ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ เคยเขียนถึงเรื่องราวชีวิตของ “เกริ่น เขียนชื่น” มาหลายครั้ง เราไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แรกเริ่มที่ได้ยินชื่อและสัมผัสภาพ เขาคือหนึ่งในคณะเดินเท้าเพื่อสันติภาพ “จากศาลายาสู่สันติปัตตานี” ซึ่งใช้เวลาเดินทางทั้งสิ้น 51 วันจากใจกลางมหานครสู่พื้นที่มิคสัญญี ในคณะประกอบด้วยผู้คนหลากหลายสาขาอาชีพ เช่น โคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ประมวล เพ็งจันทร์ งามศุกร์ รัตนเสถียร ฯลฯ โดยเขารับบทบาทเป็นตากล้องประจำคณะเดินทางไปด้วย เมื่อเสร็จสิ้นจากกิจกรรมเดินเท้าเพื่อสันติจึงได้มีการจัดนิทรรศการภาพถ่าย “เดินจากศาลายาสู่สันติปัตตานี” โดย เกริ่น เขียนชื่น และ ชาตรี อังอัจฉะริยะ ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้คนมากพอควร ก่อนหน้านี้ที่จะมาเป็นหนึ่งในคณะเดินปัตตานีฯ เขาเคยเดินทางลงสัมผัสพื้นที่ชายแดนใต้รวม 7 ครั้ง ตลอดระยะเวลา 3 ปีห้วงเกิดเหตุไฟใต้นับตั้งแต่ต้นปี 2550 ทั้งตั้งใจไปถ่ายภาพพระบิณฑบาตกับรถฮัมวี่ ไปนั่งดื่มกาแฟตามร้านค้าที่เคยโดนระเบิด ไปเพ่งพินิจชมเรือกอและ หาเวลานอนแรมคืนในค่ายทหารโดยติดต่อผ่านเพื่อนทหารที่รู้จักกัน พร้อมเก็บเกี่ยวข้อมูลและภาพถ่าย พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฉลองวันเกิดตัวเองที่อำเภอเบตง ไหว้พระ 9 วัดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่ายน้ำข้ามแม่น้ำบางนรา ฯลฯ โดยตั้งใจนำเรื่องราวทั้งหมดมาเขียนเป็นหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คส์สักเล่มหนึ่ง เขาใช้เวลาบันทึกภาพถ่ายและเรื่องราววนเวียนอยู่ในพื้นที่รวม 10 ปี กว่า 50 ครั้ง จนถึงปัจจุบัน เกริ่น เขียนชื่น น่าจะเป็นคนแรกๆ ที่เปิดประเด็นภาพแห่งความทรงจำของพระสงฆ์หรือ “พ่อหลวง” และ “เปาะจิ” เพื่อนต่างศาสนิกมลายูมุสลิมซึ่งทำหน้าที่ปั่นสามล้อ ภาพสำคัญที่กลายเป็น “ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์” ในชั่วเวลาไม่นาน และตราบกระทั่งทุกวันนี้เรื่องราวความสัมพันธ์ดีๆ ระหว่างพระสงฆ์รูปหนึ่งกับชายชาวมลายูปั่นสามล้อ กลายเป็นภาพจำที่ได้สร้างความประทับใจให้ผู้คนมากมาย ล่าสุด “เกริ่น เขียนชื่น” ผู้ชายคนหนึ่งที่เดินทางมาทั้งชีวิต อายุเพียง 15 ปี วิญญาณขบถก็ผลักเขาออกจากบ้าน ใช้วัยหนุ่มตระเวนในยุโรปตั้งแต่อายุ 22 ปี เป็นนักผจญภัย นักโดดร่ม นักเล่นเรือใบ ฯลฯ สร้างสถิติปีนขึ้น-ลงภูกระดึงกว่า 70 ครั้ง ว่ายน้ำข้ามทะเลจากเกาะสู่เกาะนับสิบเกาะ เดินเท้าทั่วประเทศมากว่า 