ทวี สุรฤทธิกุล สังคมการเมืองเป็นดั่งสายน้ำ ย่อมไหลผ่านไปตามกาลเวลาและไม่หวนกลับ ผู้เขียนเคยถามตัวเองว่า ถ้าย้อนอดีตได้ตัวเองอยากไปเกิดในยุคใด คำตอบที่คิดได้ง่าย ๆ ก็คือ “สมัยสุโขทัย” เพราะว่าน่าจะเป็นสังคมแห่งความสงบสุขสมดังชื่อเมืองที่ว่า “ความสุขแห่งรุ่งอรุณ” และยิ่งได้อ่านศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงก็ยิ่งคิดว่า คนไทยในยุคนั้นช่างมีความสุขเสียเหลือเกิน จากการปกครองดูแลอย่างใกล้ชิดของ “พ่อขุน” หรือพระมหากษัตริย์ในยุคนั้น อย่างที่เรียกกันว่า “พ่อปกครองลูก” แต่เมื่อมามองความเป็นจริงของบ้านเมืองเราในช่วงชีวิตที่ผ่านมา 60 กว่าปีของตัวผู้เขียนเอง ก็มองเห็นสัจธรรมหลาย ๆ อย่างว่า การเมืองการปกครองที่เราชื่นชอบนั้นคงไม่ได้เป็นไปอย่างที่เราวาดฝัน เพราะบ้านเมืองไม่ได้เป็นของเราหรืออยู่ในการควบคุมของเราเพียงคนเดียว แต่เป็นเรื่องของคนหมู่มาก นานาจิตตัง และหลายฝักหลายฝ่าย ทั้งยังเปลี่ยนแปรไปตลอดเวลาตามกาลเวลาที่เปลี่ยนไป รวมถึงคนที่เข้ามาขับเคลื่อน คือคนรุ่นใหม่รุ่นแล้วรุ่นเล่า แล้วผลักดันคนรุ่นเก่าให้อยู่ห่างออกไป เป็นดั่งนี้เสมอมา ตอนที่เรายังเป็นเด็ก เราอาจจะไม่ได้มีความสนใจในทางการเมืองอะไรเลย เพราะเรายังอยู่ในกรอบสังคมแคบ ๆ คือครอบครัวและโรงเรียนที่มีกฎระเบียบหยุมหยิม แต่เราก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไรเพราะเรายังยอมรับที่จะอยู่ใต้กฎเกณฑ์เหล่านั้น แต่ครั้นเป็นวัยรุ่นเราเริ่มมีความรู้สึกเป็นตัวของตัวเอง “อยากมีตัวตน” และให้เป็นที่ยอมรับของคนอื่น เราจึงเริ่มคิดที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมรอบข้าง โดยเฉพาะบรรดากฎกติตาต่าง ๆ ที่ห่อล้อมตัวเรา เริ่มจากหาอิสรภาพจากการควบคุมของครอบครัวและโรงเรียน เช่น เถียงกับพ่อแม่ หรืออยากไว้ผมยาวในโรงเรียน เป็นต้น แล้วก็เริ่มที่จะวิพากษ์วิจารณ์สิ่งต่าง ๆ รอบตัว เปรียบเทียบตัวเรากับคนโน้นคนนี้ ตลอดจนการวิพากษ์วิจารณ์สังคมบ้านเมือง มองทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความอึดอัด และอยากจะเปลี่ยนแปลงสภาพการณ์เหล่านั้น จนกระทั่งคิดเลยเถิดว่าอยากเป็นฮีโร่ ถ้าได้ทำ “สิ่งใหญ่ ๆ” ในชีวิต ที่บรรยายความรู้สึกของตัวเองมานี้ เพราะผู้เขียนกำลังมองคนรุ่นใหม่ในทุกวันนี้ อย่างที่บางคนกำลังคิดจะเปลี่ยนแปลงประเทศ ปฏิรูปสถาบัน และสร้างระบบ “การเมืองใหม่” ว่าน่าจะมีพัฒนาการทางความคิดและพฤติกรรมคล้าย ๆ กันกับที่คนในยุคของผู้เขียนได้เติบโตมาเช่นกัน คือพวกเขาอาจจะรู้สึกอึดอัดกับพันธนาการในสังคมแบบเดิม ๆ ที่คนรุ่นเก่าจำนวนมากบอกว่า “มันก็ดีอยู่แล้ว” แต่คนรุ่นใหม่เหล่านี้ไม่ได้เห็นด้วย แล้วแย้งว่า “มันต้องดีกว่านี้” ทว่าคนรุ่นใหม่กลับคิดจะดำเนินการเปลี่ยนแปลงโดยพลการ ด้วยมือและสมองของคนรุ่นใหม่เหล่านี้ตามลำพัง อย่างที่กำลังผลักดันให้คนรุ่นเก่าออกไป และขอพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่เข้ามา ในสภาพที่ต่างคนต่างอยู่ หรือ “ข้าจะทำเอง พวกเอ็งคอยดูอยู่ห่าง ๆ” เหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 เป็นตัวอย่างอันดีของ “กลียุคจากน้ำมือของคนรุ่นใหม่” ที่เริ่มต้นความคิดอันใสซื่อของคนรุ่นใหม่ ว่าต้องล้มล้างเผด็จการทหาร ขจัดการกดขี่และความเหลื่อมล้ำ ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนจากคนรุ่นเก่าเป็นอย่างมาก โดยได้ให้ความช่วยเหลือกับนิสิตนักศึกษาที่มาชุมนุมอย่างเต็มที่ ทั้งในเรื่องของข้าวปลาอาหารและเงินบริจาค ผู้เขียนซึ่งได้ไปร่วมในการชุมนุมครั้งนี้ตั้งแต่ที่อยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนเดินขบวนออกมาในตอนเที่ยงของวันที่ 13 ตุลาคม และมาชุมนุมอยู่ล้อมรอบพระตำหนักจิตรลดารโหฐานในคืนนั้น กระทั่งแยกย้ายกลับบ้านในตอนเช้า หลังจากที่ตัวแทนนิสิตนักศึกษาได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ให้เข้าเฝ้าและพระราชทานพระราชวินิจฉัยหาทางออก จนกระทั่งรัฐบาลทหารยอมให้มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่โดยเร็ว ก็มีความรู้สึกว่าตัวเองได้เป็น “ฮีโร่” ด้วยคนหนึ่ง แต่ครั้นทหารถูกดันออกไปจากระบบการเมือง และมีการเลือกตั้งตามมาใน พ.ศ. 2518 ดูเหมือนคนรุ่นใหม่ก็ไม่ได้พอใจกับระบอบประชาธิปไตยในยุคนั้นเท่าใดเลย กลับแสดงพฤติกรรมที่ต่อต้านและป่วนบ้านเมืองไม่รู้จบ มีการใช้เสรีภาพกันอย่างฟุ้งเฟ้อ เรียกร้องและเดินขบวนในเรื่องต่าง ๆ ทุกวัน ที่สุดทหารก็กลับคืนมายึดคืนในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เป็นสิ่งที่ผู้เขียนรู้สึกเสียดายมาจนถึงทุกวันนี้ว่า คนไทย(โดยคนรุ่นใหม่ในตอนนั้น)ได้ทิ้งโอกาสที่จะสร้างบ้านเมืองที่จะเป็น“"ความสุขแห่งรุ่งอรุณ”" ไปเสียแล้ว ท่านอาจารย์ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยพูดถึงบ้านเมืองหลังเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ว่า เหมือนเราขุดสันดอนปากแม่น้ำออกไปได้แล้ว แต่แทนที่จะล่องเรือต่อไปเพื่อสร้างสิ่งสวย ๆ งาม ๆ ให้เกิดขึ้นตลอดริมฝั่งแม่น้ำ แต่เรากลับแยกกันลงเรือเล็ก แล้วพายเข้าไปในคลอง ในป่าในพง ไปกันคนละทาง พร้อมกับเผาป่าเผาหญ้า เผาสิ่งปลูกสร้างเก่า ๆ ที่คิดไปว่าเกะกะล้าสมัย ด้วยกะไว้ว่าจะปลูกสร้างเรือนใหม่ตรงนั้นตรงนี้ ด้วยความรีบเร่งและร้อนรน พอไม่ได้ดังใจก็เอะอะอาละวาด จะเอาให้ได้ในบัดนั้น สุดท้ายทุกอย่างก็พังทลายสูญสิ้น ฝั่งคลองแห่งประชาธิปไตยอันสวยงามที่วาดฝันไว้ ก็กลายเป็น “ซากฝัน” ไร้ค่าไปสิ้น คนรุ่นใหม่หรือใครก็ตามที่กำลังคิดจะเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองอยู่ในขณะนี้ น่าจะต้องใคร่ครวญว่า “หลังเผาป่าแล้วจะสร้างอะไรกัน” แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ “สร้างอย่างไร ใครสร้าง” เพราะถ้ามองตามประวัติศาสตร์แล้ว ก็น่าจะเป็นบทเรียนได้ว่า “การถีบส่ง” คนรุ่นเก่าลงไปเสียจากเรือ ย่อมไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง แนวทางที่ควรก็คือการร่วมมือกัน “ช่วยกันจ้ำ ช่วยกันพาย” ให้สายตาของคนรุ่นเก่าช่วยส่องหาหนทาง เพราะเขาจะคุ้นเคยกับพื้นที่ คือมีประสบการณ์มากกว่า ในขณะที่คนรุ่นใหม่ก็ช่วยเสนอแนะสิ่งที่เขาอยากได้ แลกเปลี่ยนความเห็นและข้อมูลระหว่างกัน อดทนรอคอยช่วยกันสร้างสิ่งที่ต้องการไปทีละลำดับ สองฝั่งคลองก็จะสวยงามสะพรั่ง ด้วยประชาธิปไตยแห่งความรักและความร่วมมือ