เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com เมื่อเกือบสี่สิบปีที่แล้ว ได้ประสานงานโครงการความร่วมมือผู้นำศาสนาพุทธ คริสต์และอิสลามเพื่อการพัฒนา มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตและการพัฒนาชุมชน ครั้งแรกๆ พบกันที่ “บ้านเซเวียร์” ข้างๆ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จำหลวงพ่อได้หลายองค์ เช่น พระราชวินยาภรณ์ จากเชียงใหม่ (วัดป่าดาราภิรมย์ ต่อมาท่านมีสมณศักดิ์ขึ้นไปเป็นลำดับจนก่อนมรณรภาพเป็นพระพุทธพจนวราภรณ์ (จันทร์ กุสโล) อดีตเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง) มากับท่านจากเชียงใหม่ก็มีพระครูมงคลศีลวงศ์ เจ้าอาวาสวัดดอยสะเก็ดในขณะนั้น (ต่อมาท่านได้เลื่อนสมณศักดิ์จนเป็นพระเทพวิสุทธิคุณ เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ และมรณภาพเมื่อต้นปี 2559) จากอีสานมีหลวงพ่อนาน จากวัดสามัคคี สุรินทร์ พระอาจารย์บัญญัติ อนุตตโร จากวัดป่าธรรมดา อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น จากภาคกลางมีพระครูสาคร สังวรกิจ จากวัดยกกระบัตร อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ยังมีอีกหลายท่านที่จำชื่อนามท่านไม่ได้ รวมทั้งผู้นำศาสนาอิสลามหลายท่าน เรื่องที่อยากเขียนถึงวันนี้เป็นประเด็นที่เกี่ยวกับ “เข้าพรรษา” ที่ผู้นำศาสนาคริสต์ได้เล่าเรื่องสิ่งที่ทำในเทศกาล “ถือศีลอด” หรือ “มหาพรต” (ภาษาที่คาทอลิกใช้เรียกเทศกาล Lent, 40 วันก่อนเทศกาลปาสกา หรือวันที่พระเยซูทรงถูกทรมาน สิ้นพระชนม์และกลับคืนชีพ) เริ่มที่ประเทศเยอรมนีหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีบาทหลวงท่านหนึ่งเสนอว่า การที่ชาวคริสต์ลดการบริโภค การใช้จ่าย หรือ “อด” ในระหว่าง 40 วันก็เป็นเรื่องดี แต่หลังจากวันปาสกาแล้วก็นำเงินที่อดออมได้ไปใช้จ่ายเอง ถ้าหากว่านำเงินนั้นไปช่วยเหลือคนยากจนจะได้บุญเป็นสองต่อ ความคิดนี้ได้รับการยอมรับ และมีการจัดการอย่างเป็นระบบ “แบบเยอรมัน” จัดตั้งองค์กรหนึ่งขึ้นมาดูแลเรื่องนี้โดยตรง ชื่อ “Misereor” (ภาษาละติน แปลง่ายๆ ว่า “เมตตา” ก็แล้วกัน) องค์กรนี้จะเตรียมการรณรงค์ใน 40 วันที่ว่านี้ โดยแต่ละปีจะเลือกหัวข้อหนึ่ง หรือประเทศหนึ่ง ทำข้อมูล เอกสาร สื่อต่างๆ ทำการรณรงค์ปลุกจิตสำนึกของคนเยอรมันให้ตระหนักในประเด็นนี้ มีคำขวัญเกิดขึ้นทุกปี เช่น “เรารวยเพราะเขาจน” “ไม่ใช่การค้าเสรีแต่การค้าที่เป็นธรรม (fair trade not free trade) หรือเลือกประเด็น เช่น เด็กที่ประเทศอินเดีย และในปี 2534 “ผู้หญิงไทย” เพื่อให้ข้อมูลและรณรงค์ให้คนเยอรมันรู้จักด้านบวกด้านดีของผู้หญิงไทย ไม่ใช่มีแต่ด้านลบด้วยภาพของหญิงบริการที่คนเยอรมันคุ้นเคยในขณะนั้น จัดส่งข้อมูล เอกสาร สื่อไปทั่วประเทศ ตามวัด โรงเรียน หน่วยงาน องค์กร ชุมชน ยังแจกกล่องเล็กๆ ทำด้วยกระดาษแข็ง มีรูเพื่อใส่เหรียญใส่เงินที่อดและออมไว้เพื่อจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ร่วมกันในปีนั้น บางคนบอกว่า เทศาล 40 วันนี้จะไม่ดื่มเบียร์ดื่มไวน์ เขาก็จะนำเงินที่เคยซื้อเครื่องดื่มเหล่านั้นมาใส่ไว้ในกล่อง หลายคนอดอาหารค่ำวันศุกร์ ก็จะนำเงินที่ควรจ่ายค่าอาหารนั้นใส่ลงไปในกล่อง ไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ ทุกคนต่างก็ร่วมมือกันในเทศกาลดังกล่าว ใส่เงินลงไปในกล่องเท่าไรก็ได้ ทุกปี Misereor รวบรวมเงินออมที่นำไปรวมกันในวันปาสกาปีหนึ่งได้หลายพันล้านบาท รัฐบาลเยอรมันมีพันธสัญญาสมทบให้อีกเท่าตัว องค์กรนี้นำเงินดังกล่าวไปช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยจนถึงเมื่อสัก 20 กว่าปีที่แล้ว (เลิกเอาตอนที่ไทยกำลังกลายเป็นเสือตัวใหม่) แนวคิดของเยอรมันได้แพร่ไปทั่วโลก ชาวคริสต์ร่วมกันเรียนรู้และอดออม พัฒนาตนให้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาที่เราทุกคนมีส่วนรับผิดชอบ เป็น “บาปสังคม” ที่ต้องแก้ด้วยกรรมดีด้วยกัน โครงการนี้เป็นอะไรที่ win-win ทุกฝ่าย ได้กองทุน ได้จิตสำนึก ได้พัฒนา หลวงพ่อหลายท่านได้นำความคิดนี้ไปประยุกต์ที่วัด พระครูสาครสังวรกิจ ที่วัดยกกระบัตร ก่อนเข้าพรรษา ท่านแจกกระบอกไม้ไผ่ให้ทุกครัวเรือน เจาะรูและให้หยอดเหรียญหรือใส่ธนบัตรลงไป วันออกพรรษาก็นำกระบอกไม้ไผ่นั้นมารวมกัน ผ่าออกที่วัด นับเงินได้หลายแสน ร่วมกันทอดกฐิน จำไม่ได้ว่า ท่านได้รณรงค์เรื่องอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ แต่ท่านคือพระที่ได้พัฒนาช่วยเหลือชาวบ้านที่ลำบากยากจนเพราะน้ำเค็ม ร่วมกันแก้ปัญหาจนทำให้ชีวิตชาวบ้านดีขึ้น มีรายได้มั่นคง ปัญหาสังคมต่างๆ ลดน้อยลง หวงพ่อนาน พระอาจารย์บัญญัติ และอีกหลายท่าน ก็มีกิจกรรมอื่นๆ ที่ท่านทำอยู่แล้ว การมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้นำไปสู่การจัดตั้งคณะกรรมการศาสนาเพื่อการพัฒนาขึ้นมา ด้วยความร่วมมือระหว่างผู้นำศาสนา โดยฝ่ายพุทธมีอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และพระมหาณรงค์ (ต่อมาคือพระสุธีวรญาณ รองอธิการบดีมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยที่นครราชสีมา) ฝ่ายคริสต์มีท่านบิช็อบบุญเลื่อน มั่นทรัพย์และผม รู้สึกเป็นบุญที่ได้รู้จักพระนักพัฒนาหลายท่าน กราบไหว้ได้อย่างสนิทใจ ไม่ว่าจะมีนามว่าอะไร ท่านก็มีจริยวัตรเยี่ยง “พระโพธิสัตว์” เป็นแบบอย่างและสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนเชื่อว่า เมตตาธรรมค้ำจุนโลกได้จริง