4,000 กิโลเมตร ในที่สุดมาตกหลุมรักมนต์เสน่ห์พื้นที่ชายแดนใต้ เป็นคนกรุงที่เดินทางสัมผัสพื้นที่กว่า 50 ครั้ง ทั้งเดินเท้า ปั่นจักรยาน รถทัวร์ รถไฟ เครื่องบิน เขาเก็บความทรงจำเป็นภาพถ่ายทรงคุณค่านับหมื่นๆ ภาพ และที่สำคัญ กำลังจะสร้างปรากฏการณ์ใหม่ด้วยการแล่นเรือใบกอและ “จากบางนราสู่เจ้าพระยา” อนุสรณ์ ศรีคำขวัญ นักเขียนชาวนราธิวาส เขียนถึงเขาใน “เกริ่น เขียนชื่น ผู้เผยแพร่ความงาม” ว่า เกริ่น เขียนชื่น เป็นชาวกรุงเทพฯ โดยกำเนิด เขาเกิดในปี พ.ศ. 2495 (ตอนนั้นพ่อของผมยังไม่เกิดเลยด้วยซ้ำ) ผมพบเขาครั้งแรกใน “ค่ายเยาวชนนักเขียนต้นแบบ” ที่จัดขึ้นในจังหวัดนราธิวาส โดยสำนักหัวใจเดียวกัน แรกพบสบตามีหรือหนุ่มผู้เต็มเปี่ยมด้วย “อัตติสต์” อย่างผมจะยินดียินร้ายด้วย ก็เฉยๆ เจือเมินๆ ใส่นั่นละ กระทั่งดึก คืนนั้นพระจันทร์ เต็มดวง สวย ผมนั่งอยู่ท้ายกระบะรถตามลำพัง พลัน เกริ่น เขียนชื่น ก็เดินอุ้มผ้าห่มเข้ามาทักทาย เขานั่งลงข้างๆ แล้วเราจึงได้สนทนา แลกเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ที่ผ่านพบ ยิ่งคุยก็ยิ่งนับถือ ไอ้อัตตา ติสต์ๆ ตัวเขื่องเมื่อกลางวัน มาละลายหายไป เริ่มดึกมาก เกริ่น เขียนชื่น ขอตัวเข้านอน ลุกได้ก็อุ้มผ้าห่ม เดินตรงไปยังอาคารแท็งค์น้ำสูงเบื้องหน้า ผมถึงกับต้องรีบเอ่ย “พี่ๆ ห้องนอนไปอีกทาง” (ในกลุ่มคนศิลปะ ไม่มีใครแก่เกินพี่) เขาตอบกลับมาว่า “นอนบนนั้นดีกว่า ลมเย็นดี” เช้าตื่นมา เกริ่น เขียนชื่น หาย หายไปไหน ผมถามคนรู้จักจึงได้รับคำตอบว่า เกริ่น เขียนชื่น ตื่นตั้งแต่ไก่ยังไม่โห่ ป่านนี้คงเดินลำพังอยู่ตลาด หรือชุมชนใดสักแห่ง ช่างกล้า ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เขากล้าเดินคนเดียว เมื่อถามว่า เขามีของดีอะไร คำตอบที่ได้รับ คือ “ใจ” ใจของเขาดี สำหรับ เกริ่น เขียนชื่น นอกจากใจแล้ว เขาก็พกอาวุธเป็นอาวุธหนักเสียด้วย พร้อมลั่น พร้อม Shoot ได้ตลอดเวลา ลั่นชัตเตอร์ shoot ภาพงามๆ มาเก็บไว้ แล้วเผยแพร่สิ่งเหล่านั้นให้คนทั่วไปได้รับรู้ เกริ่น เขียนชื่น เป็นช่างภาพมือฉมัง เคยได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานมาแล้วในปี พ.ศ. 2535 ชีวิตของเขาค่อนข้างผาดโผน ทำอะไรแล้วต้องถึงที่สุด นึกอยากถ่ายภาพกลางอากาศก็ไปฝึกกระโดดร่ม นึกอยากถ่ายภาพในทะเลก็ไปเรียนดำน้ำ ภาพธรรมชาติใดที่อยากได้ แม้ต้องเทียวมาเทียวคอยเป็นปีๆ เขาก็จะทำ สำหรับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ถือเป็นบ้านหลังที่ 3 เลยก็ว่าได้ แน่นอนหลังแรก คือ กทม. ส่วนหลังต่อมาก็ภูกระดึง (ช่วงภูกระดึงเปิดให้ท่องเที่ยวได้ เขาจะเดินขึ้นเดินลงภูอยู่นั่นละ) สำหรับ 3 จังหวัดชายแดนใต้นั้น เรียกได้ว่า เกริ่น เขียนชื่น รู้จักทุกมุมเมือง ชาวบ้านส่วนมากก็รู้จักเขา ไปไหนมีแต่เพื่อน เขาร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวกับการรณรงค์สร้างสันติสุขในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เกือบทุกงาน (แม้ไม่รวมภาพถ่ายของเขา ก็ทำหน้าที่นำความงามและการรณรงค์สันติสุขอย่างเต็มสูบอยู่แล้ว) วันที่ 8-9 กรกฎาคม 2560 นี้ จะมีการจัดงาน Freedom Festival 2017 เทศกาลดนตรีและศิลปะเพื่อเสรีภาพ ณ เกาะยาว อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส โดยความร่วมมือร่วมใจของเครือข่ายสื่อมวลชน องค์กรภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน เช่น มูลนิธิฟรีดริช เนามัน นิตยสาร happennig กลุ่มเฌอบูโด สมาคมศิลปวัฒนธรรมป่านวงเดือน ชุมชนเกาะยาว-ตากใบ ฯลฯ เพื่อเป็นการเปิดพื้นที่ให้คนทำงานศิลปะแขนงต่างๆ ได้นำผลงานมาร่วมจัดแสดง มีโอกาสพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน ในงานมีการเสวนาเกี่ยวกับดนตรีและสังคมพหุวัฒนธรรม การแสดงดนตรี การอ่านบทกวี การแสดงพื้นบ้านชายแดนใต้ ฯลฯ ประการสำคัญ คือการกระตุ้นกระแสการท่องเที่ยวบนเกาะยาวและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความสวยงามมีเอกลักษณ์โดดเด่น สะท้อนลักษณะสังคมพหุวัฒนธรรมระหว่างพุทธ-มุสลิม รวมถึงการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่สนใจงานศิลปะแขนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเช้าชื่นวันที่ 9 กรกฎาคม 2560 เมื่อแสงแรกสาดส่องอาบหาดทรายขาวยาวเหยียดบนเกาะยาว “เกริ่น เขียนชื่น” จะเริ่มต้นการเดินทางครั้งสำคัญของชีวิตไปกับเรือใบกอและ “ยีวอ ยัง ซามอ – หัวใจเดียวกัน” ผ่านะเวลาแรมเดือน เสมือนเป็นสัญลักษณ์ของการประกาศ “เสรีภาพ” เป็นสื่อกลางนำเรื่องเล่าดีๆ จากชายแดนใต้ เรื่องเล่ารายทางของชุมชนประมงพื้นบ้าน และประเด็นน่าสนใจอื่นๆ ไปบอกเล่าให้ผู้คนในใจกลางมหานครได้รับรู้ เรื่องราวของเขายังมีอีกมากมาย ใครสนใจตามไปรับฟังสัมผัสชีวิตและ “เรือใบกอและ” ของเขาที่กำลังจะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ หรือไปซึมซับวิถีคนทำงานศิลปะแขนงต่างๆ ทั้งในและนอกพื้นที่ชายแดนใต้ ที่มีโอกาสโคจรมาพบกันได้บนเกาะยาว-นราธิวาส ในงาน Freedom Festival 2017 เทศกาลดนตรีและศิลปะเพื่อเสรีภาพ งานที่เปรียบเสมือนเป็นจุดเริ่มต้นร้อยรัดชีวิตและเรื่องราวดีๆ ของผู้คน “จากบางนราสู่เจ้าพระยา”