ณรงค์ ใจหาญ การทรมานเพื่อให้ได้มาซึ่งคำรับสารภาพ หรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษย์ธรรม รวมถึงการบังคับนบุคคลสูญหาย ในกรณีที่บุคคลนั้นไม่ยอมให้ความร่วมมือกับรัฐหรือมีการกระทำอันเป็นอุปสรรคหรือต่อต้านการทำงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นการกระทำที่ถือได้ว่าเป็นการละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนรูปแบบหนึ่งที่ในทางกฎหมายระหว่างประเทศ เห็นว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อสิทธิมนุษยชนและควรที่ประเทศต่างๆ ในโลกนี้ควรได้ร่วมมือในการขจัดการกระทำดังกล่าวให้หมดไป และหาทางป้องกันไม่ให้มีการกระทำเช่นนี้เกิดขึ้น สำหรับในเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทรมานนั้น ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี Convention against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment: CAT) แล้วตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2555 ส่วนการเข้าเป็นภาคีของ อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (International for the Protection of all Persons from Enforced Disappearance- ICPPED) คณะรัฐมนตรีมีมติให้รับรองอนุสัญญาดังกล่าว และสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้อนุมัติให้ประเทศไทยให้การรับรองในปี 2560 นี้ ดังนั้น ถือได้ว่า หลักการในการที่จะปราบปรามและป้องกันมิให้มีการทรมาน การลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม และการอุ้มหาย จะเป็นแนวทางของประเทศที่จะต้องควบคุมมิให้เกิดขึ้น และหากมีการกระทำดังกล่าวก็จะต้องดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดและให้การเยียวแก่ผู้ถูกทรมานและการบังคับให้สูญหายอย่างรวดเร็ว ในทางปฏิบัติและการผลักดันให้มีกฎหมายเพื่ออนุวัติให้เป็นไปตามหลักการของอนุสัญญาทั้งสองฉบับนี้ ได้มีการยกร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ... แล้วซึ่งดำเนินการโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และร่างกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านการตรวจพิจารณาจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ดังปรากฏในเรื่องเสร็จที่ 1543/ 2559 ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้ได้นำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่ได้ส่งกลับมายังกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเพื่อให้มีการทบทวนความเหมาะสมในเรื่องของรูปแบบการร่างกฎหมายว่าควรเป็นกฎหมายพิเศษ หรือเพิ่มเติมไว้ในประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา รวมถึงการกำหนดฐานความผิด การกำหนดนิยามของการทรมานและการบังคับให้สูญหาย รวมถึงกรณีเขตอำนาจศาล การห้ามการทรมานแม้กระทั้งในสถานการณ์ฉุกเฉิน และการห้ามผลักดันกลับ อีกทั้งควรต้องดำเนินการให้มีการประเมินกระทบในด้านการออกกฎหมายตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จึงทำให้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างกระบวนการเสนอเป็นกฎหมาย ยังไม่ออกเป็นกฎหมายที่จะใช้เพื่อดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการบังคับให้บุคคลสูญหาย อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 131/2560 แต่งตั้งคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ ซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าวมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน และมีอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเป็นกรรมการเลขานุการ คณะกรรมการชุดนี้ จะทำหน้าที่ในการดำเนินการและจัดการให้ข้อร้องทุกข์ในเรื่องการทรมาน และการบังคับให้บุคคลหายสาบสูญได้มีการตรวจสอบติดตาม และแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง และรวดเร็ว ซึ่งการทำงานเน้นการค้นหาข้อเท็จจริงในเรื่องที่ร้องเรียนว่าเป็นความจริงเพียงไร หรือเพียงแต่เป็นข้ออ้าง อันจะนำมาซึ่งความถูกต้องชอบธรรม และให้ความเป็นธรรมทั้งฝ่ายผู้ที่ถูกร้องเรียน และผู้ร้องเรียน นอกจากนี้ การมีคณะกรรมการชุดนี้จะเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการปฏิบัติให้สอดคล้องกับข้อบทหรือพันธะกรณีที่ประเทศไทยต้องดำเนินการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามอนุสัญญาทั้งสองฉบับ และในขณะเดียวกันเป็นการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้วยความสุจริตแต่ถูกร้องเรียนด้วยเหตุที่ไม่เป็นธรรมได้ กลไกที่สำคัญสำหรับการดำเนินงานตามพันธะกรณีของอนุสัญญาทั้งสองฉบับนี้ คือ การดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดอย่างจริงจัง รวดเร็ว และมีการลงโทษทางอาญาอย่างเคร่งครัด รวมถึงโทษทางวินัยด้วย ในขณะเดียวกัน ผู้เสียหายในคดีทรมาน หรือทายาทของผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหายจะต้องได้รับการคุ้มครองความปลอดภัย หรือได้รับค่าเสียหายที่เพียงพอ เหมาะสมด้วย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ควรได้รับการเร่งรัดและดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งกลไกเหล่านี้ ในขณะที่ยังไม่มีกฎหมายแต่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญที่จะดำเนินการให้เกิดผลในทางรูปธรรม อีกทั้งมาตรการที่สำคัญอย่างมากคือการป้องกันการกระทำความผิดและการให้ความรู้หรือสร้างจิตสำนึกในการที่ทำให้เจ้าพนักงานหรือประชาชนตระหนักว่า การทรมาน การลงโทษที่โหดร้าย และการบังคับให้หายสาบสูญซึ่งเคยมีคดีหรือเคยมีการดำเนินการในประเทศไทย เป็นสิ่งที่ต้องห้าม และฝ่าฝืนต่อหลักสิทธิมนุษยชนด้วย ดังนั้นหากมีการกระทำเช่นนี้อีก แม้ว่าในบางกรณีจะได้มาซึ่งคำรับสารภาพ หรือได้มาซึ่งข้อมูลที่สำคัญหรือไม่เป็นอุปสรรคในการทำงานของเจ้าหน้าที่ แต่ผลสะท้อนในเรื่องความรับผิดของประเทศไทย หรือรัฐที่จะต้องชดใช้ความเสียหายให้แก่ผู้ที่ถูกทรมาน ผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหาย รวมถึงภาพพจน์ของประเทศไทยในด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและการอำนวยความยุติธรรม รวมตลอดถึงความน่าเชื่อของการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ต้องมีความเป็นธรรม และน่าเชื่อ ก็จะหมดไปหากมีการทรมานเพื่อให้รับสารภาพ หรืออาจเลยไปถึงการที่ผู้ต้องหาบางคนตกเป็นแพะ เพราะทนต่อการทรมานไมได้จึงให้การรับสารภาพ เป็นต้น แม้ว่าจะยังไม่มีกฎหมายที่กำหนดความผิดโดยเฉพาะในเรื่องทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหาย เพราะยังอยู่ในกระบวนการเสนอกฎหมายเข้าไปใหม่ แต่การที่มีคณะกรรมการที่จัดการเรื่องราวร้องทุกข์ที่กล่าวมาข้างต้น และความตั้งใจของรัฐบาลไทยในการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงอาจเห็นได้ว่า เป็นอีกก้าวหนึ่งของประเทศไทยในการที่จะอนุวัติการเพื่อป้องกันและปราบปรามการทรมาน การบังคับให้บุคคลสุญหาย และในท้ายที่สุด ข้อร้องเรียนที่ค้างอยู่จะได้รับการจัดการ ผู้ที่ถูกร้องเรียนได้รับการพิสูจน์ว่าทำจริงหรือไม่ รวมตลอดถึงผู้เสียหายได้รับการเยียวยา จึงเป็นกลไกที่ทำให้เห็นว่าประเทศไทย ให้ความสำคัญและดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหายอย่างจริงจัง