ทวี สุรฤทธิกุล ความวุ่นวายทางการเมืองที่เป็นอยู่เวลานี้อาจแก้ได้ด้วยการปฏิรูปรัฐสภา เราอาจสรุปข้อบกพร่องของระบบรัฐสภาไทยมาตั้งแต่แรกกำเนิดมาจนถึงปัจจุบันนี้ได้เป็น 3 ส่วนด้วยกัน คือ เริ่มต้น การเกิดขึ้นของระบบรัฐสภาไม่ได้เกิดด้วยความจริงใจของผู้มีอำนาจที่จะให้รัฐสภาเป็นองค์กรแห่งอำนาจของประชาชนอย่างแท้จริง แต่ผู้ปกครองสร้างขึ้นเพื่อรองรับอำนาจ หรือใช้เป็น “ทาสทางการเมือง” เพื่อทำงานให้กับผู้มีอำนาจเท่านั้น เริ่มตั้งแต่ที่คณะราษฎรควบคุมการจัดตั้งรัฐสภา ที่สมาชิกรัฐสภาก็มาจากการแต่งตั้งโดยคณะราษฎรเสียครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งมาจากการเลือกตั้งทางอ้อมที่คณะราษฎรนั้นควบคุม รวมทั้งการบริหารรัฐสภาที่ถึงขั้นว่าแกนนำคณะราษฎรคือนายปรีดี พนมยงค์ ลงไปควบคุมเสียเองในตำแหน่งเลขาธิการรัฐสภา จากนั้นแม้สภาจะมีสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งบ้าง การรัฐประหารบ้าง แต่ก็เป็นแค่ “เบี้ยรองบ่อน” ที่แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะให้อำนาจไว้มาก แต่การทำหน้าที่ของสมาชิกเหล่านั้นก็ยังทำตามที่รัฐบาลหรือผู้มีอำนาจบงการ ต่อมา เกี่ยวกับสมาชิกของรัฐสภานั้นเอง ทั้งสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็ไม่ได้ทำงานให้เป็นที่พึ่งพิงแก่ประชาชน หรือสร้างศักดิ์ศรีให้เป็นที่ยอมรับได้ ทั้งยังพยายามที่จะเอาอกเอาใจผู้มีอำนาจ ในขณะเดียวกันก็แย่งชิงผลประโยชน์ แบ่งกันเป็นก๊กเป็นก๊วน สร้างความวุ่นวายในสภานั้นเสียเอง ทำให้ประชาชนเกิดความเอือมระอาและเบื่อหน่ายการมีรัฐสภานั้นเป็นอย่างยิ่ง สาเหตุประการสำคัญน่าจะเกิดจาก การที่สมาชิกเหล่านั้นไม่เข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตัวเอง โดยเฉพาะฐานะตำแหน่งในบทบาทของ “ตัวแทนปวงชนชาวไทย” ที่สมาชิกรัฐสภาเหล่านั้นทำตัวให้ตกต่ำ ยอมตัวอยู่ใต้อำนาจและรับใช้ผู้มีอำนาจ มากกว่าที่จะทำงานให้ประชาชน หรือเป็นหน้าตาให้กับประชาชน อย่างที่นักการเมืองอังกฤษท่านหนึ่งเคยกล่าวว่า “ผู้แทนราษฎรเป็นอย่างไร ประชาชนก็เป็นอย่างนั้น” สุดท้าย ภายใต้กระแสสังคมการเมืองในโลกยุคใหม่ ด้วยเหตุที่รัฐสภาไม่ได้พัฒนาให้ดีขึ้น ทั้งระบบรัฐสภาที่มีความลุ่ม ๆ ดอน ๆ มีการรัฐประหารสลับการเลือกตั้ง อีกทั้งสมาชิกรัฐสภาก็ไม่ได้พัฒนาภาพลักษณ์ของตนเองให้ดีจนประชาชนยอมรับ แต่กลับสร้างความผิดหวังจนประชาชนจำนวนมากมองไม่เห็นประโยชน์ของการมีรัฐสภา โดยเฉพาะวุฒิสภาที่ดูเหมือนจะทำงานซ้ำซ้อนกับผู้แทนราษฎร ซึ่งหลายครั้งก็พยายามแทรกแซงหรือทำตัว “เหนือกว่า” สภาผู้แทนราษฎรนั้นเสียอีก (อย่างเช่นวุฒิสภาในระบอบประยุทธ์ขณะนี้) ดังนั้นประชาชนจึงมีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปรัฐสภา ถึงขั้นที่ให้มีการยุบวุฒิสภาไปเสีย และสร้างสภาผู้แทนราษฎรให้ “สง่างาม” มากขึ้น ดังนั้นแนวทางในการปฏิรูปรัฐสภาอาจจะมองได้ในหลาย ๆ ประเด็น ดังต่อไปนี้ ประเด็นแรก ประเทศไทยควรมีกี่สภา สองสภาหรือสภาเดียว ซึ่งเริ่มต้นใน พ.ศ. 2475 เรามีสภาเดียว แต่หลังรัฐประหาร 2490 ทหารก็ให้มี “พฤติสภา” (มาเปลี่ยนเป็นวุฒิสภาโดยรัฐธรรมนูญ 2492 โดยมีการชี้แจงจากผู้ยกร่างว่า พฤติสภาแปลว่าสภาคนแก่ แต่วุฒิสภาแปลว่าสภาของผู้มีความรู้ ทั้งนี้เพื่อทำหน้าที่เป็น “พี่เลี้ยง” ให้กับสภาผู้แทนราษฎร)และใช้ระบบสภาคู่ โดยให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้งของรัฐบาลมาโดยตลอด จนถึง พ.ศ. 2543 จึงได้มีสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งก็ทำหน้าที่ได้ดีพอสมควร แต่ก็มีคนมมองไปว่ามีการทำงานซ้ำซ้อนกัน ทั้งยังทำให้กระบวนการพิจารณากฎหมายเกิดความล่าช้า รวมถึงวุฒิสภาก็ไม่ได้มีความเป็นกลาง แม้ว่าโดยบทบาทได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญว่าจะต้องไม่เป็นฝักฝ่ายของผู้ใด (รัฐธรรมนูญ 2540 กำหนดว่า สมาชิกวุฒิสภาเป็น “ผู้แทนปวงชนชาวไทย” และต้องทำหน้าที่เพื่อประชาชนทั้งปวงอย่างเสมอภาค) แต่จะเป็นด้วยความต้องการของสมาชิกวุฒิสภานั้นเอง หรือผู้มีอำนาจบงการมาก็ตาม ปรากฏว่าสมาชิกวุฒิสภาได้เข้าเป็นพวกกับพรรคการเมืองบางพรรคอย่างประเจิดประเจ้อ และทำหน้าที่โน้มเอียงไปตามที่ผู้มีอำนาจบงการ (ดังที่มีผู้กล่าวถึงระบอบทักษิณในการดำเนินการ “ซื้อ ส.ว.” เหล่านั้น) กระแสสังคมในปัจจุบันที่มีความต้องการจะให้ยุบเลิก ส.ว.นั้นไปเสีย ก็มีเหตุผลที่น่ารับฟัง เพราะแท้จริงแล้ววุฒิสภาก็เป็นแค่ “สภาค้ำยัน” คือคอยค้ำจุนอำนาจให้กับผู้ปกครองเท่านั้น (ทั้งในยุครัฐประหารและยุคเลือกตั้ง) และถ้าหากจะบอกว่าคอยกลั่นกรองกฎหมายให้มีความรอบคอบ ก็มองว่าในระบบการเมืองสมัยใหม่มีกระบวนการที่คอยควบคุมการร่างกฎหมายโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นอยู่แล้ว เช่น การควบคุมโดยกระแสสังคมที่มีการสื่อสารกันรวดเร็วและกว้างขวาง ที่รัฐธรรมนูญในยุคหลังๆ ก็ให้อำนาจประชาชนในการตรวจสอบนั้นร่วมด้วย โดยเฉพาะกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ที่ทำได้ดีกว่าการพิจารณาโดยวุฒิสภาเสียด้วยซ้ำ เพราะวุฒิสภาก็ไม่ได้มีความเป็นกลางอย่างแท้จริง ซ้ำร้ายก็ไม่ได้ทำงานให้ประชาชน แต่ไปรับใช้ผู้แต่งตั้งหรือผู้มีอำนาจนั้นมากกว่า ดังนั้นในยุคต่อไป จึงควรให้เหลือแต่สภาผู้แทนราษฎร(ที่ควรจะเปลี่ยนชื่อกันบ้างจะดีไหม เพราะคำว่า “ราษฎร” ออกจะเป็นคำเชิงศักดินา รวมถึงที่เชื่อมโยงไปถึงคณะราษฎรที่ไม่ได้สร้างระบบรัฐสภาเพื่อราษฎรอย่างแท้จริง และในยุคใหม่คำว่าราษฎรอาจจะมีหลายคนมองไปว่าเป็นการมองประชาชนอย่าง “ต่ำต้อย” คือไม่ได้เห็นความสำคัญของประชาชนเท่าใดนัก ดังที่กำลังมีการเรียกร้องทางการเมืองอยู่ในเวลานี้ เช่น อาจจะเปลี่ยนชื่อเป็น “สภาปวงชน” ซึ่งพอตัวแทนที่เลือกตั้งมาในระบบใหม่นี้ก็จะได้ชื่อว่า “สมาชิกสภาปวงชน” ที่ดูหนักแน่นและมีสง่าราศีดีกว่าเดิม) แต่กระนั้นก็ต้องนำเรื่องนี้เข้าไปไว้ในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือถ้าเป็นไปได้ก็ควรจะร่างใหม่ทั้งฉบับเสียเลย โดยให้นำเสนอประเด็นนี้เป็นข้อมติที่จะรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนด้วย ยังมีอีกหลายประเด็นที่ควรนำมาขบคิดและแก้ไขในการที่จะปรับปรุงรัฐสภา โดยเฉพาะประเด็นต่อไปเกี่ยวกับการทำให้ “สภาปวงชน” ทำหน้าที่ได้อย่างสมศักดิ์ศรีและเป็นไปตามความคาดหวังของประชาชน เพื่อให้สถาบันรัฐสภานั้นได้เป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริง ต่อไปเวลาที่มีปัญหาบ้านเมืองผู้คนจะได้ไม่เรียกหาแต่ทหาร แต่มาเรียกรัฐสภานี้แทน