พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ แม้ดูเหมือนสถาบันการเงินของอเมริกันจะห่างเหินกับชุมชนในระดับท้องถิ่น(local community) ภายใต้กระแสทุนนิยมที่เชี่ยวกราก แต่เอาเข้าจริงๆแล้ว สถาบันการเงินเหล่านี้ ซึ่งประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์ และบริษัทการเงินต่างๆ หามีลักษณะเป็นดังกล่าวแต่อย่างใดไม่ ด้วยเหตุที่ในอเมริกาเองมีสถาบันการเงินของท้องถิ่น เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก เพื่อประโยชน์ด้านธุรกรรมสำหรับคนท้องถิ่นนั้นๆ เอง เข้าทำนองคนหรือสถาบันการเงินในท้องถิ่นนั้นๆ รู้ปัญหาปากท้องของคนในท้องถิ่นนั้นๆ ดีกว่าคนท้องถิ่นอื่น สถาบันการเงินเหล่านี้เปิดให้บริการแต่ละเมือง แต่ละรัฐอย่างชัดเจน ดังปรากฏว่าก่อนหน้านี้มีการรวมกลุ่มกันของคนเชื้อสายเอเชีย ในลาสเวกัส รัฐเนวาดา รวมกันตั้งแบงก์ขึ้นมาตามกฎหมายของรัฐเดียวกันนี้ โดยเน้นการทำธุรกรรมให้กับประชาชนในเนวาดา โดยเฉพาะย่านเมืองลาสเวกัส การมีกฎหมายที่ให้โอกาสเปิดหรือตั้งแบงก์ท้องถิ่นดังกล่าว ทำให้ประชาชนหรือนักลงทุนมีทางเลือกในการใช้บริการการเงินผ่านธนาคารในท้องถิ่นมากขึ้น สินเชื่อหรือธุรกรรมที่ต้องดำเนินการผ่านแบงก์ไม่ได้ถูกจำกัด อยู่เพียงธนาคารขนาดใหญ่ อย่างเช่น Bank of America หรือ Wells Fargo หากแต่ยังมีธนาคารท้องถิ่นเป็นทางเลือกให้ประชาชนได้เลือกในเชิงการแข่งขัน อีกแง่หนึ่งแบงก์ใหญ่ๆ เองถูกแรงกดดันจากการแข่งขันกับแบงก์ท้องถิ่นเหล่านี้ อาศัยที่แบงก์ท้องถิ่นนั้น มีขนาดเล็กกว่า จึงมีความคล่องตัวในการดำเนินงานค่อนข้างสูง ทั้งรัฐบาลท้องถิ่นให้เงื่อนไขผ่อนปรนเชิงการทำธุรกรรม โดยต้องเป็นไปตามกติกาหรือกฎหมายของรัฐซึ่งสัมพันธ์กับกฎหมายของรัฐบาลกลาง เช่น เรื่องทุนสำรอง เป็นต้น) ทำให้ แบงก์ขนาดย่อมเหล่านี้ สามารถดำเนินกิจการอยู่ได้ และทำให้ธุรกรรมไม่ถูกกินรวบโดยแบงก์พาณิชย์ขนาดใหญ่ระดับประเทศ ขณะเดียวกันแบงก์พาณิชย์ขนาดใหญ่เหล่านี้ เมื่อมาทำกิจการในรัฐต่างๆ ก็ต้องยอมรับเงื่อนไขหรือกฏหมายของรัฐนั้น อย่างเลี่ยงไม่ได้ ทำให้การแข่งขันอย่างยุติธรรมมากขึ้น ความผิดพลาดในอดีตที่ก่อให้เกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในอเมริกา สาเหตุจึงไม่ได้เกิดจากกฎกติกาของแบงก์ในแต่ละรัฐ แต่มาจากความหละหลวมของการเก็งกำไรในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีมากเกินไป โดยเฉพาะการเก็งกำไรผ่านสถาบันการเงินขนาดใหญ่ ส่วนแบงก์ขนาดย่อมนั้นได้รับผลกระทบน้อย สามารถเลี่ยงออกไปจากปัญหาระดับชาตินี้ได้ เช่น ในรัฐเนวาดา ซึ่งเป็นรัฐที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางการเงินรอบที่ผ่านมามากที่สุด แบงก์ขนาดย่อม อย่าง Nevada State Bank