เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com แทนที่โรงเรียนจะสร้างคน ให้ความรู้ให้ปัญญา บางแห่งกลับเป็นที่บ่มเพาะความรุนแรง เป็นข้อพิสูจน์ว่า สถานที่ใด สังคมใดใช้อำนาจมาก ก็ย่อมเกิดความรุนแรงมาก ทั้งจากผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ เพราะแรงกดมาก ปฏิกิริยากลับมาก็มาก เรื่องครูตีเด็กเป็นข่าวบ่อย โดยเฉพาะที่ตีแบบรุนแรงจนหลังลาย และไม่มีเหตุผลอะไรไปกว่าการหยิบปากกาจากโต๊ะครู เป็นข่าวใหญ่เพราะสังคมออนไลน์ไม่ปรานีใคร เรื่องแบบนี้แพร่กระจายเป็นไวรัส และก็ตามเคย พอเป็นข่าว ผู้บริหารการศึกษาก็รีบไปที่เกิดเหตุ ไปเยี่ยมครอบครัว เอาเงินไปให้ หน่วยงานราชการอื่นก็เฮกันไปด้วย เพราะได้ออกสื่อ เป็นข่าว ถามว่า “มีหน่วยงานเหล่านี้ไว้ทำไม” ปฏิรูปการศึกษาเกิดได้ถ้าทำที่ฐานราก ปรับเปลี่ยนสังคมอำนาจมาเป็นสังคมที่เน้นความสัมพันธ์ที่เคารพศักดิ์ศรีของความเป็นคนอย่างเท่าเทียม เสมอภาค ไม่ใช่สังคมแบ่งฐานะ ที่ถอนรากเหง้าความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้องในสังคมเกษตรไปสู่ความสัมพันธ์แบบอุตสาหกรรม ที่ทำให้โรงเรียนเป็นโรงงาน นักเรียนเป็นเพียงผลผลิตโหลๆ ไร้จิตวิญญาณ จึงถูกกระทำเหมือนเป็นวัตถุสิ่งของ ปฏิรูปการศึกษาเริ่มจากปฏิรูปความสัมพันธ์ครูนักเรียน ถ้าครูไม่รู้จักเด็กนักเรียนของตนเอง ไม่รู้ว่าที่บ้านเป็นอย่างไร พ่อแม่ยังอยู่ด้วยกันหรือแยกกัน อยู่กับตากับยายหรือเปล่า ยากจนข้นแค้นแค่ไหน ทำไมมาโรงเรียนสาย ทำไมไม่มีปากกาดินสอ ไม่รู้จักเด็กในฐานะที่เป็น “คน” ก็จะจัดการแบบ “วัตถุ” อ่านรายงานเรื่องระบบการศึกษาไทยใน CNN ว่าเลวร้ายที่สุดในอาเซียน (ireport.cnn.com/docs/) ก็ไม่รู้จะไปแก้ตัวได้อย่างไร การประเมินผลระหว่างประเทศทีไรก็ยืนยันได้อยู่แล้ว่า เราล้มเหลว อ้างว่าขาดงบประมาณก็ฟังไม่ขึ้น เพราะกระทรวงศึกษาธิการได้งบประมาณสูงสุด ปัญหาใหญ่คือระบบโครงสร้างที่เป็นผลผลิตของสังคมอำนาจ ที่ใช้แต่กฎหมาย การสั่งการ การควบคุม การลงโทษ เริ่มจากที่กระทรวงศึกษาธิการลงไปจนถึงครูใหญ่ครูน้อยทั่วประเทศ ออกกฎหมาย กฎระเบียบเพื่อเอื้อต่อการใช้อำนาจของตน คือความปรารถนาดีที่ประสงค์ร้าย เพราะบริหารการศึกษาโดยใช้อำนาจแบบนี้ปลดปล่อยคนให้เป็นอิสระ พัฒนาสังคมให้เข้มแข็งไม่ได้ ความรุนแรงในโรงเรียนไม่ได้มีแต่ระหว่างครูกับนักเรียน แต่ระหว่างนักเรียนด้วยกันเอง ระหว่างสถานศึกษา ที่ไล่ตีกันฆ่ากันกลางถนนให้เห็นและเป็นข่าว ประเทศไทยน่าจะมีเรื่องแบบนี้มากที่สุดในโลก ข่าวเด็กที่ถูกครูตีที่สุรินทร์ถูกขยายความจากยายของเด็กที่บอกว่า หลานกลับบ้านมาพร้อมกับกางเกงเปื้อนสีที่ถูกเพื่อนๆ แกล้ง บางวันรวมไปถึงหน้าตาด้วยที่เปื้อนสีแบบสัตว์ประหลาด ซึ่งคงทำให้กลุ่มที่รังแกชอบใจและได้ใจทำต่อไปเรื่อยๆ เพราะครูไม่ว่าอะไร อาจไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น นิก วูจีชิช คนที่เกิดมาไม่มีแขน มีลำตัวเพียงครึ่งท่อน มีเท้าโผล่ออกมานิดเดียว เป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้คนทั่วโลกให้กล้าเผชิญกับชีวิตและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เขามักบอกเด็กนักเรียนที่ฟังเขาพูดทุกแห่งทั่วโลกว่า อย่าได้แกล้งเพื่อน อย่าล้อเลียนเพื่อน เพราะเขาเองเคยประสบมาด้วยตัวเอง และเคยคิดฆ่าตัวตายเพราะเรื่องแบบนี้มาแล้ว นิกบอกว่า เมื่อคิดจะแกล้ง ล้อเลียนหรือรังแกเพื่อน ก็ขอให้หยุดคิดสักนิดว่า เขาอาจจะมีปัญหามากมายอยู่แล้วที่บ้านและโดยส่วนตัว และอาจกำลังคิดจะฆ่าตัวตาย การแกล้งเพื่อนหรือล้อเลียนอาจทำให้เขาตัดสินใจฆ่าตัวตายก็ได้ และนิกยืนยันว่า มีหลายกรณีที่เกิดขึ้นแล้ว แม่บ้านทำความสะอาดที่บ้านของผู้เขียนเล่าว่า ลูกชายอยู่ป. 4 ไม่อยากไปโรงเรียน บางวันก็หนีเรียน บางวันอยู่บ้านเฉยๆ ได้แนะนำให้เธอไปหาครูเพื่อถามว่าลูกเป็นอะไร ก็ไม่มีใครบอกได้ จึงได้แนะนำว่า ให้หาวิธีถามลูกให้ได้ว่า มีปัญหากับครู กับเพื่อน กับรุ่นพี่หรือไม่ ที่สุดเธอก็ได้พบความจริงว่า ลูกถูกข่มขู่เอาเงินเกือบทุกวันจากรุ่นพี่คนหนึ่ง จึงแนะให้ไปบอกครูประจำชั้นหรือไม่ก็ไปหาผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งทางโรงเรียนก็ได้ช่วยแก้ปัญหา เด็กก็ไม่ขาดเรียนอีกเลย นี่คือปัญหาของระบบการศึกษา การปล่อยให้มีนักเรียนกว่า 50 คนต่อห้องและปัญหาการบริหารจัดการในทุกระดับ ถ้าไม่ปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ทั้งกฎหมายแม่กฎหมายลูกทั้งหลายก็ยากที่จะทำให้การศึกษาสร้างรากฐานทางปัญญาให้สังคมไทยได้ การแก้ไขกฎหมายเพื่อการปฏิรูปก็ให้สังคมมีส่วนร่วมจริงๆ ไม่ใช่ได้แต่แต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญเข้ามา ร่างกฎหมายแล้วเอาไปให้ประชาชนยกมือ แต่ให้มีกระบวนการเสนอกฎหมายที่มาจากประชาชน ว่าเขาต้องการการศึกษาแบบไหน ไม่ใช่มีแต่กฎหมายเพื่อให้กระทรวงศึกษาบังคับควบคุมได้ง่ายขึ้น โลกเป็นดิจิทัลไปแล้ว แต่การศึกษาไทยยังไดโนเสาร์และอะนาล็อค เขาไม่ได้สอนเรียนกันแล้ว เขาจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เด็กคิดเป็น เรียนรู้เป็น นี่คือหัวใจของการศึกษา ส่วนเนื้อหาต่างๆ ไปหาเอาเองในมือถือที่เล็กเท่าฝ่ามือ แต่ใหญ่กว่าสมองของครูเป็นล้านเท่า ถ้าเข้าใจเช่นนี้ วิธีคิดก็เปลี่ยน การเรียนรู้ก็เกิด