เสรี พงศ์พิศ www.phongphit. ไม่แต่โทรทัศน์ในห้องรับแขกเท่านั้นที่ย้ายไปอยู่ในมือถือ ดูย้อนหลังยามว่างเมื่อไรก็ได้ นับวันห้องเรียน ห้องประชุมสัมมนาจะย้ายไปอยู่ในสมาร์ทโฟนด้วยเช่นกัน ไม่ใช่แต่ Ted Talk ที่เผยแพร่ทางยูทูบให้เราดูเมื่อไรก็ได้ แต่วันนี้มีการถ่ายทอดสดจากมือถือที่ดูสดก็ได้ ดูแห้งก็ดี อย่างรายการของคุณสุทธิชัย หยุ่น ที่ถ่ายทอดสดบางวันมากกว่าหนึ่งครั้ง บางครั้งพูดเอง วิเคราะห์สถานการณ์เอง บางวันสัมภาษณ์สนทนากับผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งหรือหลายคน บางวันไปในพื้นที่ชนบท ทำอะไรได้มากกว่าตอนอยู่ทีวีหนังสือพิมพ์ คนดูคนติดตามมากกว่าอีก แทบไม่ได้ลงทุนอะไรมากมายเลย หลายวัน การสนทนาของคุณสุทธิชัยกับผู้ที่เขาเชิญเข้าร่วมวง คือ การอภิปรายเหมือนในการสัมมนาที่จัดกันในมหาวิทยาลัย ในโรงแรมต่างๆ นั่นเอง แต่ดูบรรยากาศในรายการไลฟ์สุทธิชัย “เป็นมิตร” (friendly) กับผู้ติดตามมาก ดูแล้วไม่ค่อยเครียด เป็นกันเอง และได้ความรู้มาก ไปกลางทุ่ง นอนริมทะเลที่ไหนก็ “ร่วมวง” ได้ ประเด็น คือ แล้วจะจัดการสัมมนาในโรงแรมให้เสียงบประมาณมากมายกันทำไม สัมมนาบางครั้ง ใช้เงินหลายแสน หรือเป็นล้าน ถ้าเชิญคนมาหลายร้อยจากต่างจังหวัด มาพักที่โรงแรม สัมมนากันหลายวัน การประชุมสัมมนาคงใช้เทคโนโลยีทดแทนทั้งหมดไม่ได้ การประชุมที่สำคัญ การสัมมนาบางเรื่องและกับบางกลุ่มก็จำเป็นที่จะต้องมีปฏิสัมพันธ์กัน ต้องการการมีส่วนร่วม เป็นสัมมนาเชิงปฏิบัติการ แต่ประเภทเชิญมานั่งฟังแล้วกลับบ้านคงจะลดน้อยลง เพราะนั่งฟังที่บ้านที่ไหนก็ได้ ค่าใช้จ่ายไม่มี อยู่ที่ว่า สถาบันอุดมศึกษาก็ดี หน่วยงานของรัฐต่างๆ ทั้งรัฐวิสาหกิจ องค์กรมหาชนและอื่นๆ จะปรับองค์กรให้ทันการเปลี่ยนแปลงแบบ digital transformation ได้หรือไม่ จะสร้าง platform ของตัวเองเพื่อสร้างคุณค่ามูลค่าและเชื่อมโยงเครือข่ายผู้เกี่ยวข้อง กับ “ลูกค้า” ของตนเองได้อย่างไร หลายปีก่อน ดร.สุกรี เจริญสุข อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ “ปฏิรูป” การเรียนดนตรี โดยไปเปิดห้องเรียนให้เด็กผู้ใหญ่ตามศูนย์การค้า ทำให้เด็กๆ มีโอกาสได้เรียนกับอาจารย์เก่งๆ จากสถาบัน ให้อาจารย์และนักศึกษามีงานพิเศษ มีลูกศิษย์หลายคนที่ไปเรียนต่อที่สถาบัน คนก็ว่าแปลก วันนี้การเรียนรู้ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวลาจำกัดอีกต่อไป เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา อยู่ที่ว่าจะมีกลไก เครื่องมือเพื่ออำนวยหรือจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ประชาชนทั่วไปอย่างไรเท่านั้น จะสร้าง “แพลตฟอร์ม” ใหม่อย่างไร ในยุคที่โควิดมาเร่งการเปลี่ยนแปลง สถาบันอุดมศึกษาซึ่งมี ““ทุนทางปัญญา” เป็น “สินทรัพย์” (asset) ที่มีค่ามากมาย จะกระจายความรู้ไปสู่ประชาชนในฐานะ “ผู้บริโภค” ได้อย่างไร คุณสุทธิชัยคนเดียวยังทำได้มากมาย มีคนดูหลายแสน และนับที่คลิกติดตามคงหลายล้าน ทำอะไรได้มากกว่าหลายมหาวิทยาลัยอีก ยังมีผู้รู้ คนเก่งๆ ในด้านต่างๆ มากมายในมหาวิทยาลัย มีงานวิจัยที่มีประโยชน์ แต่ไม่ได้เผยแพร่ไปสู่ประชาชนด้วยวิธีการที่เหมาะกับยุคดิจิทัล ยิ่งวันนี้ที่ 5G กำลังใช้งานได้จริง การสร้างแพลตฟอร์มก็น่าจะสะดวกมากยิ่งขึ้น แต่ประเด็นใหญ่ไม่ได้อยู่ที่ 5G แต่อยู่ที่วิธีคิดหรือ mindset ของผู้บริหารมหาวิทยาลัย ซึ่งอาจจะยัง “นิ่งนอนใจ” อยู่ในเขตคุ้นเคยของตัวเอง (comfort zone) หลับไหลไม่ยอมตื่น แม้มีเสียงปลุกของโควิดที่ดังมาก ถ้ามหาวิทยาลัยปรับตัวให้เป็นแพลตฟอร์มการเรียนรู้ยุคใหม่ มหาวิทยาลัยมีศักยภาพสูงมากที่จะทำได้ดี มีบุคลากร มีเครือข่ายไปทั่วประเทศ มีนักศึกษาทั้งปัจจุบันและศิษย์เก่า ถ้าแบ่งกันทำข้อมูล Big Data ในแต่ละจังหวัดๆ ละหนึ่งมหาวิทยาลัย ก็จะได้ข้อมูลเพื่อพัฒนาโมเดลมหาวิทยาลัยในยุคดิจิทัล เป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ ผู้เชื่อมประสานเครือข่ายการเรียนรู้ เพราะรู้ปัญหา ความต้องการ ทุนท้องถิ่นโดยละเอียด ถึงเวลาที่มหาวิทยาลัยจะไม่บังคับให้คนไปเรียนในห้องสี่เหลี่ยม แต่เปิดตัวเองออกไปหาประชาชน ปรับบทบาทของตนเองให้เป็นผู้ประสานกระบวนการเรียนรู้ เป็น catalyst หรือผู้เชื่อมประสานให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ประสานเครือข่ายระหว่างผู้คน ทั้งผู้รู้และผู้เรียนรู้ ผู้ผลิตและผู้บริโภคข้อมูลข่าวสารความรู้ อาจารย์ในมหาวิทยาลัยทำการวิจัยมากมาย ที่ไหมที่ทำโครงการวิจัยแบบสหวิทยาการ บูรณาการผู้รู้หลายสาขามาร่วมกันวิจัยเพื่อให้เกิด digital transformation ของสถาบันอุดมศึกษาไทย และเสนอแพลตฟอร์มสำหรับการจัดการศึกษาในมหาวิทยาลัยโมเดลใหม่นี้ ปฏิรูปการอุดมศึกษาไทย มหาวิทยาลัยแบบเดิมน่าจะหมดอนาคตแล้ว โลกไม่เหมือนเดิม สังคมเปลี่ยน ผู้คนก็เปลี่ยนไป มหาวิทยาลัยจะอยู่แบบเดิมไม่ได้ ภาคธุรกิจทำเป็นตัวอย่างให้เห็นแล้วว่า ใครไม่ยอมเปลี่ยนก็ถูกเปลี่ยน คือ ล้มละลาย ถูกควบกิจการ ถูกสั่งให้ทำตามที่คนอื่นบอก การที่มหาวิทยาลัยมีนักศึกษาน้อยลงคงไม่ใช่เพราะประชากรลดลงเท่านั้น แต่เพราะการศึกษาไม่ได้ตอบสนองความต้องการของสังคม ทั้งๆ ที่สังคมยังต้องการการศึกษา ต้องการ “ปัญญา” เพื่อคิด ประดิษฐ สร้างนวัตกรรม ทำงานเพื่อการพัฒนาบ้านเมือง คนที่ต้องการเรียนรู้ไม่ได้มีแต่คนที่จบม.6 ในและนอกระบบกว่า 10 ล้านคนที่ด้วยหลายเหตุผลยังไม่ได้เรียนระดับอุดมศึกษา แต่คนไทยในวัยแรงงานอีกหลายสิบล้านไม่ว่าระดับใดก็ต้องการความรู้ใหม่ในสังคมใหม่ เพียงแต่มหาวิทยาลัยต้องสร้าง “แพลตฟอร์ม” ให้พวกเขาเรียนรู้ ที่เข้าถึงได้ง่ายเหมือนในภาคธุรกิจ “ให้ทุกคนได้เรียน ทุกอย่างที่อยากรู้ ไม่ว่าอยู่ที่ใด” เหมือนคนวันนี้ไปซื้อของในห้างก็ได้ หรือออนไลน์ก็ได้ ท่านรัฐมนตรีเอนก เหล่าธรรมทัศน์ แห่งกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ท่านคงมีวิสัยทัศน์และเข้าใจว่า กระทรวงนี้ต้องปฏิรูปตัวเองโดยส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดโมเดลมหาวิทยาลัยใหม่ แต่เจ้าหน้าที่ตามท่านทันหรือไม่ ปรับเปลี่ยนวิธีคิดจากการควบคุมมาเป็นการส่งเสริมได้หรือไม่-เท่านั้น