กลับประคองตัวเองให้รอดพ้นภัยดังกล่าวได้อย่างดี , ผมเคยเป็นลูกค้าของแบงก์นี้ ปรากฏว่าเขาบริการลูกค้าดีมาก มีการติดตามลูกค้า(ในรูปแบบที่ไม่ก่อให้เกิดความรำคาญ) ดีมาก แม้ว่าช่วงต่อมาผมไม่ได้เป็นลูกค้าของแบงก์นี้แล้วก็ตาม แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการแสวงหาและรักษาลูกค้า ในแง่ของการบริการลูกค้าของแบงก์ประเภทนี้ จึงดีกว่าแบงก์ขนาดใหญ่ระดับประเทศเสียด้วยซ้ำ ดังนั้น ถึงแม้จะมีการมองว่าการทำธุรกิจหลายอย่างในอเมริกา เป็นไปในลักษณะปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่แท้ที่จริงแล้ว ไม่ได้เป็นความจริงเสียทั้งหมด การปกป้องธุรกิจเพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมยังมีอยู่ ไล่ตั้งแต่ส่วนกลาง ตลอดถึงในท้องถิ่น ดังกรณีของแบงก์ท้องถิ่น โดยไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายเพื่อตั้ง “ธนาคารจำเพาะ” (จำอวด) หรือ “ธนาคารเฉพาะกิจ” แต่อย่างใด หากเทียบกับเมืองไทย ที่มีการ(ออกกฎหมาย/พระราชบัญญัติ)จัดตั้งธนาคารเฉพาะกิจกันหลายแห่ง โดยรัฐบาล เจ้าของระบบอุปถัมภ์ใหญ่ทางการเงิน เป็นผู้ให้การสนับสนุน, ธนาคารเหล่านี้อยู่ได้ด้วยเงินของรัฐซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเงินจากภาษีอากรของประชาชน การทำงานจึงเป็นไปในลักษณะเดียวกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ(ข้าราชการ)เช่นเดียวกัน คือ ทำอย่างเสียไม่ได้ เฉื่อยเนือยและไร้ประสิทธิภาพ ดังระบบการทำงานของธ.ก.ส.(ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) และอีกหลายธนาคาร รวมทั้งธนาคารเฉพาะที่เพิ่งเกิดใหม่ที่มีเจตนาสนองตอบประชานิยมในทางการเมืองและระบบเส้นสายอุปถัมภ์ ถึงขนาดบางธนาคารยังเกิดจาก “การเมือง”ที่มุ่งผลประโยชน์ที่ได้จาก“ความเชื่อความศรัทธา” แต่แบงก์ประเภทนี้กลับเกิดขึ้นเพื่อสนองความต้องการของคนเพียงไม่กี่กลุ่มในองค์กรเท่านั้น สำคัญกว่านั้น คือ การเกิดขึ้นของธนาคารเฉพาะใหม่ๆ นี้ที่อุดหนุนโดยรัฐนั้น แม้จะตอบโจทย์ เรื่องสินเชื่อสำหรับชาวบ้านทั่วไปก็จริง แต่ส่วนหนึ่งเป็นการมุ่งวางเส้นสายภายในองค์กรแบงก์แบบอุปถัมภ์ โดยที่ตัวผู้บริหารธนาคาร(เช่น กรรมการธนาคาร) เหล่านี้ ไม่ได้มีความรู้เรื่องการเงินการธนาคารแต่อย่างใดเลย หากได้มาด้วยระบบพวกมากลากไปเท่านั้นเอง ยังการยกข้ออ้างเรื่อง “ความเท่าเทียมกันในการอนุญาตจัดตั้งธนาคาร”ที่กำลังดำเนินการเรียกร้องกันอยู่ เช่น การจัดตั้งธนาคารพระพุทธศาสนา ก็น่าคิดว่าระบบการเงินการธนาคารของไทยจะออกมาในรูปแบบใดในอนาคต ทั้งๆ ที่การจัดตั้งธนาคารพิเศษ(เฉพาะ) แบบนี้ไม่ได้สะท้อนว่า มันเป็นเครื่องมือทางการเงินเพื่อก่อให้เกิดการแข่งขันในระบบธนาคารไทยแต่อย่างใดเลย มิหนำซ้ำ ยังเหมือนดำเนินการกันคนละระบบ ธนาคารพาณิชย์ไปอีกทาง ธนาคารเฉพาะภายใต้การอปุถัมภ์ของรัฐบาลไปอีกทาง ไม่ได้สะท้อนอะไรที่ถือว่าเป็นไปตามกลไกทางการเงินเชิงอุปสงค์อุปทานที่แท้จริง เป็นการตำน้ำพริกการเมืองละลายแม่น้ำการเมืองเสียมากกว่า ดูเหมือนคนส่วนใหญ่ในประเทศมุ่งแสวงหาหนทางที่เรียกว่า “อาศัยรัฐเป็นที่พึ่งทุกอย่าง” นโยบายประชานิยม ก่อให้เกิดความใหญ่โตอลังการของภาครัฐขึ้น รัฐบาลคือที่พึ่งหลัก เชื่อว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย(แบงก์ชาติ) รู้ แต่แกล้งหลับตาเพียงข้างเดียว หรือทำหูทวนลมเสีย ภายใต้ระบบผูกขาดอุปถัมภ์ของแบงก์ไทย ทำให้การทำงานของแบงก์ชาติ(ไทย)ต้องยุ่งยากมากขึ้น เพราะนอกจากต้องดูแลธนาคารพาณิชย์ทั่วไปแล้ว ยังต้องดูแลแบงก์ลูกแหง่ อย่าง“ธนาคารเฉพาะ”อีกด้วย ซึ่งว่าไปแล้วไม่ได้เป็นเรื่องง่ายดาย แถมดูแลได้ยากกว่าแบงก์พาณิชย์เสียด้วยซ้ำ เพราะมีการเมือง (ที่โยงถึงรัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร หรือแม้กระทั่งคนในกองทัพ) เข้ามากำหนดหรือกุมนโยบายอีกด้วย ต้องไม่ลืมว่า ระบบการเงินที่ผ่านแบงก์เฉพาะเหล่านี้ มีขนาดใหญ่มาก เมื่อเกิดเหตุหรือรัฐกำหนดนโยบายใดๆ ความสั่นสะเทือนต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศจึงมีสูง และปฏิเสธ ไม่ได้ว่า ยิ่งมีสถาบันการเงินประเภทนี้มากเท่าใด ก็ยิ่งแยก “มาตรฐานในการกำกับควบคุม”ที่แบงก์ชาติจำต้องปฏิบัติตามหน้าที่มากขึ้นเท่านั้น เกิดมาตรฐานเละมากขึ้น ซึ่งในแง่ของการกำกับควบคุมนโยบายด้านเงินที่เป็นมาตรฐาน รัดกุม ถือว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาด เพราะทำให้แบงก์ชาติยิ่งกำกับควบคุม(ดูแล)ยากมากยิ่งขึ้น ทำไปทำมา การเกิดของธนาคารเฉพาะเหล่านี้ ไม่ได้สนองตอบต่อลูกค้าเฉพาะหรือลูกค้าทั่วไป ที่เป็นประชาชนหรือนักลงทุนที่ควรได้รับการสนับสนุน หากแต่มุ่งสนองตอบต่อนโยบาย(ประชานิยม)ของรัฐ สนองความต้องการของหน่วยงาน และความต้องการของคนบางกลุ่ม ที่ต้องการส่งพรรคพวก บริวาร ไปควบคุมกำกับสถาบันการเงินประเภทนี้เพื่อประโยชน์กลุ่มตนและพวกพ้อง ที่สำคัญ คือ เพื่อตำแหน่งที่สามารถอำนวยความสมบูรณ์พูนสุขของพรรคพวก (ใครพรรคพวกมัน)ในธนาคารเฉพาะแห่งนั้นๆ ธนาคารเฉพาะบางแห่งในเมืองไทยเกิดจากการรัฐประหารก็มี กลุ่มรัฐประหารแต่งตั้งกรรมการธนาคารเสร็จสรรพ หากดูจากวาทกรรมการเมือง“ทหารกับรัฐบาล”มีคำกล่าวซึ่งรู้จักกัน อย่างเช่น “รัฐซ้อนรัฐ” ในทางการเงินและเศรษฐศาตร์ จำเพาะในเมืองไทยน่าจะมีวาทกรรมใหม่เกิดขึ้นอีกคำหนึ่ง ก็คือ “แบงก์(ของ)ชาติซ้อนแบงก์ชาติ” เพราะในทางปฏิบัติจริง แบงก์เฉพาะของรัฐเหล่านี้ ปฏิบัติงานราวแบงก์เอกเทศ อยู่เหนือการควบคุมกำกับของแบงก์ชาติ เป็น “อภิสิทธิ์แบงก์” เป็นแบงก์แดนลับแลที่แม้แต่แบงก์ชาติเองก็ยังแตะไม่ได้