พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ ขอพูดถึง “ทะแนะ” ในอเมริกาต่อจากตอนที่แล้วนะครับ ผมเอาไปขยายต่อในเฟซบุ๊คส่วนตัว มีผู้อ่านสนใจถามมาเหมือนกัน  บอกว่า ไม่เคยได้ยินคำๆ นี้มาก่อน สำหรับคนไทยในประเทศหรือคนทั่วไป คงใช่ครับ เพราะ ทะแนะ คือ บุคคลซ้อนของทนาย หรือตัวเชื่อมระหว่างลูกความคนไทย(หรือเชื้อชาติอื่น) กับทนายตัวจริง บางครั้งบุคคลเหล่านี้ก็มีพฤติกรรมคล้ายๆ หรือเสมือนทนาย แต่ ไม่ใช่ทนายตัวจริง อย่างทะแนะคนไทยก็มีหน้าที่ในการจัดการหาลูกค้าคนไทยในชุมชนไทย โดยอาศัยความเชื่อถือส่วนตัว และการลงโฆษณาตามสื่อท้องถิ่นต่างๆ เช่น หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นภาษาไทยของคนไทยในแต่ละเมือง หรือสื่อประเภทอื่นๆ เช่น ตอนหลังมีสื่อทีวีท้องถิ่นของคนไทย ก็ลงไปลงโฆษณากับสื่อทีวีนั้นด้วย ที่สำคัญ คือ รูปแบบการโฆษณาของทะแนะบางคนสร้างภาพในทางที่ก่อให้เกิดความน่าเชื่อถือกับคนอ่าน คนดู เช่น ระบุประวัติการศึกษาของทะแนะว่า จบเนติบัณฑิตจากสำนักโน่นสำนักนี่ที่ดังๆ ของเมืองไทย และมีใบอนุญาตว่าความที่เมืองไทยด้วย หากแต่ความเป็นจริงก็คือ การจบการการศึกษาด้านนิติ หรือเนติบัณฑิตในเมืองไทยไม่ว่าจากสถาบันไหน ก็ไม่เกี่ยวกับกระบวนการทางด้านกฎหมายในอเมริกา เป็นคนละเรื่องกัน  คนไทยหลายคนที่ไม่เข้าใจถึงข้อเท็จจริง ดังกล่าว อาจเบลอ ไปถือจริงจังว่า ทะแนะเหล่านี้คงมีความรู้เกี่ยวกับข้อกฎหมายของอเมริกันด้วย ซึ่งก็อาจจะใช่ ในเรื่องของความรู้พื้นๆ ด้านกฎหมายของอเมริกัน แต่ทะแนะก็คือ ทะแนะ ไม่ใช่ทนาย ทนายที่แท้ต้องมีใบอนุญาตจาก “อเมริกัน บาร์” เพราะทะแนะ ไม่มีใบอนุญาตว่าความที่อเมริกา จึงไม่อยู่ในสาระบบของกระบวนงานยุติธรรมในอเมริกาแต่อย่างใด โปรดอย่าได้เข้าใจผิดแต่ข้อดีของทะแนะก็มี แต่หากคนไทยหรือคนเชื้อชาติไหนก็ตาม สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดี หรืออยู่ในระดับดีพอควร อาจไม่จำเป็นพึ่งทะแนะก็ได้ หรือไม่อีกทางสำหรับคนที่ไม่รู้ภาษาก็สามารถใช้ล่ามในศาลได้ ทะแนะในชุมชนไทยที่อเมริกา ส่วนใหญ่ทำงานให้กับทนายความ 3 ประเภท ได้แก่ ทนายความด้านต่างด้าว หรือที่รู้กันดีในชื่อ Attorney at Law of Immigration หรือ Immigration lawyer  ทนายความด้านอุบัติเหตุ และทนายความด้านการจัดการสินทรัพย์  ส่วนทะแนะที่ทำงานให้กับทนายประเภทอื่น เช่น ทนายด้านอาชญากรรมอาจมีบ้างแต่เป็นจำนวนไม่มาก อาจเพราะคดีด้านอาชญากรรมเกิดขึ้นน้อยมาก จำนวนไม่ถี่เหมือนคดี 3 ประเภทดังกล่าว ในจำนวนหลายประเภทของทนายในอเมริกานี้ มีทนายประเภทเดียวที่ว่าความก่อน แล้วค่อยรับเงินค่าจ้าง (ว่าความ) ทีหลัง คือ ทนายความด้านอุบัติเหตุ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกรณีที่เห็นว่า คดีสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทประกันฝ่ายตรงกันข้ามได้ กล่าวคือ ลูกความตนเองไม่ผิดและเป็นฝ่ายเสียหาย บางครั้งทนายยังสามารถเรียกร้องค่าเสียหายส่วนหนึ่งจากบริษัทประกันของลูกความเองได้ด้วย หลังจากได้ค่าเสียหายหรือชนะคดีแล้วทนายด้านอุบัติเหตุก็จะแบ่งเปอร์เซ็นต์จากเงินค่าเสียหายที่ได้กับลูกความ ส่วนทะแนะก็จะได้รับเงินไปส่วนหนึ่งในส่วนเปอร์เซ็นต์วงเงินของทนาย  ทนายบางสำนักงาน จ่ายค่าคอมมิชชั่นให้กับทะแนะในแบบตายตัวก็มี อย่างเช่นคดีละ 500 เหรียญ หรือ 1,000 เหรียญ  โดยส่วนใหญ่การจ่ายแบบนี้จะจ่ายให้กับทะแนะประเภทที่ทำงานนอกสำนักงาน ทะแนะคาบลูกค้าไปให้ทีสำนักงาน ขณะที่ทนายที่อยู่นอกเหนือไปจากทนายทางด้านอุบัติเหตุ อาจจะรับเงินค่าจ้างจากลูกความก่อน แล้วแต่เงื่อนไขที่ตกลงกัน เช่น ลูกความอาจจ่ายครึ่งหนึ่งก่อน หลังจบคดีถึงค่อยจ่ายเต็มจำนวน เป็นต้น ดังที่บอกแล้วว่า การติดต่อทนาย เป็นเรื่องที่ผู้ที่กำลังจะเป็นลูกความจะต้องพิจารณาให้รอบคอบ โดยเฉพาะคดีสำคัญอย่างคดีอาชญากรรม  คนไทยในอเมริกาบางคนไม่รอบคอบเรื่องนี้ บางคนอาจเห็นว่า ทนายความคนนั้นๆ เป็นคนไทย หรือเป็นคนเอเชียนด้วยกัน  ก็เลือกไว้ก่อน การใช้เหตุผลทำนองนี้นี้อาจสุ่มเสี่ยง หากเจอทนายน้ำเน่าเข้า เรื่องคดีความอาจไม่ลงเอยด้วยดี ผมเห็นลักษณะการใช้ทนายความของคนอเมริกันจากหลายกรณี  หรือหลายๆ คดีที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะคดีอาชญากรรมที่ทนายสามารถชี้เป็นชี้ตายชีวิตของลูกความได้ พวกเขาใช้ทนายส่วนใหญ่ที่เป็นทนายผิวขาว ให้พวกทนายเหล่านี้เข้าไปสู้หรือว่ากันเองในศาลที่ประกอบไปด้วยผู้พิพากษา คณะลูกขุน และทนายสองข้าง  การแสดงทีท่าของทนายผิวขาวเหล่านี้ส่วนใหญ่ มักอาจหาญไม่หวั่นเกรงที่จะต่อกรกับฝ่ายคู่ความตรงกันข้าม แต่หากเป็นทนายต่างเชื้อชาติออกไป อาจจะยังมีท่าทีพรั่นพรึงต่ออำนาจผู้พิพากษา หรือพรั่นพรึงทนายผิวขาวฝ่ายตรงกันข้าม  ให้เห็นอยู่ ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม ผมถึงเกิดความรู้สึกในทำนองนี้    มีข้อสังเกตอยู่บางประการ ในเรื่องสีผิว ในกรณีการว่าจ้างทนาย คือ คนผิวดำหรืออาฟริกัน-อเมริกัน มักว่าจ้างทนายผิวขาว  ขณะที่มีคนผิวขาวหลายคนเหมือนกัน ที่ว่าจ้างทนายความผิวดำ กลับมาที่ชุมชนไทย ผมไม่ค่อยพบว่า ทะแนะคนไทยได้ทำงานกับทนายความด้านอาชญากรรม อาจเป็นเรื่องหนักเกินไปสำหรับงานกฎหมายด้านนี้ ขณะที่การทำงานในคดีใหญ่ๆ ถือเป็นงานหนักมาก ต้องใช้ทนายหลายคนช่วยกันระดมสมองสู้คดี ดังเช่นคดีของคนดัง นักการเมือง ดารานักแสดง ในอเมริกาหลายคน บางครั้งใช้ทนายมากกว่าหนึ่งคนขึ้นไป เงินค่าจ้างก็มากตามขึ้นไปด้วย   เช่น คดีของโอเจ ซิมสัน เป็นต้น เพียงแต่ในคดีนี้พวกเขากลับไม่มี  “ทะแนะ” ที่เขียนมาทั้งหมดไม่ใช่ผมเห็นว่า  ทะแนะไม่มีประโยชน์ ทะแนะยังคงต้องอยู่คู่กับชุมขนไทยในอเมริกาต่อไปครับ เพียงแต่ต้องการชี้ให้เห็นว่า ทะแนะควรดำรงบทบาทของทะแนะ มิใช่ “ทะลึ่ง”กระทำตนเยี่ยงทนายจนผู้ใช้บริการหลงเข้าใจผิดว่า ทะแนะคือทนายทะแนะคือทะแนะ ทนายคือทนาย ตามกฎหมายอเมริกันครับ ไม่ใช่ตามกฎหมายไทยเรื่องของเรื่องก็มีแค่นี้ครับ