที่จะขึ้นมาสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปนั้นด้วย ทหารยังมีความจำเป็นในการปกป้องสถาบัน เช่นเดียวกันกับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการจะเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ ดังนั้นการเมืองไทยในวิกฤติหัวเลี้ยวหัวต่อนี้จึงเกิดปัญหาขึ้นว่า จะสร้างความสมดุลระหว่างปัจจัยความจำเป็นของกองทัพกับปัจจัยความต้องการของประชาชนนี้อย่างไร ถ้าตกลงกันไม่ได้ ก็คงจะแยกกันอยู่ไปอย่างนี้ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะจบลงอย่างไร