รศ.ดร.ไชยา ยิ้มวิไล งวดนี้ขออนุญาตท่านผู้อ่านข้ามจากรายงาน “พร้อม เพย์ (PROMPT PAY)” ภาค 2 ออกไปเสนอวันจันทร์หน้า เนื่องด้วยข่าวคราวกรณี “คลองด่าน” ที่ผมคิดว่าน่าจะแสดงทั้ง “ความคิดเห็น-ความเป็นธรรม” แก่กลุ่มผู้เสียหาย หรือแม้กระทั่งหน่วยงานของรัฐที่เพียรพยายามรุกคืบรื้อฟื้นหาความผิดกับคดีคลองด่านนี้ ซึ่งผมคิดว่า “ถ้าพิจารณาตามกระบวนการยุติธรรม” น่าจะเกิด “แสงสว่าง-เข้าใจ” มากขึ้น มิใช่เห็นด้วยกับการนำเสนอของหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น! โครงการจัดการน้ำเสียในเขตควบคุมมลพิษ จังหวัดสมุทรปราการ หรือมักเรียกกันว่า “คลองด่าน” นั้น ได้เริ่มต้นเมื่อกลางปี 2536 หรือประมาณ 20 กว่าปีแล้ว โดยจุดเริ่มต้นนั้น น่าจะเป็นโครงการบำบัดน้ำเสียที่เป็นประโยชน์อย่างมหาศาล เนื่องด้วยจังหวัดสมุทรปราการมีโรงงานเยอะมาก ทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการโครงการจัดการน้ำเสีย โดยกรมควบคุมมลพิษ และประกาศคัดเลือกบริษัทต่างๆ ทั้งขายที่ดินเพื่อสำหรับใช้ในโครงการดังกล่าว ตลอดจนบริษัทก่อสร้างเมื่อปี 2539 จนได้บริษัทกิจการร่วมค้าใช้ชื่อว่า “กิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี” กรณีดังกล่าว ได้เริ่มเดินหน้าจัดจ้างกลุ่มบริษัทก่อการร่วมค้าฯ จนมีการซื้อที่ดินกับกระทรวงการคลังและกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ากิจการร่วมค้าฯ ไม่ได้เสนอขายที่ดินให้แก่กรมควบคุมมลพิษตามที่ได้ถูกกล่าวหา ทั้งนี้จริงๆ แล้วกรณีดังกล่าวมีข่าวคราวมาโดยตลอดในแง่ “เชิงลบ” ทำนองว่ากลุ่มกิจการร่วมค้าทำการทุจริต แต่ในทางกลับกันภาคราชการนั้นทราบมาว่า มีการดำเนินการที่ผิดกระบวนการทางธุรกรรม จึงทำให้ต้องยุติโครงการฯ ลงทั้งๆ ที่ได้ลงทุนไปแล้ว ซึ่งเป็นเงินที่กรมควบคุมมลพิษได้จ่ายให้แก่ผู้รับจ้างและค่าควบคุมงานช่องการขยายระยะเวลาก่อสร้าง แต่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีให้คู่ความไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการก่อน อย่างไรก็ตาม คดีความนั้นต่างฝ่ายต่างฟ้องกัน โดยแพ้ชนะต่างกรรมต่างวาระ โดยมีทั้ง “ศาลชั้นต้น-ศาลอุธรณ์-คณะอนุญาโตตุลาการ” ได้มีคำชี้ขาดเป็นข้อพิพาท ว่าให้ผู้คัดค้านชำระเงินค่าจ้างค่าเสียหายและดอกเบี้ย ตามข้อเรียกร้องเกือบ 5 พันล้านบาท ให้แก่ผู้เรียกร้องเมื่อต้นปี 2554 และเดือนเมษายน ปี 2555 “คณะกรรมการปปช.”โดยคณะอนุกรรมการไต่สวนได้มีมติชี้มูลความผิดอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และคณะส่วนบริษัท และกรรมการบริษัทที่เป็นสมาชิกกลุ่มกิจการร่วมค้าฯ คณะอนุกรรมการไต่สวนมีมติว่า การพิจารณาว่าการกระทำเป็นความผิดฐานสนับสนุนเจ้า พนักงาน จึงไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะนำข้อกล่าวหาที่มีต่อกิจการร่วมค้าฯ จึงยุติไป แต่พอปี 2556 ศาลปกครองพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการด้วยข้อกฎหมาย โดยให้ผู้คัดค้านชำระเงินให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด ให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดแก่ผู้ร้องทั้งหมด และให้ยกคำร้องของผู้คัดค้าน เดือนพฤศจิกายน 2556 ศาลแขวงดุสิตได้อ่านคำพิพากษาศาลอุธรณ์ ที่ศาลอุธรณ์มีคำวินิจฉัยในส่วนที่เกี่ยวกับบริษัทและกรรมการบริษัทที่เป็นสมาชิกกลุ่มกิจการร่วมค้าฯ สรุปได้ว่า “ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้” ว่ามีส่วนร่วมกันฉ้อโกงหลอกลวงขายที่ดิน โดยเหตุการณ์เกี่ยวข้องทั้งหมดกรมควบคุมมลพิษทราบดี ทั้งนี้ คำพิพากษาศาลอุธรณ์แสดงชัดแจ้งว่า บริษัทและกรรมการบริษัทที่เป็นสมาชิกลุ่มกิจการร่วมค้าฯ “ไม่ได้มีพฤติกรรมฉ้อโกงตามข้อกล่าวหาแต่อย่างใด” และในเดือน “มิถุนายน 2557” ได้มีการฟ้องตามมติของคณะกรรมการปปช.ที่ “ชี้มูลความผิดเฉพาะข้าราชการกรมควบคุมมลพิษ” แต่ “ไม่ชี้มูลความผิดบริษัทและกรรมการบริษัทที่เป็นสมาชิกกลุ่มกิจการร่วมค้าฯ และให้ข้อกล่าวหาตกไป” อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพากษา พิพากษาให้กรมควลคุมมลพิษปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ทั้งนี้ “การเจรจาระหว่างกลุ่มกิจการร่วมค้าฯ” และ “รัฐบาลเดือนกรกฎาคม 2558” ด้วยการเจรจาการปรับลดเงื่อนไขการชำระหนี้บางส่วน เพื่อบรรเทาภาระและเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ โดยกลุ่มกิจการร่วมค้าฯ ยอมลดเงินที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาลงจำนวน 1,000 ล้านบาท โดยยอมพิจารณาชำระหนี้แบ่งเป็น 3 งวด แสดงให้เห็นว่า กิจการร่วมค้าฯ ได้ให้ความร่วมมือกับทางราชการตาม “คำพากษาของศาลปกครองสูงสุด” และ “ตามมติของคณะรัฐมนตรีทุกประการ” เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 “กรมควบคุมมลพิษได้ชำระเงินในงวดที่หนึ่งจำนวนร้อยละ 40” ให้แก่กลุ่มกิจการร่วมค้าฯ และเดือนธันวาคม 2558 ด้วยคดีนี้บริษัทและกรรมการบริษัทที่เป็นสมาชิกกลุ่มกิจการร่วมค้าฯ “ไม่ได้ถูกฟ้องเป็นคู่ความในคดี” เพราะ “คณะกรรมการปปช.” มีมติไม่ชี้มูลความผิดบริษัทและกรรมการบริษัทฯ และขอให้ข้อกล่าวหาเป็นอันตกไป ผลของคดีนี้จึงไม่ผูกพันบริษัทและกรรมการบริษัทฯ แต่อย่างใด ในที่สุด “เดือนพฤษภาคม 2559” คณะกรรมการธุรกรรมปปง.ได้ให้อายัดทรัพย์สิน ซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามข้อตกลงที่กรมควบคุมมลพิษจะต้องจ่ายให้แก่กิจการร่วมค้าฯ ในงวดที่สองและงวดที่สามไว้เป็นการชั่วคราว ทั้งนี้เป็นการอายัดทรัพย์สินซึ่ง “ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพากษาให้กรมควบคุมมลพิษชำระแก่กิจการร่วมค้าฯ” และ “คณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติอนุมัติให้มีการจ่ายเงินแล้ว” ในงวดแรกและ “เดือนกรกฎาคม 2559” คณะกรรมการธุรกรรมปปง.ได้มีมติอายัดเงินในบัญชีในส่วนกิจการร่วมค้าฯ ได้รับเงินใน “งวดแรก” ไปแล้วซึ่งซ้ำซ้อน และต้องยอมรับว่า “ผิดคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด และมติคณะรัฐมนตรี” โดยให้สำนักงานปปง.ได้ไปยื่นหนังสือร้องทุกข์ เพื่อให้ดำเนินคดีอาญากับกิจการร่วมค้าฯ ฐานฟอกเงินต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ถามว่า “ความเป็นธรรมมีหรือไม่?” และจริงๆ แล้วผ่านไป 20 กว่าปีแล้ว ทางภาครัฐกำลังพิจารณาว่าน่าจะนำโครงการมาใช้ประโยชน์ มิใช่ให้ชำรุดทรุดโทรมที่เป็นเช่นนี้ต่อไป เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์กับการดำเนินการโดย “ยังมิได้ทดลองแต่ประการใด” ว่าใช้ประโยชน์ได้หรือไม่! …………………….