ทวี สุรฤทธิกุล ถ้าไม่มี ร.7 ประเทศไทยคงนองเลือด การเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศไทย มีงานวิชาการนับร้อยที่เขียนถึงเหตุการณ์ในวันนั้น รวมทั้งที่เป็นบทวิจารณ์และข้อเขียนเชิงวิพากษ์ก็มีอีกนับเป็นพัน ส่วนใหญ่จะเป็นการกล่าวถึงความสำเร็จของคณะผู้ก่อการที่ชื่อว่า “คณะราษฎร” นั้นเป็นสำคัญ แต่มีน้อยมากที่จะกล่าวถึงบทบาทของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะองค์พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ที่ทรงถูก “โค่นอำนาจ” ลงในครั้งนั้น ว่าได้ทรงแสดง “น้ำพระราชหฤทัย” แก่ผู้ก่อการและราษฎรของพระองค์อย่างไร ประเทศไทยจึงปราศจากการนองเลือดหรือ “สงครามกลางเมือง” บทบาทของพระมหากษัตริย์ที่ทรงมี “น้ำพระราชหฤทัย” อันทรงคุณูปการหาที่สุดไม่ได้นี้ ถือเป็นลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของวัฒนธรรมทางการเมืองการปกครองไทย ในทางวิชารัฐศาสตร์ถือได้ว่านี่คือ “แก่นวัฒนธรรม” หรือที่นักวิชาการฝรั่งเรียกว่า “Ethos” ซึ่งในแต่ละสังคมจะมีแก่นวัฒนธรรมทั้งที่เหมือนกันและแตกต่างกัน โดยเป็นผลมาจากความเชื่อความคิดของผู้คนในสังคม ผ่านกาลเวลาและบริบทต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ ภายใต้สภาพแวดล้อมทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ทั้งภายในและภายนอกประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ว่ากันว่าแก่นวัฒนธรรมในเรื่อง “น้ำพระราชหฤทัย” นี้เป็นผลโดยตรงจากศาสนาพุทธที่เป็นแกนความคิดความเชื่อของคนไทยทุกระดับชั้น อันได้แก่ ความเมตตากรุณา ความโอบอ้อมอารี การให้อภัย และบุญกรรม แต่สำหรับองค์พระมหากษัตริย์แล้วทรงมีแกนความคิดความเชื่อที่ลึกซึ้งกว่านั้น นอกจากเรื่องทศพิธราชธรรมและจักรวรรดิวัตรที่ทรงยึดเป็นหลักในการปกครองอาณาประชาราษฎรมาตลอดทุกราชวงศ์แล้ว พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ยังทรงต้องตระหนักว่าพระองค์คือ “พระโพธิสัตว์” ที่ทรงเป็นผู้นำสัตว์ทั้งปวงด้วย ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีและ “ปราชญ์รัตนโกสินทร์” เป็นผู้ขยายความทฤษฎี “พระมหากษัตริย์คือพระโพธิสัตว์” นี้ โดยปรากฏอยู่ในงานเขียนและการปาฐกถาต่างๆ ของท่าน ในความหมายของ “พระโพธิสัตว์” นี้ก็คือ “ผู้รู้” หรือ “ผู้มีปัญญา” อันเป็นชาดกประกอบพุทธประวัติและพระอภิธรรมต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงเทศนาแก่พุทธบริษัทต่างๆ แล้วก็มีผู้จดจำนำมาเรียบเรียงเป็นบทสวดและพระสูตรต่างๆ ทั้งนี้พระโพธิสัตว์ก็คือพระพุทธเจ้าในอดีตชาติ จำนวน 500 ชาติ ที่ทรงอยู่ในสภาวะของสัตว์ชนิดต่างๆ แล้วได้บรรลุธรรมหรือได้แสดงบทบาทในการเป็นผู้นำแก่หมู่สัตว์ในแต่ละสภาวะนั้น สั่งสมบารมีมาทุกชาตินั้นให้มาบรรลุสัมโพธิญาณในชาติที่เป็นสิทธัตถะกุมารนั่นเอง ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่า ด้วยเหตุที่พระมหากษัตริย์ทรงดำรงพระองค์อยู่ในฐานะ “ผู้นำสรรพสัตว์” หน้าที่สำคัญของพระโพธิสัตว์นั้นก็คือพาสรรพสัตว์ทั้งหลายให้ข้ามพ้น “โอฆสงสาร” ที่แปลว่า “การเวียนว่ายอยู่ในทะเลแห่งกิเลส” จึงต้องทรงประพฤติพระองค์ให้เป็นแบบอย่างแก่สรรพสัตว์ ซึ่งบางครั้งก็ต้องเสียสละแม้ชีวิตของพระองค์เพื่อให้บรรลุธรรมนั้นๆ นั่นก็คือพระมหากษัตริย์ไทยในฐานะพระโพธิสัตว์นี้ จะต้องคำนึงถึงประโยชน์สุขของสัตว์อื่นเป็นหลัก มากกว่าประโยชน์ส่วนตน ด้วยความเสียสละและเพียรพยายามอย่างที่สุด ด้วยเหตุนี้พระมหากษัตริย์ของไทยจึงเป็น “พระมหากษัตริย์นักประชาธิปไตย” โดยสายพระโลหิต (ถ้าสำนวนคนสมัยนี้ก็คือ “อยู่ในดีเอ็นเอ” นั่นเอง) เพราะทรงทำเพื่อประโยชน์ของคนหมู่มาก มากว่าที่จะคำนึงถึงประโยชน์สุขส่วนพระองค์ และจะต้อง “พลีพระองค์” เพื่อให้สำเร็จประโยชน์แก่คนหมู่มากนั้นเสมอ เมื่อนำทฤษฎีนี้มาวิเคราะห์การตัดสินพระทัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนายน 2475 ที่พระองค์ไม่ทรงขัดขืนเพื่อปกป้องราชบัลลังก์ แต่ “ทรงยินยอม” เพื่อความสงบสุขของคนทั้งชาติ มิใช่เพราะความขาดกลัวอย่างที่คนบางกลุ่มกล่าวหา และไม่ใช้เพราะความอับจนไม่มีทางสู้อย่างที่คนบางกลุ่มโจมตี แต่เป็นเพราะความมีน้ำพระราชหฤทัยแบบพระโพธิสัตว์ (หรือที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่าคือองค์พระโพธิสัตว์นั่นเลยทีเดียว) จึงทำให้ทรงตัดสินพระทัยได้อย่างอัตโนมัติ ซึ่งสิ่งนี้ปราชญ์ทั้งหลายเรียกว่า “คุณธรรม” หรืออาจจะกล่าวได้ว่าคุณธรรมอย่างหนึ่งของพระมหากษัตริย์ไทยก็คือ “พระโพธิสัตว์ธรรม” นี่เอง “พระโพธิสัตว์ธรรม” คือแก่นวัฒนธรรมที่มีอยู่ในเฉพาะองค์พระมหากษัตริย์ของไทย สิ่งนี้บางตำราก็เรียกว่า “จิตวิญญาณแห่งชาติ” หรือ Spirit of the Nation ซึ่งได้รับการยอมรับนับถือจากคนทั่วโลก อย่างที่ผู้เขียนได้เคยกล่าวถึงข้อเขียนของเอกอัครราชทูตไทยประจำญี่ปุ่นในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองว่า เป็นสิ่งที่แปลกประหลาดเหลือเชื่อสำหรับชาวต่างชาติ ที่ไม่ได้เห็นการนองเลือดในการรัฐประหารในครั้งนั้น แต่ที่ประหลาดใจไปยิ่งกว่านั้นก็คือ คณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นเองกลับต้องเทิดทูนและรักษาพระราชฐานะของพระมหากษัตริย์ไว้ดังเดิม แม้ในทางนิตินัยจะลดพระราชฐานะมาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แต่ในทางพฤตินัยคณะราษฎรที่ถือตัวว่ายิ่งใหญ่ที่สุดนั้น ก็ยังต้อง “น้อมศิระกราน” แด่พระเจ้าอยู่หัวโดยดุษณีย์ หากใครได้อ่านประวัติศาสตร์ในช่วงก่อนและหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง แม้จะมีบางคนไปเขียนบิดเบือนลบหลู่พระเกียรติอยู่บ้าง แต่ถ้าอ่านในระหว่างบรรทัด อย่างละเอียดและคิดวิเคราะห์ ก็จะพบว่าสถานะของพระมหากษัตริย์ของไทยไม่ได้เปลี่ยนแปลงเลย ทั้งนี้เราอาจจะต้องประหลาดใจเสียด้วยซ้ำที่กลับพบว่าพระมหากษัตริย์ทรงมีพระบรมเดชานุภาพปรากฏโดดเด่นยิ่งขึ้น โดยที่คนไทยจำนวนมากได้เห็นว่าแม้สถาบันพระมหากษัตริย์จะถูกรังแก แต่ก็ไม่อาจข่มเหนือพระเกียรติยศนั้นได้ พระเกียรติยศนั้นยิ่งปรากฏเฉิดฉายโดดเด่น