ทวี สุรฤทธิกุล ประสบการณ์ม็อบในอดีตทำให้ผู้เขียนพอมองเห็นอนาคตของม็อบในปัจจุบัน ครั้งแรกที่ผู้เขียนเข้าร่วมม็อบก็คือการประท้วงไม่ซื้อสินค้าญี่ปุ่นใน พ.ศ. 2515 ซึ่งผู้เขียนยังมีอายุแค่ 13 ปี เรียกว่าพอเริ่มแตกเนื้อหนุ่มก็เริ่ม “ซ่า” ขึ้นมาในทันที แต่ก็เป็นการเข้าไปร่วมม็อบด้วยเหตุบังเอิญ เพียงเพราะอยากไปดูทำเนียบรัฐบาลที่พวกม็อบพากันไปรายล้อมอยู่ แต่พอได้ไปฟังคุณธีรยุทธ บุญมี แกนนำนักศึกษาและผู้นำการประท้วงปราศรัยก็ให้เกิดอาการ “ฮอร์โมนฟุ้งซ่าน” อยากทำอะไรสักอย่างให้เป็นชื่อเสียงขึ้นมาทันที อย่างหนึ่งก็คือได้ความรู้ว่าถ้าเราไม่ใช้สินค้าญี่ปุ่น(ซึ่งตอนนั้นผูกขาดเหมือนบังคับให้คนไทยต้องบริโภคแต่สินค้าญี่ปุ่นไปทั้งประเทศ)เราก็คือ “ผู้รักชาติ” ด้วยคนหนึ่ง พอกลับมาโรงเรียนก็มาบอกกับเพื่อน ๆ บางคน แล้วก็รวมกลุ่มกันไม่ใส่ชุดนักเรียนที่ทำจากเสื้อผ้าโทเรที่มีขายกันอยู่ทั่วไป แต่ให้มาใส่ผ้าฝ้ายที่ทอโดยคนไทย แต่ก็ดูเหมือนจะใส่กันอยู่สัก 2 - 3 อาทิตย์ แล้วก็กลับมาใส่ผ้าโทเรเหมือนเดิม เพราะผ้าฝ้ายของเราซักแล้วหด สีตก ยับย่น รีดก็ยาก สีก็หมองคล้ำ ทั้งยังราคาก็ไม่ถูกนัก ยิ่งมีการรณรงค์ให้ใส่ตอนต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นนั้น ราคาก็ยิ่งเพิ่มไปอีกเกือบเท่าตัว แต่พอมาเรียนประวัติศาสตร์การเมืองไทยจึงทราบว่า การประท้วงสินค้าญี่ปุ่นในครั้งนั้นได้เป็น “เชื้อ” ให้มีการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาและเยาวชนอย่างคึกคัก ในการที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพราะในปีต่อมาก็เกิดการออกมาเรียกร้องรัฐธรรมนูญ กระทั่งเกิดเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ซึ่งผู้เขียนก็ไปร่วมชุมนุมอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ไปโดยความตั้งใจที่จะโค่นล้มเผด็จการทหาร ที่คณะนิสิตนักศึกษาที่จัดชุมนุมบอกว่าเป็นตัวอุปสรรคของระบอบประชาธิปไตย ตอนนั้นผู้เขียนเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในโรงเรียนวัดมกุฏกษัตริย์ พอเลิกเรียนในตอนเย็นวันที่ 12 ตุลาคมซึ่งเป็นวันศุกร์ก็นั่งรถเมล์มุ่งตรงไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทั้ง ๆ ที่อยู่ในชุดนักเรียน พอไปถึงผู้ประกาศบนเวทีก็ประกาศว่านักเรียนให้ไปรวมกลุ่มกันตรงโน้น แล้วก็ตั้งชื่อกลุ่มพวกเราว่า “นักเรียนเพื่อประชาธิปไตย” พอกลุ่มอาชีวะมาก็เรียกว่า “อาชีวะเพื่อประชาธิปไตย” เรียกว่าได้ยินคำประกาศชื่อ “ประชาธิปไตย” นี้ทุก ๆ ครึ่งชั่วโมงก็ว่าได้ เนื่องจากมีผู้ร่วมชุมนุมกลุ่มโน้นกลุ่มนี้เดินทางเข้ามาเพิ่มเติมเรื่อย ๆ คืนนั้นผู้เขียนอยู่ค้างคืนในที่ชุมนุมด้วยอารมณ์ที่ “คึกคัก” เพราะการชุมนุมดูมหึมามากขึ้น ๆ โดยการปราศรัยบนเวทีก็เผ็ดร้อนเข้มข้น สลับกับการแสดงบนเวทีที่มีทั้งดนตรีเพื่อชีวิตที่ให้อารมณ์ “อิน” กับการสร้างความเกลียดชังต่อเผด็จการ “ถนอม ประภาส ณรงค์” เป็นอย่างมาก ร่วมกับละครเวทีที่เชือดเฉือน “แสบคัน” อย่างกับว่าสร้างโดยทีมละครมืออาชีพ โดยที่ไม่ได้รู้สึกง่วงเหงาหาวนอนตลอดทั้งคืน ตอนเช้าพวกเราถูกแบ่งงานให้ช่วยกันทำตามความถนัด เช่น ทำธง ทำป้าย และวาดรูปพระบรมฉายาลักษณ์ (สมัยก่อนไม่ได้มีร้านรับทำซิลค์สกรีนหรือป้ายไวนีล รวมทั้งการถ่ายเอกสารก็แพงมาก) ผู้เขียนได้ไปช่วยเตรียมทำเฟรมภาพวาดและทำตารางขยายไว้ให้พวกที่เขาเขียนภาพเก่ง ๆ มาลงเส้นและแรเงา ไม่นานก็ได้ภาพพระบรมฉายาลักษณ์หลายสิบภาพ เพราะมีคนมาช่วยจำนวนมาก พอตอนเที่ยงผู้ประกาศก็ให้เอาภาพเหล่านั้นไปแจกจ่ายให้กับผู้ที่จะเดินนำขบวน โดยตั้งต้นขบวนกันที่ข้างหน้าหอประชุมใหญ่ พวกอาชีวะก็เข้าแถวกันเรียงรายเป็นขอบขบวนซ้ายขวาเพื่อรักษาควาสมปลอดภัย ขนาบข้างผู้ชุมนุมที่ชุมนุมกันอยู่แน่นสนามฟุตบอล แล้วเดินออกจากประตูข้างหอประชุมใหญ่เป็นกลุ่ม ๆ จากนั้นผู้เขียนได้ถูกขอให้ไปช่วยยกเข่งน้ำและอาหารร่วมกับพี่ผู้หญิงนักเรียนพานิชยการวัดพระเชตุพน เราเดินแจกน้ำและอาหารไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งมาถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในตอนสักบ่ายสอง แล้วผู้ประกาศได้บอกให้พักขบวนอยู่ครู่ใหญ่เพื่อรอพวกที่จะมาสมทบบนถนนต่าง ๆ รอบ ๆ ถนนราชดำเนิน จนกระทั่งมาหยุดขบวนอยู่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้าสักประมาณ 5 โมงเย็น ผู้เขียนก็ไปช่วยยกเข่งแจกอาและน้ำอีกรอบหนึ่ง (สมัยนั้นยังไม่มีข้าวกล่อง อาหารยังใช้ถุงพลาสติก เช่นเดียวกันกับน้ำที่ยังไม่มีน้ำขวด ก็ใส่ในถุงพลาสติกเช่นกัน) เราพักขบวนอยู่ที่ลายพระบรมรูปทรงม้านั้นนานพอสมควร ประมาณว่าเกือบเที่ยงคืนก็มีประกาศให้เคลื่อนขบวนไปที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน(เรียกกันง่าย ๆ ว่า “สวนจิตร”) แล้วรายรอบอยู่ตลอดแนวถนนพระราม ๖ เพื่อรอผลการเข้าเฝ้าของคณะตัวแทนนิสิตนักศึกษากับรัฐบาลและ “ผู้หลักผู้ใหญ่” ขอพระราชทานพระราชวินิจฉัยให้แก้ไขสถานการณ์ ซึ่งประมาณตีห้าของเช้าวันที่ 14 ก็ทราบผลว่า รัฐบาลยินยอมที่จะให้มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ให้เสร็จสิ้นภายใน 6เดือน ก็เป็นที่พอใจของคณะผู้ชุมนุม คุณเสกสรร ประเสริฐกุล ที่อยู่บนรถประกาศข้างหน้าสวนจิตร ก็ประกาศให้พวกเราเลิกการชุมนุม ผู้เขียนก็เดินมาขึ้นรถเมล์ที่หน้าวัดเบญจมบพิตรกลับบ้าน ส่วนพวกที่อยู่ทางด้านเขาดินเดินไปปะทะกับตำรวจที่ปิดกั้นอยู่มุมถนนแยกโรงเรียนวชิราวุธ เกิดการจลาจลจนกระทั่งลุกลามแผ่ขยายไปทั้งถนนราชดำเนิน มีการเผาสถานที่ราชการหลายแห่ง ทหารได้ออกมาสกัดกั้นประชาชน รวมถึงที่มีการนำเฮลิคอปเตอร์ของทหารมากราดยิงประชาชนด้วย ชะตากรรมของม็อบครั้งใหญ่ครั้งนั้นไม่ได้สวยหรู แต่ต้องพบกับความเศร้าที่ยังเสียดายไม่หาย