แสงไทย เค้าภูไทย ม็อบขับไล่บิ๊กตู่เริ่มรุกฆาตด้วยการแตะต้องสถาบันโดยตรงยิ่งขึ้น เป็นการตีวัวกระทบคราดหมายกดดันให้ฝ่ายรัฐบาลยอมตามคำเรียกร้องทั้งสามข้อ การที่คณะราษฎรตั้งข้อเรียกร้อง 3 ข้อคือให้นายกรัฐมนตรีลาออก แก้รัฐธรรมนูญและปฏิรูปสถาบันนั้น ถือเป็นการกระชับเงื่อนไขในการเรียกร้องเพื่อให้มีความเป็นไปได้มากกว่าข้อเรียกร้องเดิม 10 ข้อ แต่ก็มีเสียงติติงว่า ไม่บังควรนำพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องในการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลในครั้งนี้ แรกๆก็มีความคิดเห็นไปในทางนั้นกันมากจากหลายฝ่าย แม้แต่ฝ่ายสนับสนุนม็อบเด็ก เหตุว่าจะเป็นการ “เรียกแขก” เปิดช่องว่างให้ฝ่ายตรงข้ามเข้ามาแทรกแซงในลักษณะต่อต้านการเคลื่อนไหว กลุ่ม“รักสถาบัน” หรือฝ่ายกษัตริย์นิยม แห่กันออกมาปกป้อง มีการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์และการต่อต้านโดยตรงด้วยม็อบที่เสี่ยงต่อการปะทะ แต่การที่ม็อบเด็กเปลี่ยนเกม โดยมุ่งไปสู่การแตะต้องสถาบันโดยตรง เมื่อวันอาทิตย์ ทั้งเคลื่อนที่ม็อบไปสู่ประตูพระบรมมหาราชวัง ทั้งการตั้งตู้ไปรษณีย์ รับจดหมายร้องทุกข์ทำนอง “ถวายฎีกา” ร้องทุกข์ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้เห็นเจตนาลึกซึ้งของข้อเสนอหรือเงื่อนไขข้อที่ 3 ของคณะราษฎรว่า เป็นการดึงเอาสถาบันมาต่อรองกับการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นการตีวัวกระทบคราด เหตุจาก “ตีคราด” เป็นสัญญาณให้วัวเดินหน้าเพื่อลากเกวียนให้เคลื่อนที่เหมือนเดิมไม่ได้ การดึงสถาบันลงมาเกี่ยวข้องกับการชุมนุมต่อต้านนายกรัฐมนตรีเช่นนี้ ก็ไม่ต่างไปกับการตีวัวให้กระทบไปถึงคราดที่ชื่อพลเอกประยุทธ์ ฐานะของกษัตริย์ไทยนั้น พระองค์ทรงอยู่เหนือการเมือง ไม่ทรงก้าวก่ายหรือฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่ในหลายครั้งที่เกิดวิกฤติการณ์ เกิดความแตกแยก เกิดการปะทะกันระหว่างคู่ขัดแย้งหรือเกิดการปราบปรามจากฝ่ายรัฐถึงขั้นนองเลือด พระมหากษัตริย์ จะทรงเป็นที่พึ่งสุดท้ายในการระงับ ยุติเหตุการณ์ อย่างกรณีเหตุการณ์ “14 ตุลาฯ16” หรือ “พฤษภาทมิฬ” เป็นต้น และแม้การทำรัฐประหาร 2549 คณะผู้ทำรัฐประหาร ก็ขอพระราชทานนายกรัฐมนตรีมารักษาการ บริหารราชการก่อนคืนอำนาจให้แก่ประชาชนได้เลือกตั้งผู้แทนราษฎรชุดใหม่ข้ามาทำหน้าที่ สำหรับครั้งนี้ หากไม่มีเหตุการณ์รุนแรงหรือร้ายแรงเช่นในอดีต พระมหากษัตริย์ ก็คงจะไม่เข้ามาเกี่ยวข้องหรือทำหน้าที่คนกลางในลักษณะดังกล่าว ความขัดแย้งทางการเมือง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกระบอบการปกครอง เพราะองค์ประกอบของความขัดแย้งมีอยู่ในทุกภาคส่วนที่เป็นองค์คณะ เป็นความขัดแย้งทางความคิดระหว่างบุคคล ระหว่างกลุ่ม ขัดแย้งในผลประโยชน์ ขัดแย้งในนโยบาย ฯลฯ การแก้ไขความขัดแย้งหากเป็นในระบบรัฐสภา ก็แก้ไขกันในสภา ขัดแย้งกันในคณะปกครองแบบเผด็จการหรืออำนาจนิยม ก็แก้กันในคณะปกครองนั้นๆ ประเทศไทยวันนี้ สภาผู้แทนราษฎรกำลังทำหน้าที่ขจัดความขัดแย้งทางความคิดที่ก่อเกิด “การเมืองลงถนน” อยู่ คงไม่ถึงกับต้องถวายคืนพระราชอำนาจให้พระองค์ลงมาแก้ไขความขัดแย้ง แต่บรรดาม็อบ ต่างก็ไม่ไว้วางใจสภาฯ ว่าจะแก้ไขปัญหานี้ได้ จึงใช้ไม้ตาย ตีวัวให้กระทบคราด ทั้งคราดบิ๊กตู่และทั้งคราดรัฐสภาฯ