ศ.ดร.ไชยา ยิ้มวิไล ต่อจากสัปดาห์ที่แล้ว ที่กล่าวถึงการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาที่มีการศึกษามุ่งเน้นในระดับมัธยมศึกษาวัย 12-18 ปีนั้น นับว่ามีความสำคัญมากที่เริ่มจากเด็กเป็นเยาวชนที่มีความพร้อมทางด้าน “จิตวิทยา-พฤติกรรมวิทยา” และไม่สำคัญที่จะเริ่มเพิ่มวิชาความรู้ที่เพิ่มความรู้ทางศาสตร์มากขึ้น แต่อาจไม่หนักเหมือนเมืองไทย แต่อาจเรียนคณิตศาสตร์ เคมี ฟิสิกส์ ประวัติศาสตร์ เป็นต้น ในช่วงเช้าแต่ตอนบ่ายเริ่มเล่นกีฬาเพื่อรู้จักให้อภัยและมีน้ำใจเป็นนักกีฬา “รู้แพ้รู้ชนะ!” พอจบการศึกษาจนอายุ 18 ปี จนเข้าศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยนั้นความพร้อมในด้านจิตวิทยา โดยเฉพาะ “มันสมอง” ที่พร้อมจะรับรู้การศึกษาในระดับที่เต็มที่ได้แล้ว แต่ในสหรัฐอเมริกานั้น ถ้าจบในระดับนี้แล้วบางคนอาจไม่ไปศึกษาต่อในระดับวิทยาลัย และ/หรือ มหาวิทยาลัยเลย หรืออาจพักการศึกษา 2-3 ปี หรือ 4 ปีเลยก็เป็นได้ แม้กระทั่งอังกฤษก็เช่นเดียวกัน แต่ถ้าที่ประเทศเยอรมันนีนั้น จะมุ่งไปเรียนที่วิทยาลัยทางด้านโปลีเทคนิค หรือหลักสูตรทางด้านปวช. หรือ ปวส. เพื่อต้องการมีความรู้ทางด้านเทคนิคที่หางานทำได้โดยง่าย โดยไม่ได้มุ่งหวัง “กล่อง” หรือ “ตำแหน่งหน้าที่” ที่เป็น “ค่านิยม” ที่มีแต่ “ศักดิ์ศรี” แต่ “เงินน้อย” แต่มุ่งเป้าหมายคือ “เงิน” เท่านั้น ซึ่งคือ “เป้าหมาย” ที่แท้จริง ที่จะตอบสนอง “ความสุข” ในปั้นปลายชีวิต แต่สังคมในเอเชียมักมุ่ง “ค่านิยม” ทางด้าน “ศักดิ์ศรี-ศักดินา” ด้วย “ยศถาบรรดาศักดิ์” โดยคิดว่า “ถ้ารู้เยอะ-ความรู้มาก จะยิ่งมีอนาคตไกล” ซึ่งมักคิดอย่างนั้น จึงพยายามยัดเยียดความรู้อย่างเต็มพิกัด โดยไม่เข้าใจทั้งในเชิง “จิตวิทยา-พฤติกรรมวิทยา” และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “วัยเจริญพันธุ์” จนทำให้เด็กและเยาวชนเรียนหนักจนเกิดอาการอ่อนล้าและ “หมดแรง” ในที่สุดเมื่อจะถึงยอดเขา หรือ “เรียนในระดับสูง!” อย่างไรก็ตาม “สภาพแวดล้อม-สภาพสังคมภายนอก” จำต้องมีความสำคัญเช่นเดียวกัน มิใช่เฉพาะภายในโรงเรียนเท่านั้น ที่อาจดูเรียบร้อยและเคร่งครัด แต่สภาพภายนอกนั้นอาจไม่เอื้ออำนวยหรือ “สวนทาง” กับสภาพความเป็นจริงในองค์รวมของสังคม หรือกล่าวอย่างภาษาชาวบ้านว่า “สภาพแวดล้อมภายใน-ภายนอก” ต้องสอดคล้องกันในแง่กฎเกณฑ์ ข้อบังคับ มารยาททางสังคม วิธีและวิถีชีวิตต้องไม่ขัดแย้งกัน หรือไปในทิศทางเดียวกัน เพียงแต่สังคมไทยนั้น ยังมีบาร์คลับอยู่ใกล้กับโรงเรียนหรือกับมหาวิทยาลัย หรือแม้กระทั่งบาร์คาราโอเกะหรืออาบอบนวด ที่เมื่อเดินออกจากโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยสามารถเดินเข้าบาร์หรือสถานบันเทิงได้ทันที ผิดกับต่างประเทศแบบ “พลิกฝ่ามือ” ที่มิใช่เกิดจาก “กฎหมาย” เท่านั้น แต่เกิดจาก “สภาพสังคม” ที่ไม่ยอมรับให้มีอย่างเด็ดขาด ดังนั้น “ความเรียบร้อยของสังคม เกิดจากสังคมอย่างแท้จริง!” “สภาพแวดล้อมสังคม” จึงเป็น “ปัจจัยหรือตัวแปร” ที่สำคัญที่สุด ที่มีต้นไม้ ถนนหาทางที่สวยงาม ประกอบกับสวนสาธารณะที่สวยงาม หรือกล่าวอย่างง่ายๆ ว่าล้วนส่งเสริมให้บรรดาผู้คนมีจิตใจที่สงบร่มเย็น มิใช่ยั่วยุให้มั่วสุมอยู่กับอบายมุข จนมิได้มีสมาธิในการที่จะเล่าเรียน นอกเหนือจากนั้น มิใช่เฉพาะสภาพแวดล้อมทางสังคมเท่านั้น ในต่างประเทศที่เอื้ออำนวยให้มีสภาพที่น่าอยู่ แต่ในแง่กฎหมายที่เจ้าหน้าที่ร้อยละ 90-95 ที่เอาจริงเอาจังมากกับผู้กระทำความผิด แต่มักจะตักเตือนในเบื้องต้นกับผู้กระทำความผิด ที่มิได้ทำความผิดที่ไม่ได้รุนแรง แต่ถ้า “ขโมยหรือฆาตกรรม โจรกรรม” โดนแน่! “กระบวนการทางกฎหมาย” ของกลุ่มประเทศทางยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน จะเอาจริงเอาจังมาก แต่ถ้าทางเอเชียอย่างไทย อย่างกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ต้องยอมรับว่า “ฉ้อราษฎร์บังหลวงมาก” หรือ “โกงมาก!” แต่ส่วนใหญ่แล้ว “ถ้าผิดก็โดนเลย แต่ถ้าไม่ผิดอะไรมากมายนัก มักจะถูกเตือน!” หรือกล่าวอย่างภาษาชาวบ้านว่า “กฎหมายคือกฎหมาย” เพราะฉะนั้น ประชาชนของเขาจึงเกรงกลัวและเคารพกฎหมายอย่างมาก (LAW ABIDING CITIZEN) ที่แปลว่า “เคารพกฎหมาย” ซึ่งนับว่า “มีเกียรติมาก” จะไม่ข้ามถนนเมื่อยังไม่ไฟเขียวให้ข้าม แต่ก็มีคนแอบข้ามบ้าง แต่มีจำนวนน้อย หรือแม้กระทั่ง “สื่อสารมวลชน” จะทำหน้าที่ “ตรวจสอบ” สังคมอย่างเป็นธรรม “อะไรถูกถูก-อะไรผิดผิด!” ไม่มีการเกรงใจ หรือไว้หน้าใคร เรียกว่า ถ้าสื่อมวลชนต้องการจะทำการสืบสวนสอบสวนจะทำการสืบสวนสอบสวนแบบตำรวจอย่างเป็นธรรมเป็นกลาง “มิมีซองขาว!” แต่ประการใด “นักการเมืองหรืออาชญากร” จึงเกรงกลัวสื่อมวลชนมาก! ประเด็นสำคัญที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น “สภาพแวดล้อมภายนอก” จะมีบทบาทสำคัญอย่างมาก ทั้งด้านสังคม การเมือง เศรษฐกิจ สื่อมวลชน ตำรวจ อัยการ ศาล ที่ยึดมั่นใน “หลักการยุติธรรม” อย่างมากหรือ “ธรรมาภิบาล” มาก ทั้งนี้ “อาชญากรรม” ก็ยังเกิดขึ้น ซึ่งเป็นธรรมดาที่ไม่มีสังคมใดสมบูรณ์แบบ แต่สังคมตะวันตกนั้น เมื่อเกิน 22.00 น.ไปแล้ว ทุกคนก็ต้องระวังตัวในการออกจากบ้าน แต่แน่นอนสังคมตรวจสอบกันเองตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม “ความไม่สมบูรณ์แบบ” ของสังคมนั้น ถามว่า “ความทุจริตคดโกง” มีหรือไม่ ก็ต้องตอบว่า “มีแน่นอน!” แต่มีในระดับสูง ที่เรียกว่า “ระดับมาเฟีย!” ที่จะมีแต่ “ระดับการเมืองระดับสูง-ระดับเศรษฐี” ที่ติดตามตรวจสอบได้ยากมาก เพราะว่าจะทำเป็นขั้นตอนที่ทำการตรวจสอบยากมาก เพราะดำเนินการเป็นแบบกระบวนการ แต่ระดับล่างนั้นมีการควบคุมอย่างเป็นระบบที่ควบคุมเป็นอย่างดี การศึกษานั้น ต้องเรียนตามตรงว่า ระดับประถมศึกษาจนถึงระดับอุดมศึกษาของเขาดีมาก บวกกับสอดคล้องเข้าได้กับสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้สังคมอยู่ด้วยกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าไม่ได้อยู่ในเมืองใหญ่ ถ้าอยู่ในชนบทหรือเมืองเล็กจะดีที่สุด อย่างไรก็ตาม ทั้งหลายทั้งปวงต้องอยู่กับตัวเราเองว่า “สามารถควบคุมตัวเองได้ดีขนาดไหน” ถ้าสามารถบังคับตนเองให้อยู่ในกรอบได้ ตั้งใจเรียน มุ่งมั่น ทำงาน เรียนหนังสือให้ดีที่สุด ก็สามารถประสบความสำเร็จขั้นสูงสุดได้!