ณรงค์ ใจหาญ การดำเนินคดีด้านสิ่งแวดล้อม มีสภาพการดำเนินกระบวนพิจารณาที่มีลักษณะพิเศษจากการดำเนินคดีแพ่ง คดีอาญา หรือคดีปกครองที่ต้องอาศัยความรู้ทางเทคนิกของผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพิจารณาที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากการดำเนินคดีอาญาทั่วไป อีกทั้งการกำหนดค่าเสียหายหรือการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาก็มีลักษณะที่แตกต่างจากการบังคับคดีตามปกติ ด้วยเหตุนี้เอง จึงมีแนวคิดที่ว่า ควรมีศาลชำนัญพิเศษด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อดำเนินการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยหรือไม่ และหากจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมดังกล่าวจะสามารถแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องในการดำเนินคดีสิ่งแวดล้อมของไทยอย่างไร ในสัปดาห์นี้ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ได้เห็นชอบรายงานการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม และมีแนวทางการศึกษาเพื่อให้มีศาลชำนัญด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นประเทศไทย ซึ่งเป็นโจทย์การปฏิรูปประเทศในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเพื่อให้มีศาลดังกล่าวในประเทศไทย ประเด็นจึงเป็นปัญหาว่า ในปัจจุบัน การดำเนินคดีสิ่งแวดล้อมแยกการดำเนินการออกเป็นในคดีอาญา ฟ้องที่ศาลส่วนอาญา ในศาลยุติธรรม ส่วนคดีแพ่ง หากเป็นการฟ้องเพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน จากเอกชน ฟ้องที่ศาลส่วนแพ่งในศาลยุติธรรม แต่ถ้าเป็นการฟ้องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากหน่วยงานรัฐที่มีส่วนในการก่อให้เกิดความเสียหายอันเกิดจากมลพิษ หรือมีการออกคำบังคับให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมหรือหน่วยงานเอกชน ต้องฟ้องที่ศาลปกครอง ซึ่งแยกเขตอำนาจในการพิจารณากันอยู่ในศาลคู่นี้ ซึ่งเกิดความลักลั่นและไม่สอดคล้องกันหากมีการฟ้องเอกชนในศาลแพ่ง และฟ้องหน่วยงานภาครัฐในศาลปกครอง คำพิพากษาตัดสินและการบังคับคดีก็อาจจะไม่สอดคล้องกันได้ แม้เป็นมูลการกระทำเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในเรื่องเดียวกัน การมีศาลสิ่งแวดล้อมที่กำลังจะจัดตั้งนี้ มีวัตถุประสงค์จะแก้ไขปัญญาในเรื่องดังกล่าวด้วย ในส่วนที่เป็นข้อเด่นของการมีศาลชำนัญในคดีสิ่งแวดล้อม คือ ศาลที่มีความชำนาญพิเศษในคดีสิ่งแวดล้อมจะสามารถเข้าใจลักษณะพิเศษของการพิจารณา พิพากษาคดีสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลักษณะของมลพิษ ผลของมลพิษที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น คน สัตว์ พืช หรือระบบนิเวศน์ อีกทั้ง ความเสียหายที่จำเลยจะต้องเยียวยา หรือผลของความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งที่อาจเห็นได้หรือไม่อาจคาดหมายได้ในขณะที่พิจารณาหรือพิพากษานั้น ศาลในคดีสิ่งแวดล้อม จะมีความตระหนักในเรื่องดังกล่าว มากกว่าการดำเนินคดีอาญาหรือคดีแพ่งโดยทั่วไป อย่างไรก็ดี ในกระบวนพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาคดีแพ่งหรือคดีอาญา มีความจำเป็นต้องมีระบบวิธีพิจารณาที่ต้องมีผู้เชี่ยวชาญในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมมาเป็นองค์ประกอบในการพิจารณาและพิพากษาตัดสินด้วย เพราะข้อมูลในเรื่องสารพิษ หรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีความจำเป็นต้องได้จากผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ นอกเหนือจากหลักการวินิจฉัยความน่าจะเป็นโดยอาศัยความรู้ทั่วไปของคนธรรมิดา เช่น ผลกระทบต่อการเกิดโลกร้อน ผลกระทบต่อแสงยูวีที่มีต่อผิวหนัง หรือสายตาของคน