พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ ธอมัส เจฟเฟอร์สัน เคยกล่าวไว้นานแล้วว่า ความยุติธรรมย่อมเกิดจากสำนึกในเรื่องความยุติธรรมของผู้ที่ต้องการความยุติธรรม (It is reasonable that everyone who asks justice should do justice.) อีกนัยหนึ่งก็คือเมื่อต้องการความยุติธรรมให้กับตนเองหรือสังคม ตัวผู้ต้องการความยุติธรรมก็ต้องเป็นผู้ที่รักความยุติธรรมด้วยเช่นกัน เรื่องนี้ตรงกับหลักการเชิงตรรกะของชาวพุทธที่ว่า สัตว์ทุกชนิดรักชีวิตของมันเช่นเดียวกับคน เมื่อรู้อย่างนี้แล้วจึงไม่ควรไปเบียดเบียนทำร้ายสัตว์ต่างๆ ความยุติธรรมก็เช่นเดียวกัน เมื่อเราเองต้องการความยุติธรรมก็แสดงว่าคนอื่นก็ต้องการความยุติธรรมเช่นเดียวกันกับเรา และผลจากการที่สังคมมีความยุติธรรมถ้วนหน้าเป็นไปตามที่ Ralph Nader นักการเมืองอเมริกันเคยกล่าวไว้ว่า “เพียงแค่สังคมมีความยุติธรรมเท่านั้น อำนาจรัฐก็แทบหมดไปโดยสิ้นเชิง” ผู้ที่มองความยุติธรรมว่า ความยุติธรรมสัมพันธ์กับมนุษย์ในเชิงบวก คือ เพลโต้ เขากล่าวว่าความยุติธรรมเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตของพลเมืองของรัฐอย่างธรรมดาสามัญ เพลโต้ให้น้ำหนักต่อความเชื่อมั่นต่อจิตสำนึกของมนุษย์ เขาเชื่อว่าอย่างไรเสียหากไม่มีผลประโยชน์เข้ามาพัวพันกับตัวของมนุษย์ ปล่อยให้สามัญสำนึกของมนุษย์ทำงานเอง มนุษย์ส่วนใหญ่ย่อมมีความยุติธรรมโดยตัวของพวกเขาเอง หมายความว่า มนุษย์จะไม่ทรยศต่อจิตสำนึกความยุติธรรมของตน แต่ที่สังคมมนุษย์กำลังวุ่นในด้านต่างๆ ก็เพราะมนุษย์เข้าไปยุ่งเกี่ยวและมีส่วนได้เสียกับผลประโยชน์ต่างๆ ในสังคม นั่นทำให้มนุษย์สูญเสียความยุติธรรมไปไปจากใจของพวกเขาไป เพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับทุกคนหรือทุกฝ่ายในสังคม ต่อมามนุษย์ได้พยายามสร้างกติกา หรือที่รู้จักกันก็คือ “กฎหมาย” ขึ้นมา เพื่อใช้บังคับใช้กับคนในสังคม แต่ในการสร้างกฎหมายหรือข้อบัญญัติของการอยู่ร่วมกันเพื่อให้สังคมเกิดความยุติธรรมนั้น Marcus Tullius Cicero ปราชญ์ชาวโรมันกลับบอกว่า “ยิ่งมีกฎหมายมากขึ้นเท่าใด ความยุติธรรมก็มีน้อยลงเท่านั้น” ซึ่งหมายความว่า กฎหมายเองเป็นตัวการป่วนความยุติธรรมเสียเอง โดยเฉพาะความยุติธรรมที่มีอยู่ในสำนึกตามธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ ส่วนหนึ่งเพราะกฎหมายเกิดจากความต้องการผูกมัดมนุษย์ไว้ในกฎกติกาเดียวกัน อีกส่วนหนึ่งเพราะกฎหมายถูกร่างขึ้นแบบที่ไม่เป็นไปตามเจตจำนงของคนหมู่มาก เช่น อาจร่างโดยคนกลุ่มหนึ่งของสังคม เช่น โดยกลุ่มชนชั้นนำในสังคม (elite) เป็นต้น ในมุมมองของปราชญ์ในอดีตนับแต่สมัยกรีก โรมัน เป็นต้นมา พวกเขามีความคิดก้าวหน้ามาก่อนยุโรปสมัยใหม่เสียด้วยซ้ำ ความตกผลึกทางความคิดแสดงให้เห็นถึงหัวก้าวหน้าของพวกเขา ซึ่งเมื่อใคร่ครวญอย่างถึงที่สุดแล้ว แม้กฎหมายจะเป็นประดุจพันธนาการของมนุษย์ในสังคมแต่ละระดับก็ตาม หากแต่เป้าหมาย กลับอยู่ที่ การปลดปล่อยมนุษย์ออกจากพันธนาการต่างๆ หรือ “เสรีภาพ”ของมนุษย์นั่นเอง กฎหมายจึงมีความสำคัญแค่พันธะสัญญาหรือกติกากลางที่ใช้กับมนุษย์ทุกคนในสังคมอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ดังนั้น สังคมจึงยอมรับกฎหมายในแง่สัญญาประชาคม แม้ว่า การใช้กฎหมายมีข้อบกพร่องที่สำคัญคือ ความยุติธรรมหรือความเป็นธรรมในการนำกฎหมายไปใช้บังคับกับคนในสังคมก็ตาม สิ่งตรงข้ามกับความยุติธรรมคือ ความอยุติธรรม ที่เชื่อมโยงกับผลประโยชน์หรือความสมปรารถนาของมนุษย์ แม้มีกติกากลางอยู่ก็ตามแต่เมื่อมีผลประโยชน์ทั้งเชิงปัจเจกและเชิงกลุ่มบุคคล ก็ทำให้การใช้กฎหมายเกิดการเบี่ยงเบนไปตามเจตนาแห่งผลประโยชน์นั้นได้ ยิ่งในสังคมที่ผู้ที่มีผู้ตั้งตนเป็นรัฐาธิปัตย์ด้วยแล้ว สังคมมนุษย์ในสมัยใหม่จึงวางกติกาเพื่อให้เกิดความสมดุลของผลประโยชน์ฝ่ายต่างๆ เริ่มตั้งแต่สังคมขนาดใหญ่อย่าง “รัฐ” หรือแม้กระทั่งในยุคโลกาภิวัตน์ ก็มีทีท่าแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจต่อความยุติธรรมในแง่ของการสร้างกลไกความสมดุลเรื่องการอยู่ร่วมกันของประชาชาติ ซึ่งในสังคมขนาดใหญ่ระดับโลกดังกล่าว ความยุติธรรมได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นและกลายเป็นกระแสโลก มิใช่ว่าประเทศใดจะละเมิดความยุติธรรมตามอำเภอใจอะไรง่ายๆ แม้แต่ประเทศมหาอำนาจ เช่น อเมริกาเองก็ได้พยายามส่งเสริมและกระตุ้นในเรื่องความยุติธรรมต่อนานาชาติ แม้บางประเทศจะไม่ยอมรับมาตรฐานความยุติธรรมตามแบบอเมริกันก็ตาม แต่ก็ต้องยอมรับว่า อเมริกันได้สร้างมาตรฐานความยุติธรรมให้กลายเป็นกระแสร่วมสมัย นั่นก็คือ สำนึกความยุติธรรมสากลภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ดังเพลโต้ได้กล่าวไว้เมื่อนานหลายปีมาแล้ว รัฐธรรมนูญอเมริกันและรัฐธรรมนูญของประเทศในยุโรปส่วนใหญ่ คือสิ่งยืนยันถึงการให้ความเชื่อมั่นของสำนึกความยุติธรรมของมนุษย์ เพราะไม่พยายามใส่รายละเอียดหยุมหยิมไว้ในกฎหมายของรัฐ แต่ได้เว้นช่องว่างใน “การตีความตรงกันในเรื่องจิตสำนึกยุติธรรมของพลเมือง”เอาไว้ หมายความว่า รัฐธรรมนูญนั้นไม่ลงรายละเอียดการบังคับให้ต้องทำและการห้ามไม่ให้ต้องทำมากเกินไป เพราะการลงรายละเอียดดังกล่าวย่อมหมายถึงการเข้าไปใช้ความคิดของผู้ร่างหรือผู้จัดการให้มีการรัฐธรรมนูญฉบับนั้นๆ กำกับพลเมืองผ่านกฎหมายสูงสุด โดยไม่เปิดช่องว่างให้สำนึกยุติธรรมของพลเมืองได้ทำงานอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งหากมองอีกด้านก็จะเห็นว่า ผู้ร่างรัฐธรรมนูญในแบบมีรายละเอียดหยุมหยิมดังกล่าว ไม่เชื่อในสำนึกความยุติธรรมของพลเมือง หรืออาจเป็นได้ว่าพลเมืองของรัฐนั้นๆ มีวัฒนธรรมของความไร้สำนึกด้านความยุติธรรมสอดอยู่ ที่จริงการวางบทบัญญัติหรือกฎหมายรัฐธรรมนูญละเอียดมากขึ้นเพียงใดก็สะท้อนถึงการสกัดกั้นการแสดงออก(พฤติกรรม)ที่เกิดจากจิตสำนึก รัฐยิ่งปกคลุมด้วยตาข่ายกฎหมายถี่มากขึ้นเท่าใด สำนึกในความเป็นตัวของตัวเองในสถานะความเป็นมนุษย์ย่อมน้อยลงเท่านั้น ขณะเดียวกัน ลักษณะของความเป็น “รัฐอำนาจนิยม” จะยิ่งเด่นชัดมากขึ้น ข้อที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งของการปฏิเสธ (ไม่เชื่อ) ต่อสำนึกความยุติธรรมของพลเมืองก็คือ ในรัฐนั้นๆ มักมีการสถาปนาผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ให้เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในด้านต่างๆ เช่น ในด้านกฎหมายก็มีการสถาปนาผู้พิพากษา หรือนิติกร (หรือเนติบริกร) ในฐานะองค์อธิปัตย์ทางด้านกฎหมาย ทั้งนี้เพราะบุคคลผู้มีอำนาจในรัฐรูปแบบดังกล่าวไม่เชื่อในเรื่องสำนึกของพลเมืองที่มีต่อความยุติธรรมว่า จะเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ หากพิจารณาจากแนวคิดของเพลโต้ที่เชื่อมั่นต่อสำนึกความยุติธรรมของปัจเจกชน โดยมีข้อแม้เรื่องการตัดขาดจากผลประโยชน์หรือสายสัมพันธ์ส่วนบุคคลที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับปัจเจกชนดังกล่าว ก็ย่อมแสดงให้เห็นว่าภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวสำนึกความยุติธรรมจะทำงานได้ดีทีเดียว ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ อย่างเช่น พวกเทคโนแครตนั้นต่างถูกฝังหัวในเรื่องประโยชน์นิยมมาไม่มากก็น้อยจากความเชี่ยวชาญและสายสัมพันธ์เชิงผลประโยชน์กับกลุ่มผลประโยชน์รอบตัว ตามระยะเวลาการทำงานของพวกเขา กรณีการใช้คณะลูกขุนซึ่งมาจากบุคคลธรรมดาทั่วไปพิจารณาคดีของศาลอเมริกัน (common law) เป็นกรณีตัวอย่างกรณีหนึ่งของการปฏิเสธลักษณะอำนาจนิยมแบบผู้เชี่ยวชาญ (เช่น ด้านกฎหมาย เป็นต้น) แต่ในขณะเดียวกันแสดงให้เห็นถึงการเชื่อมั่นถึงพลังของความยุติธรรมที่เกิดจากมโนสำนึกของปัจเจกพลเมืองของรัฐ คุณสมบัติของผู้มานั่งอยู่ในคณะลูกขุน ต้องไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับคู่ความ ซึ่งเท่ากับตัดความเกี่ยวข้องเรื่องผลประโยชน์บุคคลหรือองค์กรทิ้งไป รูปแบบดังกล่าวเป็นการปลุกสำนึกความยุติธรรมให้ทำงานได้เป็นอย่างดี นี่คือระบบยุติธรรมอเมริกันที่ใช้กันมานาน ผลที่เกิดจากความไม่เชื่อในสำนึกความยุติธรรมเชิงปัจเจกของฝ่ายกุมอำนาจรัฐ ทำให้ไม่สามารถประเมินเชิงวัฒนธรรมได้ว่าพลเมืองของรัฐนั้นมีสำนึกความยุติธรรมมากเพียงใด ปัญหาเรื่องความยุติธรรมภายในหรือของรัฐจึงไม่ได้รับการแก้ไข เพราะพลเมืองของรัฐไม่เคยรู้รสชาติของการมีเสรีภาพจากการปลดปล่อยให้สำนึกความยุติธรรมได้ทำงานอย่างเต็มที่ หากพลเมืองของรัฐแบบนี้กลับถูกพันธนาการไว้โดยกฎหมายอำนาจนิยมมานาน จนคิดไม่ออกหรือคิดไม่เป็น พวกเขาปล่อยให้รัฐอำนาจนิยมหรือผู้เชี่ยวชาญที่รัฐอำนาจนิยม ตั้งขึ้นมาเป็นฝ่ายคิดแทน(ส่วนมากหนีไม่พ้น เทคโนแครต) ดังนั้น จึงยิ่งไม่ต้องหวังนวัตกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น เพราะมีแต่รัฐแบบอำนาจนิยมที่ไม่เคยเชื่อว่า พลเมืองจะมีสำนึกความยุติธรรมโดยตัวของพวกเขาเอง สำนึกดังกล่าวไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานภาพ (เช่น ฐานะทางเศรษฐกิจ ชื่อแซ่ นามสกุล) การศึกษาและความเชี่ยวชาญของพลเมืองเหล่านั้นเลย แต่มาจากสำนึกภายในที่เป็นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์นั่นเอง ในอีกแง่หนึ่งนั้นสำนึกความยุติธรรมของพลเมืองในบางรัฐ บางประเทศ อาจไม่มีอยู่จริง ตรงข้ามกับสำนึกความยุติธรรมในแบบตะวันตก มุมมองดังกล่าวทำให้สำนึกความยุติธรรมของพลเมืองไทยถูกบล็อกไว้โดยกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายอื่นๆ แบบอำนาจนิยม เป็นเหตุให้สำนึกความยุติธรรมที่เป็นของจริง ไม่เคยถูกนำมาใช้เป็นแนวปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรมเลย.