ทวี สุรฤทธิกุล ผู้ใดถอดชนวนความขัดแย้งในครั้งนี้ได้ ก็น่าจะได้รับการยกย่องสรรเสริญเป็นอย่างยิ่ง ความขัดแย้งในสังคมไทยที่มีมาเป็นเวลาช้านาน แม้ว่าจะไม่ถึงขั้นที่เกิดสงครามกลางเมือง แต่ก็สร้างความบอบช้ำให้กับสังคมไทยมากพอสมควร โดยเฉพาะความขัดแย้งที่กำลังเป็นไปอยู่ในขณะนี้ ซึ่งมีทีท่าว่าอาจจะถึงขั้นเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่สำคัญในทางการเมืองการปกครองของไทย นั่นก็คือสถาบันพระมหากษัตริย์ กองทัพ ระบบราชการ และกระบวนการยุติธรรม ที่น่าจะเป็นความขัดแย้งอันยืดเยื้อ เปิดแผลกว้างและลึก จนสังคมไทยแม้จะไม่ย่อยยับ แต่อาจจะ “ขาดฉีก” และกระจายแตกออกจากกัน บางคนมองว่าความขัดแย้งที่เป็นอยู่ขณะนี้เป็นแค่ “สงครามระหว่างวัย” ที่เด็กจะเอาตามใจตัวเอง และหาเรื่อง “ก่อกวน” ให้ผู้คนในบ้านเมืองรำคาญใจ จึงคิดว่าก็ปล่อยให้เด็ก ๆ เต้นแร้งเต้นกาแสดงอิทธิฤทธิ์ไป เดี๋ยวก็จับพวกเด็กบางคนที่ก่อกวนนั้นเข้าดัดสันดานในคุกเสียบ้าง เดี๋ยวก็หมดฤทธิ์ หรือพอเวลาผ่านไปเด็กพวกนี้ก็จะเปลี่ยนความคิด เพราะในช่วงวัยนี้ก็แค่ “ฮอร์โมนว้าวุ่น” ไม่ต้องไปใส่ใจอะไรมากนัก คนที่ไม่เอาใจใส่เรื่องที่เด็ก ๆ จะเปลี่ยนแปลงสถาบันนี้นี่แหละที่น่ากลัวมากกว่า เพราะเชื่อมั่นว่าตัวเอง(คนแก่)จะอยู่ค้ำฟ้า ซึ่งนั่นก็คือ “ความประมาท” อย่างที่มีคำคมกล่าวว่า “เป็นหนทางแห่งความตาย” คนที่เติบโตมาในยุค 14 ตุลาคม 2516 อย่างผู้เขียน และศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในยุคนั้น จะพบว่า “กระบวนการบ่มเพาะความขัดแย้ง” ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่ปีก่อนหน้านั้น แต่เกิดมานับสิบปีตั้งแต่ยุคจอมพล ป.พิบูลสงครามนั้นแล้ว นั่นก็คือความรู้สึกของคนรุ่นใหม่ในยุคนั้นที่เกลียดชัง “เผด็จการและทหาร” ซึ่งได้ก่อการประท้วงมาตั้งแต่ครั้งการเลือกตั้งสกปรกใน พ.ศ. 2500 โดยคนหนุ่มสาวในมหาวิทยาลัยที่ “ถูกบ่ม” อยู่ในบรรยากาศครั้งนั้น ต่อมาบางคนได้ไปรับการศึกษามาจากต่างประเทศแล้วกลับมาสอนหนังสือในมหาวิทยาลัย ก็ได้มา “บ่มเพาะ” คนรุ่นต่อ ๆ มา จนใช้เวลาถึง 16 ปีจึงสามารถโค่นล้มทหารออกไปเสียจากระบบการเมืองได้สำเร็จ (แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ เพราะในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ทหารก็ทำลายความเชื่อถือของนิสิตนักศึกษาที่ใช้เสรีภาพกันอย่างฟุ่มเฟือยและยึดอำนาจคืนมาได้) แต่นั่นก็เป็นด้วยการสื่อสารแบบตัวต่อตัวตามแบบเดิมที่ไม่ได้รวดเร็วและกว้างไกลมหาศาล เหมือนกับการสื่อสารด้วยโซเชียลมีเดีย ที่ก็มีการบ่มเพาะความรู้สึกเกลียดชังสถาบัน ที่กลุ่มผู้เรียกร้องได้เชื่อมโยงความเกลียดชังในการสืบทอดอำนาจของทหาร ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น “หนังหน้าไฟ” เข้าด้วยกันกับการปฏิรูปสถาบัน ที่พวกเขาเชื่อกันว่าขัดขวางต่ออนาคตและความก้าวหน้าของพวกเขา ซึ่งอาจจะใช้เวลาสั้นกว่าการเปลี่ยนแปลงเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 แต่ที่น่าเป็นห่วงกว่านั้นก็คือ จะไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงเฉพาะการล้มทหารและเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมือง (อย่างที่จะมีการแก้รัฐธรรมนูญ) แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะกระทบไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ และองคาพยพที่เดี่ยวข้อง ได้แก่ รัฐบาล รัฐสภา และศาล นั้นด้วย (เพราะพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจผ่านทั้ง 3 สถาบันนี้) การที่รัฐสภามีมติเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาให้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขความขัดแย้ง โดยมอบหมายให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา เป็น “หัวเรือ” ที่จะจัดตั้งคณะกรรมการคณะนี้ พร้อมกับที่จะต้องให้มีแนวทางหรือข้อตกลงที่จะคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งโดยเร็ว นับว่าเป็นอีก “ความหวัง” หนึ่งของสังคมไทย แม้ว่าจะมีหลายคนปรามาสว่าอาจจะเป็นแค่ “ปาหี่” หรือ “เกมยื้อเวลา” ที่จะไม่เกิดผลได้อะไรที่เลิศหรู แต่ก็มีบางคนรวมถึงผู้เขียนที่อยากจะมองว่า “นี่คือโอกาสสุดท้าย” ในชีวิตของคุณชวนที่จะสร้างชื่อเสียงให้กับตนเอง ด้วยการทำประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ให้กับประเทศชาติ และอาจจะทำให้คุณชวนได้รับการยกย่องว่าเป็น “รัฐบุรุษ” ของประเทศไทยด้วยอีกคนหนึ่ง คุณชวนเป็นนักการเมือง “เก่าแก่” ที่อาจจะเรียกในวันนี้ได้ว่าอาวุโสกว่านักการเมืองคนใด ๆ ทั้งนี้ในชีวิตก็เคยขึ้นสู่จุดสูงสุดของความเป็นนักการเมืองทั้งในฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติมาแล้ว คือได้เป็นทั้งนายกรัฐมนตรีและประธานสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว รวมถึงครั้งนี้ที่ได้กลับมาเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรอีกรอบ ทั้งยังได้รับมอบหมายให้ทำงานที่ยิ่งใหญ่ โดยในอดีตคุณชวนยังไม่ได้รับการยกย่องในผลงานต่าง ๆ เท่าใดนัก เช่น ในสมัยที่เป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้ฉายาว่า “ชวนเชื่องช้า” เพราะทำงานและตัดสินใจแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือเป็นเจ้าของวาทะประจำปีว่า “ยังไม่ได้รับรายงาน” เพราะมัวแต่ต้องรอข้อมูลจากข้าราชการจึงจะกล้าให้รายละเอียดต่าง ๆ ในการสัมภาษณ์ ส่วนการเป็นประธานรัฐสภาก็ทำหน้าทีได้ดีตามระบบ คล้ายกับการทำงานประจำ ที่เพียงแค่รักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยในสภาให้ได้ ก็ได้ชื่อว่าทำหน้าที่ได้ดีแล้ว เวลาที่เรามองคนทำงานทางการเมือง เรามักจะมองแค่ตัวนายกรัฐมนตรี และให้เครดิตต่าง ๆ แก่ผลงานของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาลเท่านั้น แต่อีกคนหนึ่งที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่า ทว่ากลับถูกมองข้ามอยู่เรื่อย ๆ นั่นก็คือ ประธานรัฐสภา สำหรับนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาในขณะนี้ก็เป็นนักการเมืองที่คร่ำหวด แน่นอนว่าจะต้องรู้ตื้นลึกหนาบางเกี่ยวกับการเมืองไทยเป็นอย่างมาก และน่าจะรู้ดีว่าปัญหาความขัดแย้งในครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะอะไร และจะ “เป็นไป” ในแบบใด รวมถึงวิธีที่จะแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดและเป็นที่ยอมรับ ขึ้นอยู่กับว่าท่านจะ “เลือกทำอะไร” การปกครองในระบบรัฐสภาอย่างที่ไทยนำมาใช้นี้ รัฐสภาจะต้องเป็น “แกนหลัก” ของประเทศ เมื่อรัฐบาลนี้สร้างปัญหา รัฐสภาก็ต้องเป็นผู้นำของประชาชน ในทำนองเดียวกันกับที่ประชาชนมีปัญหาและมีความขัดแย้งกับรัฐบาล รัฐสภาในฐานะตัวแทนปวงชนชาวไทยก็ต้องเลือกที่จะอยู่ข้างประชาชน ซึ่งถ้าหาก ฯพณฯ ชวน หลีกภัย “คิดถูก เลือกถูก ทำถูก” ประชาชนก็จะมอบรางวัลที่ยิ่งใหญ่ให้กับคุณชวน อาจจะเป็น “มงกุฎทองคำ” แทน “ใบมีดโกนอาบน้ำผึ้ง(เก่า ๆ)” นั้นก็ได้