หรือผลของมลพิษทางอากาศที่มีต่อการเจริญเติบโตของพืชและสัตว์เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ หากมีเพียงศาลสิ่งแวดล้อม แต่ไม่มีวิธีพิจารณาเป็นพิเศษ ไม่มีผู้เชี่ยวชาญมาให้ข้อมูลที่ถูกต้องต่อศาล ก็ยากที่จะทำให้คำพิพากษาตัดสินเป็นไปในทางที่ถูกต้องได้ นอกจากนี้ การเยียวยาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ต้องการแก้ไข เพราะเมื่อศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหาย หรือการฟื้นฟูเยียวยาแล้ว กระบวนการในการจัดการเพื่อบังคับให้เป็นไปตามคำบังคับจำเป็นต้องมีกระบวนการดำเนินการที่ถูกต้องตามหลักการในการเยียวยาฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม เพราะ การชดเชยความเสียหายออันเกิดจากการกระทำละเมิดโดยปกติ ส่วนใหญ่จะเป็นการจ่ายค่าเสียหายจากค่ารักษาพยาบาล หรือค่าที่เจ็บปวดบาดแผล แต่การจ่ายค่าสินไหมทดแทนในกรณีความเสียหายในสิ่งแวดล้อมจำเป็นต้องพิจารณาถึงความเสียหายไม่เฉพาะต่อบุคคล แต่รวมถึงความเสียหายต่อสัตว์ พืช และความหลากหลายทางชีวภาพ กล่าวโดยเฉพาะ การทำให้เกิดน้ำเสีย หรือมีสารตะกั่วในลำน้ำ ไม่เฉพาะแต่กรณีที่ทำให้ปลาตาย หรือคนบริเวณนั้นได้รับความเสียหายเท่านั้น แต่คนที่บริโภคปลาหรือ ได้รับผลกระทบต่อการที่มีสารตะกั่วที่อยู่ในลำน้ำนั้น ก็จะต้องนำมาพิจารณาและเยียวยาความเสียหายด้วยแม้ว่าในขณะที่ฟ้องคดี คนเหล่านั้น ไม่ได้มาเป็นโจทก์ฟ้องคดีก็ตาม ด้วยเหตุนี้ การดำเนินคดีในนามกลุ่ม ซึ่งกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ก็จะเป็นทางออกของการคุ้มครองผู้ที่ต้องเสียหายจากผลของการก่อให้เกิดมลพิษในอนาคตต่อไป จะเห็นได้ว่า ความจำเป็นในการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมมีความชัดเจนว่า หากมีศาลชำนัญพิเศษในด้านสิ่งแวดล้อมและมีกระบวนพิจารณา การบังคับคดีที่เหมาะสมกับลักษณะของคดีสิ่งแวดล้อม แล้วจะทำให้เกิดความเป็นธรรมในการดำเนินคดีและรักษาฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้นจากการที่สภาพแวดล้อมเสื่อมเสียไป แต่อย่างไรก็ดี ข้อจำกัดในการดำเนินการดังกล่าวก็ยังคงมีและคงต้องเป็นข้อพิจารณาในการพัฒนาศาลสิ่งแวดล้อมต่อไป ดังนี้ ประการแรก การมีศาลสิ่งแวดล้อมในศาลชั้นต้น ควรมีศาลในทุกจังหวัดหรือเป็นศาลกลางในกรุงเทพมหานคร เพราะมีความจำเป็นต้องมีผู้พิพากษาที่มีความรู้เฉพาะในเรื่องสิ่งแวดล้อม และควรต้องพัฒนาความชำนาญนี้ มากกว่าการแต่งตั้งเวียนตามปกติ มิฉะนั้นจะกลายเป็นมีศาลชำนัญเฉพาะศาล แต่ผู้พิพากษาไม่มีความรู้เฉพาะในเรื่องสิ่งแวดล้อม ประการที่สอง ความคาบเกี่ยวกับศาลปกครอง จะดำเนินการอย่างไร จะเป็นการพิจารณาร่วมกัน หรือเป็นตั้งองค์คณะพิเศษ ซึ่งกรณีนี้น่าจะเป็นปัญหาที่ยากในการบริหารจัดการ หรือต้องใช้การชี้ขาดปัญหาเรื่องเขตอำนาจศาล ประการที่สาม ควรมีการออกกฎหมายสารบัญญัติว่าคดีใดเป็นคดีสิ่งแวดล้อม เพราะปัจจุบัน กฎหมายสารบัญญัติไม่ได้กำหนดเฉพาะในเรื่องสิ่งแวดล้อม ทางด้าน มลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ หรือมลพิษทางของเสียอันตราย จึงทำให้ยากต่อการชี้ขาดว่าคดีใดเป็นคดีที่ขึ้นศาลสิ่งแวดล้อม คดีใดขึ้นต่อศาลยุติธรรม หรือศาลปกครอง ประการที่สี่ การหาผู้เชี่ยวชาญมาให้ข้อมูลต่อศาลและกระบวนการจ่ายค่าตอบแทนการตรวจพิสูจน์ซึ่งในบางกรณีต้องมีค่าใช้จ่ายสูงควรกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ ประการที่ห้า ควรกำหนดวิธีพิจารณาและกลไกในการค้นหาความจริงมากกว่าการให้คู่ความนำสืบพิสูจน์ต่อสู้กันศาลควรมีบทบาทในการแสวงหาข้อเท็จจริงมากขึ้น ข้อพิจารณาเหล่านี้จึงควรนำมาพิจารณาร่วมในการพัฒนาและจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมของไทยในอนาคตเพื่อการสร้างความเป็นธรรมที่เหมาะสม อันนำมาซึ่งการอนุรักษ์และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมของไทยต่อไป