ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ วันหนึ่งๆ มีโอกาสพบผู้คนมากมาย ได้สนทนาและเก็บซับมากเรื่องราวราวน่าสนใจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่นเย็นย่ำวันหนึ่งระหว่างเดินเก็บภาพกลางเมืองยะลา ผู้เขียนมีโอกาสสนทนากับ “ซิงค์ ลันดาเว” ผู้นับถือซิกข์ ศาสนาที่ถือกำเนิดขึ้นในราวศตวรรษที่ 16 ทางตอนเหนือของอินเดีย จากคำสอนของ “นานัก” และคุรุอีก 9 องค์ ศาสนาซิกข์นับเป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากเป็นอันดับที่  9 ของโลก ปัจจุบันมีผู้นับถือมากกว่า 23 ล้านคน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในรัฐปัญจาบ ของอินเดีย แต่ ซิงค์ ลันดาเว เกิดบนผืนแผ่นดินไทย มีหัวใจเป็นสากลทางศรัทธาและความเชื่อ ผ่านการไหลล่องของผู้คนที่อพยพตามสายธารประวัติศาสตร์และเส้นทางการการค้า การออกผจญภัยของเหล่านักแสวงหาในอดีต จากปากีสถาน อินเดีย สู่มาเลเซีย และสุดท้ายสู่พื้นที่ชายแดนใต้ จาว ยู กัว นักเดินทางจากจีนแผ่นดินใหญ่ เขียนบันทึกเกี่ยวกับการแต่งกายของพระราชาและพลเมืองในอาณาจักรโบราณนาม “ลังกาสุกะ” หนึ่งในต้นธารประวัติศาสตร์แห่งโลกมลายูว่า “พระราชาของประเทศนี้ทรงแต่งกายด้วยผ้าไหม และเดินเท้าเปล่า ประชากรของประเทศนี้ ไว้ผมยาวและแต่งกายด้วยผ้าไหมเช่นเดียวกัน” ส่วนท่านฟากิฮ์ อาลี กล่าวในตาริคปาตานี (Tarikh Patani) ว่า “คนในลังกาสุกะ ไม่สวมเสื้อ” ซึ่งสอดคล้องกับที่ครั้งหนึ่ง แสง พัธโนทัย เขียนบทความภาษาอังกฤษชื่อ ‘The Envoy from Langkasuka’ บอกเล่าเรื่องที่มีโอกาสไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ที่ เทียน อัน เหมิน และพบเห็นภาพประวัติศาสตร์ภาพหนึ่งซึ่งมีคำบรรยายใต้ภาพว่า เป็นราชทูตจากอาณาจักรลังยาสิว (Lang-ya-hsiu) หรือ ลังกาสุกะ มีลักษณะล่ำเตี้ย ผมหยิก ใบหน้ากลม ผิวกายมีสีคล้ำ นุ่งผ้ายาวข้างล่างแบบอินเดีย และมีผ้าพันพาดหัวไหล่ มีกำไลสวมข้อเท้าทั้งสอง จึงตั้งข้อสันนิษฐานว่า ในอดีตนั้นการแต่งกายของพลเมืองหรือชนชั้นนำของลังกาสุกะ แต่งกายด้วยผ้านุ่งโจงกระเบน มีผ้าพันกายพาดไหล่ และสวมกำไลบนข้อเท้า คล้ายกับนักบวชในศาสนาพราหมณ์ของอินเดีย ด้วยความที่ลังกาสุกะมีสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน ทำให้ย่อมได้รับอิทธิพลด้านต่างๆ จาก “อารยธรรมจีน” ด้วย นอกจากเหนือการรับอิทธิพลของ “อารยธรรมฮินดู-พราหมณ์” จากอินเดีย ตราบกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ ๑๐ อาณาจักรลังกาสุกะ ตกอยู่ในอำนาจของอาณาจักรศรีวิชัย ชื่อ “ลังกาสุกะ” ถูกบันทึกไว้เป็นครั้งสุดท้ายโดยพ่อค้าชาวอาหรับในปี ค.ศ. 1511 ก่อนจะจมหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์โลก และปรากฏชื่อ “ปาตานีดารุสสาลาม” เข้ามาแทนที่ ก่อนจะผันผ่านกาลสมัยมาเป็น ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ในที่สุด ประวัติศาสตร์เปลี่ยน ผู้คนเปลี่ยน ยุคสมัยผ่าน แต่ดูเหมือนว่าร่องรอยต่างๆ ยังคงปรากฏ กล่าวเฉพาะความเป็นอารยธรรมฮินดู-พราหมณ์ หรือหลักศรัทธาที่เป็นสายธารจากอินเดีย ดูเหมือนว่า “คุรุดวารา” หรือ “วัด” ที่ชื่อว่า “คุรุดวาราศีคุรุสิงห์สภายะลา” เป็นสถานที่สำคัญของ “กลุ่มชาวซิกข์” เพียงแห่งเดียวที่ปรากฏอยู่ที่ถนนรวมมิตร ใจกลางเมืองยะลา และในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในฐานะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ในการสักการบูชาพระเป็นเจ้า “คุรุครันซาฮิป” ผู้ยิ่งใหญ่ “คุรุดวาราศีคุรุสิงห์สภายะลา” ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2493 พร้อมๆ กันกับอีกหลายจังหวัดในประเทศไทย เช่น กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ เชียงราย ชลบุรี ขอนแก่น ลำปาง นครพนม นครราชสีมา นครสวรรค์ ปัตตานี ภูเก็ต สมุทรปราการ สงขลา ตรัง อุบลราชธานี และ อุดรธานี บุญส่ง ลอยสุวรรณ์ นักวิชาการอิสระ บันทึกไว้ใน “ผลึกเพชรที่ทรงคุณค่าในวัดซิกข์ “คุรุดวาราศีคุรุสิงห์สภายะลา” ว่า คุรุดวาราศีคุรุสิงห์สภายะลา เป็นศูนย์รวมของชาวซิกข์ในจังหวัดยะลา แต่เปิดกว้างให้ทุกศาสนิกเข้าไปเรียนรู้ได้ เพราะศาสนาซิกข์ไม่ได้แบ่งชั้นวรรณะ ไม่มีขอบเขตของความศรัทธา ต้องการให้ผู้ที่ศรัทธาในหลักธรรมคำสอนที่ปรากฏอยู่ในพระมหาคัมภีร์ได้ศึกษาคำสอนที่เป็นอมตะ ชาวซิกข์ในยะลาให้ความสำคัญกับการสวดมนต์ ทุกวันจะต้องสวดให้ครบ 5 บท ช่วงเช้า 3 บท ก่อนตะวันตกดิน 1 บท และก่อนนอน 1 บท ซึ่งจะเข้าไปสวดในวัดพร้อมกันหรือจะสวดในบ้านก็ได้ แต่ละวันจะไม่ซ้ำกัน เพราะบทสวดในพระมหาคัมภีร์มีจำนวน 1,430 บท ทุกครั้งที่สวดมนต์จะได้เรียนรู้ธรรมะไปในตัว ทุกบทเป็นพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าที่พระศาสดาได้สั่งสอนไว้ ชาวซิกข์ในยะลาจะไปรวมตัวกันที่วัดเพื่อฟังธรรม แต่ก่อนที่จะฟังธรรมจะมีการรับประทานอาหารร่วมกันเสียก่อน เพราะเชื่อว่าเมื่อทุกคนอิ่มท้องจะฟังธรรมอย่างเข้าใจ ความเชื่อในเรื่องนี้ทำให้ชาวซิกข์มีความมานะอดทน ขยันขันแข็งในการทำงาน เพื่อให้มีกินและสามารถอยู่ในศีลในธรรมได้ พระมหาคัมภีร์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดที่ทุกบ้านต้องมี เพราะเป็นมงคลสำหรับบ้านและเป็นมหาคัมภีร์ของชีวิต ผู้ใดปฏิบัติตามทุกข้อทุกประการ จะอยู่อย่างมีความสุข ด้วยเหตุนี้ทุกบ้านจะต้องวางพระมหาคัมภีร์ไว้ในที่สูงและเหมาะสม” ซิกข์ยึดมั่นในความเป็นหนึ่งเดียว มีความเป็นภราดรภาพ ซิกข์ทั่วโลกจะได้รับการสั่งสอนว่ามนุษย์เกิดจากพระเจ้าองค์เดียวกัน ภายใต้หลักความจริงของชีวิตอย่างเดียวกัน ทุกอย่างเป็นไปตามพระประสงค์ของพระเป็นเจ้า ทุกคนเท่าเทียมกัน ซิกข์ไม่มีนโยบายจะเผยแผ่ศาสนาให้ขยายมากขึ้น เพราะเชื่อว่าทุกคนมีศาสนามีศาสดาของตนเองอยู่แล้ว ให้ปฏิบัติตามหลักธรรมที่นับถืออยู่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ ไม่ปฏิเสธความเชื่อและขนบของศาสนาอื่นๆ พร้อมเข้าร่วมบุญกับทุกศาสนาได้ด้วยความเต็มใจ เพราะมองเห็นความจริงจากสังคมและชีวิตมาตั้งแต่ครั้งชมพูทวีปยังมีความเหลื่อมล้ำขัดแย้งกัน จนต้องรบราฆ่ากัน เนื่องจากความมีอัตตาว่าตนต้องเหนือกว่าผู้อื่น ดีกว่าผู้อื่น ทุกวันนี้ ชาวซิกข์ในจังหวัดยะลามีจำนวนไม่มาก แต่ก็รวมตัวกันได้อย่างเหนียวแน่น สามารถดำรงอยู่ในสังคมที่มีความต่างได้อย่างปราศจากข้อขัดแย้ง ไม่มีปัญหาใดๆ ในการอยู่อาศัยร่วมกันในสังคม “พหุวัฒนธรรม” “พระเจ้าของทุกศาสนาให้มนุษย์ทุกอย่าง และให้การรักษาทุกประการ แต่เว้นสิ่งเดียวที่ไม่รักษาให้ นั่นก็คือ ชีวิต ท้ายสุดของมนุษย์ทุกคนจึงต้องพานพบความตายแน่นอน” “ซิงค์ ลันดาเว” กล่าวกับผู้เขียนก่อนลาจากกัน โดยเน้นย่ำว่า ตนเองเกิดบนแผ่นดินไทย หากทว่าหัวใจเป็น “สากล” ทางศรัทธาและความเชื่อ และเชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์ของทุกคนที่มีความรัก ความเมตตา ต่อกัน