เสือตัวที่ 6 พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีขบวนการแบ่งแยกผู้คนออกจากรัฐไทย พยายามสอดแทรกแนวคิดแปลกแยกแตกต่างจากคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศ อย่างเป็นขบวนการ ที่มีความต่อเนื่องยาวนาน โดยมุ่งให้เกิดความรู้สึกเกลียดชังกับคนในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ เพื่อมุ่งไปสู่การเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการร้ายแห่งนี้ ในการต่อสู้กับรัฐในหลากหลายรูปแบบ ทั้งในสถานศึกษาในพื้นที่ที่มีอยู่มากมายหลายแห่ง จนขยายวงกว้างไปสู่การศึกษาทุกระดับตั้งแต่ระดับโรงเรียนไปจนถึงระดับอุดมศึกษา และในชุมชนท้องถิ่นแห่งนี้ ทั้งยังมุ่งให้พื้นที่ในชุมชนแต่ละแห่ง มีอัตลักษณ์อันโดดเด่นเป็นของตนเอง โดยเน้นการสร้างความเห็นที่แตกต่าง บนพื้นฐานของการสร้างความหวาดระแวงระหว่างกัน สู่ความไม่ไว้วางใจกับคนในพื้นที่อื่นๆ อันเป็นส่วนใหญ่ของประเทศ ดังนั้น รูปแบบการเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ของหน่วยงานภาครัฐ จึงต้องมีการดำเนินการอย่างเป็นกระบวนการและมีความต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งยังต้องให้ความสำคัญกับการดำเนินการที่มีความแนบเนียนมากเป็นพิเศษ อาทิ การใช้กิจกรรมต่างๆ ที่สอดรับกับบริบทในพื้นที่แต่ละชุมชน เพื่อสร้างโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐ สามารถเข้าถึงพี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้มากขึ้น โดยไม่ก่อให้เกิดความหวาดระแวงของคนในชุมชน ที่เหมาะสมสอดรับกับบริบทในพื้นที่แห่งนี้ก็คือ กิจกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ของปวงชนชาวไทย ซึ่งสามารถที่จะเข้าถึงหัวใจคนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง อันจะเป็นประตูไปสู่การทำความเข้าใจระหว่างรัฐกับคนในพื้นที่ได้มากขึ้น รวมทั้งสามารถให้การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่ตามบริบทและวิถีชีวิตที่พี่น้องในพื้นที่ต้องการได้อย่างเป็นรูปธรรม การดำเนินกิจกรรมตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเป็นกระบวนการที่มีรูปแบบ เพิ่มความแข็งแกร่งในการเข้าถึงประชาชน ของหน่วยงานภาครัฐมากยิ่งขึ้น โดยมีรูปแบบการดำเนินการทางอ้อม ตามขั้นตอนที่ต่อเนื่องจากตอนที่ 3 ได้แก่ 1) ขยายผลเสริมความแข็งแกร่ง หลังจากการชี้เป้า ให้ความรู้ และประสานงานของหน่วยงานภาครัฐกับชุมชน จนตั้งหลักได้แล้ว กลุ่มกิจกรรมตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง จะต้องขยายผลจากความสำเร็จที่กลุ่มกิจกรรมมีความเข้มแข็ง ให้ขยายผลกลุ่มกิจกรรมทางการเกษตรตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ให้เชื่อมโยงกันระหว่างกลุ่มกิจกรรมในชุมชนอย่างเป็นห่วงโซ่ที่เข้มแข็ง ผนึกกำลังเสริมจุดแข็ง และลดจุดอ่อนซึ่งกันและกัน สานประโยชน์ระหว่างกลุ่มกิจกรรมในชุมชนตนเองให้เกื้อกูลซึ่งกันละกันมากขึ้น เพราะจากการศึกษา พบว่า ผลสืบเนื่องจากการผลิตของกิจกรรมหนึ่ง สามารถใช้เป็นวัตถุดิบ หรือเป็นองค์ประกอบของกลุ่มกิจกรรมอีกกลุ่มหนึ่งในชุมชนเดียวกันได้อย่างมาก ในขณะเดียวกันกลุ่มกิจกรรมที่เป็นลักษณะงานฝีมือ เช่น การทำจักรสาน การผลิตขนมพื้นบ้าน หรืองานฝีมืออื่นๆ ก็จำเป็นต้องขยายผลจากกลุ่มกิจกรรม ไปสู่การดำเนินงานในรูปวิสาหกิจชุมชน หรือสหกรณ์ชุมชน โดยให้เป็นไปตามวิถีของชุมชนเป็นสำคัญ เนื่องจากชุมชนในพื้นที่แห่งนี้ เป็นชุมชนชนบท ที่มีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง และเป็นพื้นที่พิเศษ ที่จำเป็นจะต้องลดเงื่อนไขของการรวมกลุ่มในรูปวิสาหกิจชุมชน หรือกระทั่งสหกรณ์ชุมชน โดยอนุโลม เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคในการบรรลุเป้าหมายที่แท้จริง คือการทำให้กิจกรรมตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงมีความเข้มแข็ง และยั่งยืน อันจะเป็นช่องทางให้หน่วยงานภาครัฐ ยังคงสามารถเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2) สร้างเครือข่ายกับภายนอกชุมชน ความเข้มแข็งของกิจกรรมตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง อันเกิดจากการผนึกกำลังเป็นกลุ่มของคนในชุมชน ในรูปของสมาชิกกิจกรรมตามที่สังกัดอยู่นั้น จะมีความเข้มแข็งอยู่ได้ด้วยตัวของกลุ่มกิจกรรมเอง และการขยายผลเป็นเครือข่ายในกิจกรรมอื่นๆ ในชุมชนที่มีการประสานประโยชน์ซึ่งกันและกัน ตลอดจนการยกระดับสู่ความแข็งแกร่งให้เพิ่มมากขึ้น ด้วยการจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน หรือกลุ่มสหกรณ์ชุมชน อย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ จะช่วยให้การดำเนินกิจกรรมอาชีพเหล่านั้น มีความเข้มแข็งและยั่งยืน ซึ่งจะเพิ่มโอกาสในการเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ของเจ้าหน้าที่รัฐต่อชุมชนอย่างแนบแน่นแล้ว ยังจำเป็นจะต้องสร้างเครือข่ายระหว่างกิจกรรมกลุ่มต่างๆ ในชุมชน กับกลุ่มกิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียงของชุมชนภายนอก ตลอดจนการสร้างโอกาสให้ชุมชนที่เข้มแข็ง ขยายเครือข่ายเป็นกระบวนการนำร่องไปสู่ชุมชนที่ยังไม่มีกิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียงที่เข้มแข็ง เป็นการเปิดทางในลักษณะพันธมิตรของคนในท้องถิ่นเองที่มีบริบททางวัฒนธรรมแบบเดียวกัน อันจะช่วยให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันมากขึ้นของชุมชนที่ยังต้องบุกเบิกใหม่ ให้หน่วยงานภาครัฐติดตามเข้าไปสนับสนุน ต่อยอดได้ง่ายขึ้น เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งของกิจกรรมเพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้นการสร้างเครือข่ายดังกล่าว จะต้องสร้างให้เกิดระหว่างกลุ่มกิจกรรมในชุมชน กับหน่วยงานภาครัฐ อย่างแน่นแฟ้น เพื่อให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ กับชุมชน มีความคงเส้นคงวา อันจะนำมาซึ่งการเข้าถึงประชาชนในชุมชนได้อย่างแนบแน่นมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การเข้าถึงประชาชนผ่านการดำเนินกิจกรรมตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงในที่พิเศษ ที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของความรุนแรง อันเกิดจากกลุ่มคนที่ดำเนินการสร้างความแตกแยกมาอย่างยาวนานและกระทำอย่างเป็นขบวนการนั้น จำเป็นที่ฝ่ายรัฐจะต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบ มีความต่อเนื่อง ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 เป็นเครื่องมือสำคัญในการบุกเบิก สร้างโอกาสของรัฐในการเข้าถึงหัวใจพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่สอดรับกับความต้องการในแต่ละชุมชนและสอดคล้องกับสถานการณ์ในห้วงเวลานั้น ให้สามารถพัฒนาความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิตที่ดีตามวิถีของคนในท้องถิ่น ในหลักการที่ว่า พัฒนาเพื่อความมั่นคงที่มีเป้าหมายชัดเจนมากกว่าการพัฒนาอย่างสะเปะสะปะ และที่สำคัญยิ่งก็คือการดำเนินกิจกรรมตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงนี้ จะสามารถเข้าถึงหัวใจพี่น้องในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง