ศ.ดร.ไชยา ยิ้มวิไล งวดนี้น่าจะเป็นครั้งสุดท้ายที่จะกล่าวถึงปัญหาของ “ระบบการศึกษาไทย” ในเชิง “โครงสร้าง-ระบบ” บวกกับ “หลักสูตร-การเรียนการสอน” ที่เคร่งครัดอย่างมาก ตั้งแต่เด็กยันจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยไม่ได้คำนึงทั้งในเชิงจิตวิทยาและเชิงพฤติกรรมวิทยา โดยเฉพาะวัยเจริญพันธุ์ แต่ที่สำคัญที่สุด “การเรียนการสอนระบบคุณธรรม-ศีลธรรม-จริยธรรม” และ “หลักธรรมาภิบาล” แทบจะไม่มีการสอนเลย นั่นจึงเป็นปัญหาสำคัญของ “การรับรู้ผิดชอบชั่วดี” ของเด็กและเยาวชนไทยที่เสื่อมโทรมลงทุกวัน เพียงแต่ว่าปัญหาเท่านั้นยังไม่พอ สภาพแวดล้อมภายนอกสถานศึกษาเพียงรอบรั่วมหาวิทยาลัยมีแต่สถานบันเทิง ไม่ว่าบาร์เลาน์ คาราโอเกะขายเหล้าขายเบียร์ที่มอมเมา ยั่วยุนักเรียนนักศึกษา จนถ้าไม่ควบคุมอารมณ์สามารถเสียผู้เสียคนได้เลย แม้กระทั่งการขายยาเสพติด ยังหาซื้อได้ง่ายเสมือนกระดาษชำระที่มีขายโดยทั่วไป แม้กระทั่งเหล้ายาปลาปิ้ง ผิดกับต่างประเทศที่สภาพแวดล้อมบริเวณล้อมสถานศึกษา มีแต่ต้นไม้สนามหญ้าที่สวยงาม ห้ามมีร้านค้าขายเหล้าโดยเด็ดขาด มีแต่ร้าน 7-11 เท่านั้น หรือภัตตาคารร้านอาหร บรรยายกาศชวนเรียนเป็นอย่างดี ดังที่กล่าวไว้แล้วคราวก่อนๆ ขอย้ำว่า “การศึกษา” ของต่างประเทศนั้น เขาเน้นย้ำจิตวิทยาและการสร้างความมั่นใจและความอบอุ่นมากที่สุด โดยเฉพาะในระดับมหาวิทยาลัยที่จะต้องสร้างบรรยากาศให้ดีที่สุด เพื่อให้นักศึกษาใฝ่เรียนมากที่สุด หรือกล่าวอย่างง่ายๆ ว่า “บรรยากาศต้องสวยงามที่สุด” แต่ที่สำคัญมากกว่านั้น “ปัญหาระบบการศึกษาของไทย” คือ “คุณภาพชีวิต-มาตรฐานครู” ของไทยนั้นอาจต่ำกว่าความเป็นจริง กล่าวคือ “ค่าครองชีพ” หรือ “เงินเดือน” บวกกับ “มาตรฐาน” หรือ “ความเป็นมืออาชีพ” ของ “ความเป็นครู” ที่อาจมีน้อยหรือไม่มีเลย ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า “ครู” มิใช่ “ไม่ดีทั้งหมด!” เพียงแต่อาจมีเพียง “ร้อยละ 30-50” ที่ฟังดูแล้วน่าจะมีมากพอสมควร ที่ครูไม่ทุ่มเทในการเป็นครูเลย แต่ก็มีครูจำนวนอีกประมาณร้อยละ 50-60 ที่ทุ่มเทในการเป็นครู เรียกว่า “อาชีพครูอย่างแท้จริง” แต่ก็มีครูที่เพียงการเป็นครูเท่านั้น ที่เพียงสอนหนังสือเท่านั้น โดยอาจไม่มีการทุ่มเท เปิดหนังสือสอน หมดเวลาก็เลิกสอน มิได้มี “หัวใจของการเป็นครู” หรือมี “อาชีพครูเป็นอาชีพเสริม” แต่มี “อาชีพอื่นเป็นอาชีพหลัก” อาทิ “อาชีพขายประกันภัย-อาชีพขายเครื่องสำอาง” หรือ “อาชีพอื่นๆ” ที่สามารถสร้างรายได้มากกว่าการเป็นครู จึงทำให้ครูส่วนใหญ่มิได้ทุ่มเทในการเป็นครู ทั้งนี้โดยว่าไปแล้ว “เงินเดือนครูมีรายได้น้อยเพียงอาจหมื่นกว่าบาทเท่านั้น!” จึงทำให้มิได้มีแรงจูงใจในการทุ่มเทสอน “อาชีพครู” เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละอย่างมาก เนื่องด้วยเป็นอาชีพที่ “ต้องสร้างคน” และที่สำคัญไปมากกว่านั้น เป็นอาชีพที่ “สร้างทรัพยากรมนุษย์” เพื่อ “การสร้างชาติ” ให้เป็น “คนดีมีคุณธรรม” มี “ความคิดที่ดี” เพราะฉะนั้น “เงินเดือนครู” ควรจูงใจครูที่เป็นบุคคลากรสำคัญที่ในการที่จะให้ครูมีความหมกมุ่นทุ่มเท และสำคัญมากไปกว่านั้น ต้องทำการศึกษา “วิจัย” และ “พัฒนาต่อยอด” สู่ความเป็น “นักคิด” และถ้าสามารถ “สร้างความเป็นปราชญ์” ได้จะประเสริฐสุด ถามว่า “การสร้างคน” จน “การสร้างคนให้เป็นนักคิด” และ “คิดเป็น” จนเป็น “นักปฏิบัติในทางที่ดี” นั้นยากแสนยาก เพราะ “การสร้างคนให้เป็นคน” นั้น ย่อมใช้เวลาอันยาวนานไม่ต่ำกว่า 8-10 ปีขึ้นไป จึงจำเป็นต้องอบรมบ่มสั่งสอน ที่ต้องทุ่มเททั้งกายและจิตใจที่ต้องอดทนและสอนในเชิงจิตวิทยา พร้อมยกตัวอย่างให้เด็กได้เห็นจริง ประกอบการดำเนินชีวิตไปด้วย นอกเหนือจากปัญหาทั้งหมดข้างต้นนั้น ยังเป็นปัญหาสำคัญที่เป็น “ปัญหาหลักของระบบการศึกษาไทย” แต่ “ปัญหารุมเร้า” ที่เป็น “วงกรอบนอก” ที่เป็นวงล้อมปัญหาอีกหนึ่งวงคือ ความตั้งใจจริงของครูที่มัวแต่ “แก้ไขปัญหาหนี้สิน” ที่เป็นปัญหาหมักหมมมาอย่างยาวนาน จนไม่อาจนับจำนวนหนี้สินได้ว่าจำนวนเท่าใด เท่าที่พอนับนิ้วไม่รู้กี่นิ้วได้น่าจะประมาณหลายแสนล้านบาทที่มักเป็น “หนี้นอกระบบ” ที่ครูจำเป็นทำงานอาชีพเสริมด้วยการค้าประกัน ค้าขายเครื่องสำอาง จนทำให้ลืมการเป็นอาชีพครูอย่างแท้จริงหรือลืมที่จะทุ่มเทในการเป็นครู กับการอบรมบ่มสั่งสอนและเฝ้าติดตามพฤติกรรมดูเด็กแต่ละคนว่า “ใฝ่ดี” หรือไม่อย่างใด ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงถือว่าเป็น “ปัญหาองค์รวม” ที่ต้องเริ่มตั้งแต่ “สถาบันครอบครัว” โดยเฉพาะครอบครัวระดับล่างที่มักมีสถานะยากจน จนพ่อแม่ลูกไม่ค่อยมีเวลาได้อยู่ด้วยกันมากมายนัก หรือไม่ค่อยมีเวลาเลย จนเด็กมักอยู่กับเพื่อนฝูงที่สภาพแวดล้อมของสังคม ที่เราก็ตระหนักกันดีอยู่ว่า “เน่า!” มากน้อยเพียงใดกับเหล้า ยาเสพติดทั้งหลาย จนแม้กระทั่งเด็กอายุ 8-9 ขวบ สามารถติดยาได้ หรือถ้าครอบครัวสถานะปานกลาง เยาวชนก็ยังสามารถออกจากบ้านสังสรรค์กันในหมู่เพื่อนฝูงได้ โดยไม่มีตำรวจที่คอยตรวจตรามากมายนัก จนต้อง “ปฏิรูปตำรวจ” ในปัจจุบัน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะสำเร็จมากน้อยเพียงใด (เอาไว้คราวหน้ามาว่ากัน!) แต่ถ้าครอบครัวใดมีสถานะทางเศรษฐกิจดี ประกอบกับมีสถานะทางการศึกษาดีจะพยายามส่งลูกหลานเข้าศึกษาสถาบันที่มีเครือข่ายที่ดี เพื่อต่อยอดกันในอนาคต แล/หรือ ส่งไปศึกษาต่อในต่างประเทศเพื่อฝึกระเบียบวินัย บวกกับได้ภาษาอังกฤษ แถมสภาพแวดล้อมดีอีกต่างหาก แต่ต้องยอมรับความจริงว่า “การศึกษาแพง!” “ชนชั้นนำ” ในสังคมจึงเป็น “ชนชั้นนำ” ตลอดไป ที่สามารถต่อยอดไปได้ตลอดกาล แต่ก็ไม่แน่เสมอไปเมื่อไปเจอเด็ก และ/หรือ เยาวชนที่ถูกเลี้ยงดูจนเสียคน จนเรียกว่า “สปอยด์ (SPOIL)” ที่ตามใจตัวเองไม่เรียนหนังสือ เอาแต่ใช้เงินเที่ยวเตร่จนติดยาจน “ชีวิตล้มเหลว” ก็มีให้เห็นเช่นเดียวกัน ยิ่งถ้าเข้ามาดูแลธุรกิจครอบครัวจนธุรกิจพังไปกับตา! ทั้งนี้ อยู่กับการอบรมบ่มสั่งสอนแต่ “การวางแผนชีวิต” ของคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องมี “วิสัยทัศน์” มองการณ์ไกล อย่างน้อยต้องส่งเสียลูกเต้าให้จบปริญญาตรีสั่งสอนให้รู้จัก “บาปบุญคุณโทษ” และ “ผิดชอบชั่วดี” แค่นี้ก็น่าจะเป็น “คนดีของสังคม” ได้แล้ว!