ชัยวัฒน์ สุรวิชัย บ้านของคนทั่วไป ส่วนใหญ่ ก็จะเป็นอย่างที่ได้นำเสนอไป คือ บ้านพ่อแม่ และบ้านของตนเอง แต่สำหรับผม :นายชัยวัฒน์ สุรวิชัย นายจิ๊บ สหายสุข ชมจันทร์ และ ปู่จิ๊บ มีสิ่งที่มีความหมายดุจบ้าน อีก เป็นไปตามประวัติศาสตร์ของชีวิตและการต่อสู้ทางการเมือง หากสรุป โดยยึดวันเวลา และกิจกรรมที่ทำด้วยใจรักและความเป็นไปของชีวิต จะมีดังนี้ 1. ร้านชัยประสาน ลำปาง ( 2492 - 2507 ) บ้านเกิด 2. บ้านพี่เฉลา-อารี ธิยะใจ ( 2508-2515 ) บ้านเรียน การศึกษา รร.เตรียมอุดม 28 วิศวจุฬา 2510 3. หอพักจารุทวี บางลำภู ( 2516 – 2517 ) ช่วงทำงานกทม.และการเมืองเพื่อเปลี่ยนแปลง 4. บ้านพักอีกสองแห่งและพักที่สำนักงานพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย 2 แห่ง ( 2517-2519) 5. บ้านใหญ่ในชนบทของประเทศ ( 2519 -2524 ) สมรภูมิสู้รบ หลัง 6 ตุลา 2519 6. บ้านพักในแคมป์งานก่อสร้างต่างจังหวัด ( 2524 - 2526 ) ช่วงทำงานเป็นนายช่างโครงการฯ 7. บ้านคอนโดแฟล็ตดินแดง กทม. ( 2526 – 2535 ) 8. บ้านภาณุ บรมราชชนนี กทม. ( 2536 – ปัจจุบัน ) แต่ละบ้าน มีประวัติ รายละเอียดและเวลาของชีวิตในแต่ละระยะ ที่แตกต่างหลากหลายคล้ายคลึงกันไป 1. ร้านชัยประสานลำปาง เป็นบ้านเก่าแก่ กว่า 80 ปี ลูกทุกคนเกิดและอาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้ เป็นตึกสองชั้นสามห้อง บ้านเลขที่ 47 49 51 เป็นเลขคี่ ตั้งอยู่บนถนนทิพย์วรรณ มีระเบียงทั้งหน้าบ้านและหลังบ้าน มีป้ายร้านค้าที่คลาสสิค ฝีมือของช่างเขียนป้ายมือต้นๆของลำปาง ติดทั้งสามห้อง บอกชื่อร้าน ชัยประสาน ( ฮั้วฮวดเส็ง ) มีทั้งภาษาไทยและภาษาจีน และสินค้าที่ขาย เป็นอะไหล่รถยนต์ทุกชนิด และเครื่องใช้ของรถยนต์ หลอดไฟฟ้าฟิลิป วิทยุ และสินค้าต่างๆที่เกี่ยวข้อง อะไหล่รถยนต์ ที่มีแทบครบถ้วน เป็นที่รู้จักดีของเจ้าของรถยนต์และช่างซ่อมทั้งในลำปางและภาคเหนือ บางครั้งมีลูกค้ามาจากชายแดนพม่า ที่มาแล้ว แทบไม่ค่อยผิดหวัง และหากไม่มีหรืออะไหล่หมด ป๋าจะบริการพิเศษประทับใจ โดยสั่งทางโทรเลขหรือโทรศัพท์ ในยามเด็ก พี่ชายและผม จะต้องนั่งสามล้อ ไปรับที่สนามบิน และที่น่าสนใจมาก คือ ป๋าจะขายสินค้าในราคาพิเศษ สำหรับลูกค้าที่มาไกล ภายในบ้าน มีอะไรที่พิเศษต่างไปจากร้านอื่นๆ เริ่มจาก มีถังน้ำมันใบใหญ่ ฝั่งอยู่ใต้ดินในบ้าน เพราะสมัยก่อน หน้าบ้านตั้งปั้มน้ำมันSHELL มีเครื่องเติมลม เครื่องชาร์ทไฟแบตเตอรี รวมทั้งขายน้ำกลั่น ในห้องข้างด้านหลัง มีห้องใต้ดิน นอกจากนี้ก็มีไม้ราวแขวนที่ยกขึ้นสูงสำหรับวางสายพานรถชนิดต่างๆ เพดานระหว่างชั้นบนและชั้นล่าง จะเป็นไม้พื้นแผ่นยาว เป็นลายเงา สวยงามมาก มีเพื่อนสนิทที่มาค้างที่บ้าน เช่น ดร.ปรัชญา ดร.วิโรจน์ นพดล ฯ จะประทับใจ 2 อย่าง ที่อยู่ชั้นบน คือ หนึ่ง เป็นเตียงมุ้งลวดใหญ่ ขนาด 2 + 3 เมตร ( นอนได้ถึง 3-4 คน ) และมีประตูเปิดเข้าไปนอนได้ สอง เป็นห้องน้ำขนาด 3 + 7 เมตร และมีถังน้ำเป็นถังน้ำมัน 200 ลิตร วางอยู่ 5-6 ใบ ซึ่งป๋าแม่ และตอนหลังเป็นลูกๆ ต้องทำหน้าที่ โยกคันสูบของเครื่องสูบน้ำขึ้นลง ( ซึ่งต่อมาจากบ่อน้ำ) บางครั้งในสมัยเด็ก เมื่อเครื่องสูบเสีย คุณแม่ต้อง ตักน้ำใส่คุหรือถังน้ำ ยกขึ้นบันได มาเทในถังข้างบน คุณแม่จะตื่นแต่เช้า มาออกกายบริหาร แล้วลงไปทำอาหารในครัวให้ลูกกิน ก่อนไปโรงเรียนยามเช้า หลังจากลูกไปโรงเรียน ก็ต้องทำงานบ้าน และไปตลาดเตรียมอาหารให้ป๋า และลูก รวมทั้งของว่างตอนเย็น เมื่อลูกกลับมาจากโรงเรียน ยามว่าง ก็จะเย็บเสื้อผ้าให้ลูกใส่ รวมทั้งเอาเศษผ้ามาเย็บต่อเป็นผ้าคุมเตียง กว่าจะได้นอนก็ดึก เรียกว่า “ คุณแม่ตื่นก่อนและหลับเป็นคนสุดท้าย “ บางครั้งก็ต้องคอยป๋าซึ่งไปข้างนอก บ้านในสมัยนั้น ไม่มีอ๊อดไฟฟ้าเตือนภัย แต่ป๋าก็ได้ใช้แท่งเหล็กยาวแข็งแรง ที่สอดวางไขว้ประตูบ้าน และ ยังมีการแขวนปิ๊บสองใบไว้ด้วย เรียกว่า “ ถ้ามีขโมยเข้ามา ก็ต้องเจอด้านหินนี้ “การปิดเปิดประตูร้านด้านหน้า ก็เป็นงานที่สนุกตื่นเต้นไม่น้อย เพราะหลังจากปิดประตูทั้งสองข้างแล้ว จะต้องยกแผ่นเหล็กขนาด 4 + 400 ซม. ขึ้นปิด แล้วต้องล็อคด้วย สกูลยาว 2 ข้าง และขันน๊อตปิดด้านใน หน้าร้านอยู่ตรงข้ามกับดวงตะวัน จึงจะต้องใช้ผ้าใบยาวมากางปิด โดยมีห่วงซึ่งใช้ไม้ยกไปติดกับราวไม้ แต่ในช่วงหลังสบายขึ้น เพราะใช้เครื่องหมุนอัตโนมัติ ดึงผ้ากั้นแดดขึ้นลง ฯลฯ หน้าบ้าน ที่ต้องกวาดทำความสะอาดทุกวันแล้ว บางวันมี “ ขี้หมา “ มากองไว้ให้ชม ก็เป็นหน้าที่ลูกเก็บ โดยใช้ตะบวยเหล็ก ตั้กขี้เถ้า จากเศษผงถ่านไม้ที่ดับแล้ว มาโรยก่อน แล้วจึงตั้งใส่ที่เก็บขยะ เพื่อไปทิ้งต่อไป อีกงานหนึ่ง คือ “อาหารที่เหลือและเปลือกอาหารผลไม้และไข่ “ จะถูกนำไปใส่ปิ๊บไว้ และจะมีผู้มารับเอาไป เอาให้หมูกิน “ เราจึงเรียกว่า เก็บข้าวหมู “ ฯลฯ ถนนหน้าบ้าน บอกถึงการพัฒนาเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยได้ดี เพราะมีตั้งแต่ ถนนแดง ถนนหินคลุก ถนนลาดยาง และสุดท้ายเป็นถนนคอนกรีต 2. บ้านพี่เฉลา-อารี ธิยะใจ ( 2508-2515 ) บ้านเรียน การศึกษา รร.เตรียมอุดม 28 วิศวจุฬา 2510 เป็นบ้านที่อบอุ่น สงบ น่าอยู่ บ้านอยู่ในซอยพหลโยธิน 4 เดินเข้าได้ทั้งสองซอย คือ ซอย 4 และซอย 6 บ้านนี้ก็อยู่ยาวหน่อย ผมแยกจากพี่น้องมาอยู่กับญาติทางป๋า ซึ่งพี่เฉลา ซึ่งเป็นลูกสาวของป้าเป็นเจ้าของ พี่เฉลาและพี่น้องเล่าเรื่องความใจดีและรักหลานๆของป๋า ในยามที่หลานๆยังเป็นเด็ก ผมจึงได้รับกุศลมา พี่อารี ธิยะใจ เป็นนายทหาร บ้านอยู่จังหวัดตาก บ้านเดี่ยวกับจอมพลถนอม และคุ้นเคยกันพอ.ณรงค์ เป็นนายทหารที่ดีมากที่สุดคนหนึ่งที่ผมเคยเจอ ให้ความรักและเอ็นดูผม ซึ่งมีอายุใกล้เคียงกับลุกคนเดียว ส่วนหนึ่งที่ผมมาอยู่กับพี่อารีพี่เฉลาและแดง เพราะผมตั้งใจจะสอบเข้าเตรียมทหาร ไปกวดวิชาที่รร.อโนชาผมตื่นแต่เช้า ออกจากบ้าน เพื่อไปขึ้นรถเมล์ไปเรียนทั้งที่โรงเรียนเตรียมอุดมและวิศวฯจุฬาฯและกลับดึกดื่น ในช่วงที่มีการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษายุคธีรยุทธบุญมี เป็นเลขาศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ ธีรยุทธ เคยมานอนที่บ้าน วันถัดมา พี่อารี ( ตอนนั้นเป็นพันเอกพิเศษ ) ได้ให้ผมไปพบและนั่งคุยกัน โดยตอนหนึ่ง พี่อารีเล่าว่า “ ณรงค์ ( กิตติขจร ) พูดว่า พี่อารี คืนก่อน ธีรยุทธ มานอนที่บ้าน น่ะ “ แต่พี่อารี ก็ได้กล่าวปกป้องผม ว่า เป็นเรื่องปกติ เพราะ “ ธีรยุทธ เป็นรุ่นน้องวิศวฯจุฬาฯของชัยวัฒน์ “ หลังจากจบปริญญาตรี ผมซึ่งทำงานที่กทม. มีเงินเดือนแล้ว จึงย้ายออกมา ผมยังนึกถึงบุญคุณ ของพี่เฉลาและพี่อารีเสมอ และชื่นชมในความเป็นนักประชาธิปไตยของพี่เขาเสมอ 3. หอพักจารุทวี บางลำภู ( 2516 – 2519 ) ช่วงทำงานกทม.และการเมืองเพื่อเปลี่ยนแปลง ผมมาเช่าพักอยู่ที่นี้ ห้องหนึ่ง และอยู่ใกล้กับสำนักทนายธรรมรังสีของลุงฟักณสงขลาและพี่ไขแสง สุกใส ซึ่งเราเวลานัดคุยกันกับผู้ใหญ่และพวกพ้อง ก็ใช้ที่สำนักงานฯแห่งนี้ และโรงแรมต่างๆในย่านวิสุทธิ์กษัตริย์ และในช่วงวันที่ผมถูกรวบตัวขณะแจกใบปลิวและถือป้ายเรียกร้องรัฐธรรมนูญ วันที่ 6 ตุลาคม 2516 ตำรวจ มาค้นที่ห้องพักนี้ด้วย ซึ่งไม่ได้อะไร เพราะไม่มีอะไร มีจดหมายส่วนตัว ก็ยึดเอาไป ( ไม่พอใจ ) @ ความจริงมีบ้านพักชั่วคราว 7 วัน คือ เรือนจำบางเขน ในคราวถูกจับข้อหากบฏรธน. 6-12 ตุลา 16 4. บ้านพักอีกสองแห่งและพักที่สำนักงานพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย 2 แห่ง ( 2517-2519) หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ย้ายมาพักที่หอพักแถวบางลำพู เช้าไปทำงานกทม.ฝ่ายโยธา เย็นและวันหยุด มาทำงานที่สำนักงาน ปช.ปช.( กลุ่มประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ) ทำหน้าที่เผยแพร่รธน. ไฮด์ปาร์ค ตามจังหวัดในภาคต่างๆทั่วประเทศ และเมื่อก่อตั้งพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศ ( พสท.) ซึ่งสำนักงานแรกอยู่ที่ซอยรวมมิตร ถนนปฏิพัทธ์ และต่อมาย้ายมาอยู่ที่ ซอยอารีย์สัมพันธ์ 5 พหลโยธิน ผมไปเช่าบ้านอีกสองแห่ง แถวๆที่ทำการพรรค ฯ ซึ่งมีน้องๆ เช่น วิสา คัญทัพ ไปอาศัยอยู่ด้วย ต่อมาผมย้ายไปนอนในสำนักงานพรรคฯ แห่งแรกไม่มีปัญหาอะไร เพราะเป็นช่วงกระแสสูงของฝ่ายปชช. แต่แห่งที่สอง เอาเรื่องเอาเลือดจริงๆ เพราะทุกคืน จะมีกลุ่มกระทิงแดงขับรถผ่านและยิงปืนขู่เสียงดังมาก ตอนนั้น พวกเราก็รวบรวมเงินซื้อปินได้ 1-2 กระบอก เอาไว้ป้องกันตัว เป็นเหตุการณ์ที่ระลึกมากจริงๆ 5. บ้านใหญ่ในชนบทของประเทศ ( 2519 -2524 ) สมรภูมิสู้รบ หลัง 6 ตุลา 2519 คณะเราที่นำโดย ธีรยุทธ บุญมี ประสาร วิสา มวลชน วิสุทธิ และผม ออกเดินทาง วันที่ 7 สิงหา 2519 บ้านของเรา เป็นบ้านจรยุทธ์ โดยมีบ้านที่ติดตัวไปกับเรา (รวมทั้งนักศึกษา และผู้กล้าที่เข้ามาร่วมต่อสู้ ) เราเรียกว่า “ เป้ “ ที่บรรจุ เสื้อผ้าชุดทปท. ผ้าขาวม้า เปลและมุ้ง และสรรนิพนธ์เหมาเจ๋อตง ฯลฯ เดินทางไปถึงทับ หรือสำนักฯ ก็เข้าพัก บางที่ก็ต้องพักกลางป่า ใต้ต้นไม้ใหญ่ ที่มีทั้งยุงทาก และปืนรัฐบาล เดินทางขึ้นสู่ป่า เนินเขา และเขาสูงเป็นลูกๆ ทั้งในภาคเหนือ และภาคอีสาน “ ภูพาน “ เรามีที่พักนานหน่อย คือ สำนัก เอ. 30 และ อาร์ 4. เป็นสำนักแนวร่วมฯ ที่มีการก่อตั้ง กป.ปช. คณะกรรมการประสานงานผู้รักชาติรักประชาธิปไตย มี อุดม ศรีสุวรรณ ประธาน ธีรยุทธ ผู้ประสานงาน ผมไปในนามของพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศ มีการปรับองค์กรใหม่ คุณไขแสงประธาน ผมรองประธาน เราทำงานหนักจริงจัง ต้องสู้กับรัฐบาลและโรคมาลาเรีย และความยากลำบากนานัปการ แต่ก็ผ่านมาได้ ผมมีโอกาสไปประเทศจีน เป็นชุดแรกๆ ไปดูแลพี่ไขแสง ที่ป่วย ต้องไปรักษาตัวที่คุนหมิง เซียงไฮ้ ปี2520 6. บ้านพักในแคมป์งานก่อสร้างต่างจังหวัด ( 2524 - 2526 ) ช่วงทำงานเป็นนายช่างโครงการฯ ชีวิตนายช่างโครงการ ที่มีชีวิตอยู่กับถนน คลองชลประทาน การก่อสร้างโรงเหล้าฯ เป็นช่วงผ่านของชีวิต ได้อยู่กับนายช่างน้องๆ โฟร์แมนต์ คนงาน และชาวบ้าน เจอกับผู้รับเหมา และเจ้าของโรงโม่โรงงานท่อฯ รวมทั้งวิศวกรที่ปรึกษา และนายช่างกรมกทาง-กรมชล -สรรพสามิตร ที่เป็นเจ้าของงานและที่ปรึกษาฯ ผมทำตัวเงียบๆ ทั้งอยู่ที่พัก ในห้องทำงานกับพนักงานฝ่ายต่างๆที่มีทั้งสาวๆและหนุ่มๆ ไม่มีใครรู้จัก ยกเว้นนายช่างประชุม หัวหน้าผม ซึ่งคืนในวันฝนตกหนัก ได้ถามผมเรื่องในป่า คุยกันตลอดคืน ส่วนบ้านอีกสองแห่ง ผมก็ได้กล่าวถึงบ้างแล้ว ก็คงเอาเท่านั้น บ้านทั้งแปดแห่ง ความจริงเป็นเพียงบ้านชั่วคราว ที่ผมได้อยู่อาศัยในมิติต่างๆของชีวิต ที่มีอะไรอีกมาก แต่บ้านหลังสุดท้ายที่ผมจะอยู่ไปชั่วชีวิตนิรันดรและตลอดกาล ยังอยู่อีกห่างไกลหรือใกล้มิรู้ได้สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การใช้ชีวิตในบ้านสุดท้าย ช่วงที่ยังอยู่ ทำให้ดีที่สุด เพื่อตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน