พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ ไชน่าทาวน์ในอเมริกา ถือเป็นจุดกำเนิดของวัฒนธรรมคนเอเชียในดินแดนตะวันตกก็ว่าได้ เพราะคนจีนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในอเมริกาก่อนชาติเอเชียอื่นๆ ล่วงมากว่า 200 ปีแล้ว  วิวัฒนาการของการตั้งเข้ามาอาศัยอยู่นี้ย่อมเป็นที่น่าสนใจและน่าศึกษาอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะความเชื่อมโยงในด้านเศรษฐกิจและพหุวัฒนธรรมศึกษา                 ในเมือง“ลุงแซม”นี้ มีไชน่าทาวน์อยู่หลายแห่ง ที่เด่น และเก่ามากที่สุดเห็นจะเป็นไชน่าทาวน์นิวยอร์ค และไชน่าทาวน์ซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ทั้งสองแห่งจำลองแบบความเป็นอยู่และวิถีชีวิตของคนจีนมาแทบ 100 เปอร์เซ็นต์ จนอาจเรียกได้ว่า คนอเมริกันไม่จำเป็นต้องไปเมืองจีนก็ยังสามารถรับรู้วัฒนธรรม ประเพณีจีน หรือส่วนหนึ่งของอารยวิถีตะวันออกได้เลยทีเดียว                จากช่วงเหตุการณ์ปฏิวัติประเทศ และช่วงหลังการปฏิวัติประเทศ เปลี่ยนการปกครองในประเทศจีน โดยซุนยัดเซ็น เหมาเจ๋อตุง จวบจนถึงปัจจุบัน ไชน่าทาวน์หลายเป็นแหล่งรวมของมวลชนคนจีนหลากแนวคิด ทั้งฝ่ายเสรีนิยมและฝ่ายคอมมิวนิสต์                 ปัจจุบันไชน่าทาวน์ กลายเป็นสถานที่ที่เผยแพร่วัฒธรรม พร้อมๆ กับการส่งเสริมนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลปักกิ่ง ที่ดำเนินการผ่านชุมชนชาวจีนโพ้นทะเลในอเมริกา รวมแม้กระทั่งการส่งเสริมการท่องเที่ยว การเศรษฐกิจระหว่างอเมริกากับจีน โดยเหตุที่ไชน่าทาวน์ส่วนใหญ่ เป็นสถานที่แรกหรือที่เหยียบแผ่นดินแห่งแรกของคณะทัวร์จากเมืองจีน ซึ่งเวลานี้ในยามที่เศรษฐกิจของจีนดี อเมริกาก็ไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ ทั่วโลก กล่าวคือ มีนักท่องเที่ยวนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวกันอย่างคึกคัก จำนวนมาก ไม่กี่ปีมานี้ เกือบทุกเที่ยวบินของสายการบินจีน มีผู้โดยสารเต็มลำ (แตกต่างจากสายการบินที่บินมายังฝั่งอเมริกาของบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น สายการบินไทยในอดีต ที่ขาดทุนบักโกรก ซึ่งผมก็ไม่ทราบว่าสายการบินไทยจะสามารถใช้ประโยชน์ทางธุรกิจอะไรได้บ้างจากข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางมายังอเมริกาของชาวจีนเหล่านี้)             ภาพที่เห็นนี้ เกิดขึ้นทั้งที่เมืองใหญ่ในอเมริกา นับแต่ ลอสแองเจลิส ซานฟรานซิสโก นิวยอร์คยันลาสเวกัส             สาเหตุที่คนจีนสมัยใหม่นิยมเดินทางมาท่องเที่ยวอเมริกา นอกเหนือจากเหตุผลด้านฐานะทางการเงินหรือเศรษฐกิจของพวกเขาที่ดีขึ้นแล้ว แรงจูงใจในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอัตราค่าโดยสารเครื่องบินที่เชื่อมโยงถึงต้นทุนการจัดแพคเกจทัวร์ที่ราคาถูกกว่า (แม้ไม่ถึงกับศูนย์เหรียญก็ตาม) ยังมีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์อย่างมากด้วย แม้กระทั่งการที่ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลงมากในบางขณะ                 ส่วนหนึ่งของการใช้ประโยชน์จากไชน่าทาวน์ในอเมริกา คือ มันเป็นสถานที่ถูกพัฒนาเอาไว้สำหรับรองรับธุรกิจข้ามชาติจากเมืองจีน จนกระทั่งมีคำพูดขำๆ ล้อคนจีนอยู่เนืองๆ ว่า “คนจีนจากเมืองจีนบินมาอเมริกาใช้เวลาเป็นวัน หลับมาบนเครื่อง พอตื่นขึ้นมา ก็ร้องโวยวายกับหัวหน้าคณะทัวร์ว่า เอ้ย ลื้อหลอกอั๊วนี่หว่า ก็ไหนบอกว่าจะพาไปเที่ยวอเมริกา(ไง) บินมาตั้งนาน ทำไมยังอยู่เมืองจีน”                   จากประวัติศาสตร์อันยาวนานของชนเชื้อชาติจีนในอเมริกา ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่ทำให้คนจีนรุ่นใหม่เข้าสู่ระบบการทำงานของอเมริกันในแทบทุกวงการ แทบทุกแขนง เช่น ในหน่วยงานราชการอเมริกัน วงการสื่อสารมวลชน ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์หรือทีวีกระแสหลัก โดยเฉพาะในแวดวงการเมืองอเมริกันระดับท้องถิ่นและในระดับชาติจำนวนไม่น้อย                 หากมองการเติบโตของไชน่าทาวน์หรือชุมชนการค้าชาวจีนในอเมริกาที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ามีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง ตามการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจของแต่ละเมืองในอเมริกา เช่น ไชน่าทาวน์ที่แอล.เอ. ถูกย้ายและขยายจากย่านดาวทาวน์ ออกไปยังเมืองมอนเทอเรย์พาร์ค เมืองซานเกเบรียล และอีกหลายเมืองตลอดแนวถนนวัลเลย์ บูเลอวาร์ด ซึ่งถือเป็นย่านคนจีนและคนเอเชียนที่ใหญ่มากแห่งหนึ่งในอเมริหาฝั่งตะวันตก ไชน่าทาวน์แอล.เอ.เดิมที่อยู่ย่านถนนบรอดเวย์นั้น ตอนนี้ถูกแทนที่โดยเวียดนามทาวน์ไปโดยปริยาย ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อนหน้านี้ มอนเทอร์เรย์ พาร์ค เป็นเมืองอับเฉา แทบไม่มีอะไรเป็นจุดดึงดูดนักลงทุน การขยายตัวของการลงทุนของนักธุรกิจเชื้อชาติจีนจากไชน่าทาวน์แอล.เอ. ประสานกับการสร้าง (กำหนดกติกา) แรงจูงใจด้านการลงทุนของเมืองมอนเทอเรย์พาร์คและเมืองอื่นๆใกล้เคียง ทำให้เมืองต่างๆ ในบริเวณเดียวกันนี้ พลอยได้รับอานิสงส์ คือ ทำให้เมืองมีอัตราการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจสูงมากขึ้น การเพิ่ม การย้ายของของประชากรชาวเอเชียมีมากขึ้น  เมืองเจ้าของพื้นที่เองเก็บภาษีได้มากขึ้น กลายเป็นเมืองที่มีความสำคัญด้านเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ของรัฐแคลิฟอร์เนียแม้กระทั่งในเวลานี้ พร้อมๆ การจับจ่ายใช้สอย บริโภคสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะสินค้าเอเชียนที่เป็นไปอย่างคึกคัก การพยายามพัฒนาเมืองด้วยการสร้างแรงใจด้านการลงทุนต่อชุมชนเอเชียของทางการท้องถิ่นในอเมริกา เป็นไปในทำนองเดียวที่เมืองโอ๊คแลนด์ (แคลิฟอร์เนียภาคเหนือ) เมืองที่มีท่าเทียบเรือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ เปรียบเทียบกับช่วงก่อนหน้าที่จะเกิดชุมชนเวียดนามมิสทาวน์ เมืองโอ๊คแลนด์มีอาชญากรรมและยาเสพติดสูงติดอันดับของรัฐ จนหลังจากนโยบายส่งเสริมการเข้าไปตั้งถิ่นฐานของคนเชื้อสายเวียดนามและเชื้อสายเอเชียนอื่นๆ เกิดขึ้น ในเวลาต่อมามันได้พลิกเมืองโอ๊คแลนด์ให้กลายเป็นเมืองการค้าไปในที่สุด พร้อมๆ กับสถิติอาชญากรรมที่ค่อยๆ ลดลง คลายความหนาแน่นลงของชุมชนแอฟริกัน-อเมริกันที่มีอยู่แต่เดิมลงไป เวลาเอ่ยถึงไชน่าทาวน์หรือทาวน์อื่นๆ ในอเมริกา หลายคนอาจเข้าใจว่า คนสร้างหรือผู้ก่อตั้งต้องเป็นคนจีนหรือคนเชื้อชาตินั้นๆ แต่ความจริงแล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะไชน่าทาวน์หลายแห่ง คนสร้างหรือคนลงทุนเป็นฝรั่งอเมริกัน “ทาวน์”มาจากการวางแผนของทางซิตี้หรือเมืองนั้นๆ แม้กระทั่งการออกแบบผังที่มีกลิ่นอาย ลวดลายสถาปัตยกรรมแบบจีน อย่างเช่น ไชน่าทาวน์ลาสเวกัส (ที่ในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีมากนี้ขยายตัวอย่างมาก ขยายบริเวณออกไปอย่างรวดเร็ว) ซิตี้หรือเมือง มีส่วนอย่างมากต่อการกำหนดเงื่อนไขการลงทุนในรูปแบบเงื่อนไขผ่อนปรน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างงานในเขตชุมชนนั้นๆ ไชน่าทาวน์เวลานี้จัดเป็นแหล่งกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญของหลายๆ เมืองในอเมริกา เพราะคนเอเชียนมีกำลังซื้อสูง เมื่อเทียบกับกลุ่มชนเชื้อชาติอื่นๆ ซึ่งแน่นอนว่า การซื้อขายวัฒนธรรมในระบบพหุวัฒนธรรมแบบอเมริกันเป็นกิจกรรม ที่จำเป็นและได้รับความนิยมเช่นกัน เป็นไปตามคำพูดที่ว่า “คนเชื้อสายจีนหรือคนเชื้อสายเวียดนามและเกาหลีเคลื่อนไปทางไหน การทำมาค้าขายก็เกิดขึ้นที่นั่น” รัฐบาลท้องถิ่นอเมริกันหลายเมืองใช้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโดยเอาชนต่างด้าวนำ เพื่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดพลวัตทางเศรษฐกิจ ทำให้แทบไม่น่าเชื่อว่า สินค้าบริโภคในตลาดจีนหรือตลาดเวียดนามในอเมริกามีมากกว่า สินค้าที่บริโภคกันในประเทศจีน เวียดนาม หรือแม้กระทั่งเมืองไทยเอง พูดง่ายๆ คือ คนที่เมืองจีนหรือเมืองไทย ยังหาซื้อกินยากหรือหาซื้อไม่ได้ แต่สินค้าเอเชียหลายอย่างมีขายในตลาดอเมริกา จากข่าวสารและการคะเนเชิงประจักษ์ ผมเห็นความเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงในระดับท้องถิ่น(เมือง)ในแง่ที่ว่า พื้นที่ไชน่าทาวน์และตลาดเอเชียน มีความคึกคัก หลากหลาย มีชีวิตชีวา ไม่เกี่ยวกับนโยบายส่วนกลางใดๆ ของรัฐบาลกลางอเมริกันมากนัก นโยบายเศรษฐกิจในระดับรัฐบาลกลางจะเป็น ก็เป็นไป ต้องผ่านพิธีการ ระเบียบ ขั้นตอนอะไรต่างๆเยอะแยะไปหมด แต่ในไชน่าทาวน์มีวัฒนธรรมค้าขายอีกแบบ งานคอนเวนชั่น หรือโชว์ที่ลาสเวกัส จึงเต็มไปด้วยหน้าจีน หน้าคนเอเซีย พวกเขาไปหาก๋วยเตี๋ยวในย่านไชน่าทาวน์ กิน หลังเสร็จงานประชุม ในแง่การเมืองท้องถิ่น ดังเป็นที่ทราบกันดีว่าคนรุ่นใหม่เชื้อสายจีน เข้าไปเป็นตัวแทนจากระบบเลือกตั้งท้องถิ่นในอเมริกาทั้งระดับเมืองถึงระดับรัฐมานานแล้ว การผลักดันในเรื่องการส่งเสริมการค้าการลงทุน  เรื่องสวัสดิการของแรงงาน จึงย่อมได้รับการพิจารณา ปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้นอย่างสม่ำเสมอ บนความเข้าใจด้านเชื้อชาติเดียวกันของพวกเขา ไชน่าทาวน์ ได้ให้กำเนิดธุรกิจหลายอย่างในอเมริกา รวมทั้งนักธุรกิจเอเชียนที่ประสบความสำเร็จหลายคน ที่สำคัญนักธุรกิจเอเซียน รุ่นใหม่เหล่านี้ต่างร่วมมือร่วมใจกันทำธุรกิจ จนประสบผลสำเร็จอย่างอัศจรรย์ อย่างที่เห็นในทุกไชน่าทาวน์ของที่นี่