เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com การแต่งไปรเวทไปโรงเรียนของเด็กนักเรียนเมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา คงเป็นเพียงหนึ่งในสัญลักษณ์การต่อต้านอำนาจและระบบการศึกษาไทย แม้จะเปลี่ยนไม่ได้ แต่ก็จุดประเด็นได้ อย่างน้อยก็ทำให้รัฐบาล กระทรวง สื่อ ผู้ปกครอง สังคมโดยรวมหันมาสนใจประเด็นนี้ วิพากษ์วิจารณ์เห็นด้วยไม่เห็นด้วย มีทั้งที่ตีวงแคบๆ แค่เรื่องเสื้อผ้าทรงผม กับคนที่โยงไปถึงระบบโครงสร้างการศึกษา ค่านิยมอำนาจในสังคมไทย ถกกันนานเข้า คนก็เริ่มโยงไปถึงประเด็นใหญ่กว่า ลึกกว่า ทั้งระบบเลยทีเดียว และประเด็นคงไม่ตื้นๆ ว่าเด็กพวกนี้ทำตามใจตัวเองหรือถูกผู้ใหญ่ไม่หวังดี ไม่รักชาติอยู่เบื้องหลังปั่นหัวล้างสมอง ถูกใช้เป็นเครื่องมือ จากพฤติกรรมที่ปรากฏ ขบวนการทางสังคมของเด็กและการวิพากษ์วิจารณ์ของผู้ใหญ่ เด็กวันนี้คิดเก่งกว่าผู้ใหญ่หลายคน พวกเขาเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากกว่า ไม่ได้นั่งรอให้พ่อแม่ ครู ผู้ใหญ่บอกข้อมูลความรู้เหมือนสมัยโบราณ พวกเขาหาได้เองทางอินเตอร์เน็ต และคงไม่แปลกที่ผู้ใหญ่หลายคนจะแสดงความเห็นด้วย ให้กำลังใจ ให้การสนับสนุนพวกเขาให้เกิดการปฏิรูป การเปลี่ยนแปลงสังคม และคงไม่เพียงแต่ผู้ใหญ่หรือผู้คนในประเทศไทย แต่รัฐบาลต่างประเทศที่พัฒนาเป็นประชาธิปไตย องค์กรระหว่างประเทศ สหประชาชาติ องค์การสิทธิมนุษชน ต่างก็สนับสนุนขบวนการทั่วโลกที่ต่อสู้เพื่อคุณค่าสากลของประชาธิปไตย สิทธิและเสรีภาพ ผู้ใหญ่จำนวนมากรับไม่ได้ที่โดนเด็กถอนหงอก ประท้วง เรียกร้อง จึงตอบโต้ด้วยความรุนแรง อ้างกฎหมาย อ้างระเบียบ บอกให้เด็กคิดถึงหน้าที่เคารพกฎกติกาของสังคม ไม่เอาแต่เรียกร้องสิทธิ โดยลืมไปว่า กฎเกณฑ์กติกาที่ว่านั้นใครกำหนด ใครสั่ง ใครต้องรับคำสั่งอย่างเดียว ห้ามเถียงห้ามวิจารณ์ เด็กวันนี้อยากมีส่วนร่วมในการกำหนดกฎกติกาของสังคม ไม่อยากให้ผู้ใหญ่อ้างแต่ว่า มีเขียนไว้แล้ว ว่าเด็กก็มีส่วนร่วม ผู้ปกครอง ชุมชนก็มีส่วนร่วม แต่คำถามคือ ถ้าความสัมพันธ์เชิงอำนาจยังเป็นเช่นวันนี้ การมีส่วนร่วมเป็นแต่เพียงรูปแบบ ของปลอมหรือของจริง เด็ก ผู้ปกครอง ชุมชน มีที่ยืน มีส่วนร่วมจริงหรือ มีกี่โรงเรียนในประเทศไทยที่กรรมการสถานศึกษามีบทบาท มีสิทธิมีเสียง มีส่วนร่วมจริงในการกำหนดนโยบายการจัดการศึกษาในโรงเรียนนั้น ให้พูดได้ แต่ถามว่าพูดแล้วฟังหรือไม่ เหมือนชาวบ้านที่เป็นกรรมการพอไปขัดแย้งความเห็นของผอ. ก็ถูกถามกลับว่า “คุณจบชั้นอะไรมา” ถูกบูลลี่กลับอีกต่างหาก การปฏิรูปการศึกษามีหลายระดับ หลายมิติ ที่ใหญ่สุดอย่างระบบโครงสร้างและคุณค่าอำนาจ ไปถึงเล็กหรือรายละเอียดอย่างเสื้อผ้าทรงผม ซึ่งเป็นเปลือกหรือกระพี้ แต่ก็ส่วนหนึ่งของระบบหรือองคาพยพ สองประเด็นใหญ่สุดที่สัมพันธ์กันและครอบงำสังคมไทยและการศึกษาไทย คือ การรวมศูนย์อำนาจ และความสัมพันธ์เชิงอำนาจ การรวมศูนย์อำนาจการปกครองในทุกเรื่อง ทุกกระทรวงอยู่ที่กรุงเทพฯ งบประมาณก็ถูกจัดไว้ที่ส่วนกลาง แผนงานและคำสั่งต่างๆ ก็มาจากที่นี่ ระบบรวมศูนย์ทำให้สังคมไม่สามารถใช้ทรัพยากรอีกมากมายในท้องถิ่น โดยเฉพาะบุคลากรที่ประกอบด้วยคนเก่ง คนดี ผู้รู้ ปราชญ์ชาวบ้าน อีกทั้งทรัพยากรธรรมชาติ และทุนทางสังคมจารีตประเพณีวิถีชุมชน ที่เป็นคุณค่าสำคัญ เหล่านี้ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เพราะอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่ส่วนกลาง ที่ “มองข้าม” ทุนท้องถิ่นและศักยภาพประการหนึ่ง และไม่ต้องการให้ใครไปแย่งหรือลดทอนอำนาจส่วนกลางอีกประการหนึ่ง ยกตัวอย่างเรื่องการส่งเสริมการเกษตร ส่งเสริมการท่องเที่ยว ใช้งบประมาณมหาศาล ในรายงานคงมีแต่ผลดี โดยไม่ได้มองว่า ถ้าหากท้องถิ่นมีอำนาจจริง มีงบประมาณด้วย น่าจะทำได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ ถ้าชุมชนมีส่วนร่วม ปัญหาร้อยแปดในการเกษตรน่าจะน้อยลง รวมทั้งศาลาร้างที่หน่วยงานราชการเอางบประมาณไปสร้างไว้ส่งเสริมการท่องเที่ยว และอื่นๆ ที่ทำเป็นสูตรสำเร็จจากกรุงเทพฯ การศึกษาก็ยิ่งเห็นได้ชัดว่ารวมศูนย์อำนาจการคิด การตัดสินใจไว้ที่กรุงเทพฯ ก็เกิดความคิดดีๆ เรื่องการปฏิรูปการศึกษามากมายจริง แต่ทำไม่ได้ ไม่สำเร็จสักที เพราะอำนาจที่รวมศูนย์ ที่ควบคุมมากกว่าส่งเสริมสนับสนุน ที่ทำให้มีแต่ระบบการบริหาร การตรวจสอบ ครูที่ต้องทำแต่รายงาน ทำเอกสาร ทำผลงานให้ตนเอง และที่สำคัญ งบประมาณที่รวมศูนย์ ไปไม่ถึงโรงเรียนในท้องถิ่นอย่างที่ควร ถ้าหากมีการกระจายอำนาจ (หรือที่ถูก คืนอำนาจให้ประชาชน) ให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการศึกษา ให้ชุมชนมีส่วนร่วม ให้เด็กนักเรียนมีสิทธิมีเสียง มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา การปฏิรูปจะเกิดอย่างแน่นอน คุณภาพการศึกษาจะดีกว่านี้ โรงเรียนเล็กจะไม่ถูกปิด หรือถูกทิ้งขว้างอย่างที่เห็น เรือหางยาววิ่งได้เร็วกว่า ไปไหนมาไหนได้สะดวกกว่า เลี้ยวซ้ายขวาได้ง่ายกว่าเรือเกลือที่วิ่งช้า และวิ่งได้แต่ในแม่น้ำและน้ำลึกเท่านั้น แต่เรือหางยาวที่ไม่มีน้ำมัน ชาวบ้านต้องใช้ถ่อใช้พาย แล้วจะไปถึงไหน เหมือนการจัดการศึกษาในท้องถิ่นที่ไม่มีอำนาจ ไม่มีงบประมาณ แล้วจะจัดการได้อย่างไร ที่สำคัญ คือ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ คุณค่าอำนาจนิยมในสังคมไทย ผู้ใหญ่ทำอะไรถูกและเก่งกว่าเด็กเสมอ นี่ต่างหากที่ทำให้เด็กออกมาประท้วงและรณรงค์เรื่องความเสมอภาคและเสรีภาพ โลกเปลี่ยนไปแล้ว ดูเหมือนสังคมไทยยังวนเวียนอยู่กับเรื่องการศึกษาอะนาล็อก ทั้งๆ ที่โลกเป็นดิจิทัล และการศึกษาที่จะมีคุณค่ากับสังคมวันนี้ต้องเปลี่ยนทั้งรูปแบบเนื้อหากระบวนการ เมื่อผู้ใหญ่ในกระทรวงกับเด็กอยู่กันคนละโลก จะพูดกันรู้เรื่องได้อย่างไร ประเด็นไม่ใช่แค่ทรงผมเสื้อผ้า