ทวี สุรฤทธิกุล ม็อบปี 2535 คือแบบอย่างของม็อบที่ประสบความสำเร็จ จากที่ผู้เขียนได้เล่ามาเกี่ยวกับม็อบ พ.ศ. 2516 กับม็อบ พ.ศ. 2519 ว่าเป็นม็อบที่ “ใช้อำนาจไม่เป็น” ด้วยความเหลิงอำนาจของนิสิตนักศึกษาที่มีการใช้เสรีภาพกันเกินขอบเขต ทั้งยังอ่อนประสบการณ์ในการที่จะจัดวางโครงสร้างของบ้านเมืองให้เข้ารูปเข้ารอย มีระบบระเบียบตามแบบนิติรัฐและส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย ด้วยการก่อความยุ่งเหยิงให้กับระบบรัฐสภาในยุคนั้น ที่สุดก็ทำให้ทหารมายึดอำนาจคืนไปและเข้าสู่วังวนในวงอุบาทว์นั้นต่อไป ซึ่งตรงกันข้ามกับม็อบใน พ.ศ. 2535 ที่ดำเนินการโดยนักการเมืองที่มีประสบการณ์ทางการเมืองพอสมควร ร่วมกับผู้สนับสนุนนักการเมืองกลุ่มนั้นที่บางส่วนก็คือกลุ่มคนที่เติบโตมาจากเหตุการณ์ม็อบปี 2516 กับ 2519 ซึ่งก็คงมี “บทเรียน” จากอดีตนั้นมาบ้าง ตอนที่มีรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 ผู้เขียนเพิ่งทำงานที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้สัก 4 ปี เช้าวันนั้นได้เดินทางไปสอนหนังสือที่เรียกว่า “สอนเสริม” ตามกำหนดของมหาวิทยาลัยที่โรงเรียนวัดสุทธิวราราม ตอนที่ผ่านสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ตรงถนนวิภาวดีสัก 2 โมงเช้า ได้สังเกตเห็นว่ามีรถถัง 2 คันมาจอดปิดประตูทางเข้าแล้ว แต่ไม่ได้เอะใจอะไร จนมาถึงโรงเรียนก็ตั้งหน้าตั้งตาสอนไปตามหน้าที่ กระทั่งพักเที่ยงก็ออกมากินข้าวมันไก่ที่ร้านชื่อดังแถว ๆ หน้าโรงเรียน สังเกตเห็นว่าโทรทัศน์มีภาพนิ่งรูปเครื่องหมายของกองทัพบกพร้อมกับเปิดเพลงมาร์ชของทหาร จึงถามอาโกเจ้าของร้านว่าเกิดอะไรขึ้น อาโกก็ตอบว่า “ไม่รู้เหรอว่ามีปฏิวัติ” ผู้เขียนจึงโทรศัพท์ไปที่บ้านก็ยืนยันเรื่องนี้และบอกว่าไม่ต้องห่วง ไม่มีการสู้รบหรือวุ่นวายอะไร ซึ่งในวันต่อมาหลังจากที่อ่านข่าวหนังสือพิมพ์กับดูข่าวโทรทัศน์เพิ่มเติมแล้ว ก็ทำให้ทราบว่าผู้คนค่อนข้างจะ “ถูกใจ” กับการยึดอำนาจครั้งนี้ ด้วยเหตุผลที่ทหารได้อ้างว่าเพื่อจัดการกับการทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมือง แต่ครั้นทหารคณะนั้นที่เรียกชื่อว่า “คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” (รสช.)ปกครองไปได้สักระยะก็เริ่ม “ออกลาย” คิดสืบทอดอำนาจ ด้วยการให้นักการเมือง “สุนัขรับใช้” ตั้งพรรคการเมืองชื่อว่า “สามัคคีธรรม” ที่รวมรวมบรรดานักการเมืองกะเรวกะรากมาเสนอพวกตนเป็นนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาล ทำให้นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามที่นำโดยพรรคพลังธรรม พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคความหวังใหม่ ลุกขึ้นมาต่อต้านในตอนต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 พลตรีจำลอง ศรีเมืองออกมาอดอาหารประท้วง แล้วพาม็อบไปชุมนุมที่สนามหลวง จนกระทั่งมาถูกล้อมจับที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บ้านเมืองจลาจลอยู่ 4 วัน จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงออกมาห้ามทัพ เรียกผู้นำของทั้งฝ่ายให้สงบศึก แล้วก็ให้นายอานันท์ ปันยารชุน มาเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาด้วยการเลือกตั้งในปลายปี 2535 ได้คุณชวน หลีกภัยมาเป็นายกรัฐมนตรี และเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2538 ได้คุณบรรหาร ศิลปะอาชาเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาด้วยพลเอกชวลิต ยงใจยุทธใน พ.ศ. 2539 ซึ่งในช่วงนี้ได้มีการเคลื่อนไหวในการปฏิรูปการเมือง จนกระทั่งสำเร็จเป็นรัฐธรรมนูญ “ฉบับประชาชน” ใน พ.ศ. 2540 ในช่วงเวลา 5 ปีนั้นได้เกิดกระบวนการ “หล่อมหลอมทางการเมือง” อย่างเข้มข้น ภายใต้แนวคิดของการสร้างการเมืองที่ใสสะอาดและมีประสิทธิภาพ ด้วยการเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนเข้าไปอย่างเต็มที่ พร้อมกับการกำหนดมาตรการในการคัดกรองนักการเมืองให้เข้าสู่อำนาจอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม มีองค์กรอิสระคอยควบคุมและตรวจสอบ การสร้างพรรคการเมืองให้เข้มแข็ง และบทลงโทษที่รุนแรงสำหรับนักการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชั่น จนถึงขั้นที่เชื่อกันว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 นั้นเป็นรัฐธรรมนูญที่ดี่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา แต่กระนั้นก็ยังแพ้เล่ห์เหลี่ยมนักการเมืองขี้โกง ที่อาศัยรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวครอบงำพรรคการเมืองและระบอบรัฐสภา เพราะภายหลังการเลือกตั้ง พ.ศ. 2544 พรรคไทยรักไทยของอดีตนายกฯคนดังที่กำลังหนีคดีอยู่ในวันนี้ ได้กวาดต้อนรวบรวมเอาพรรคต่าง ๆ มาเสริมแกร่งให้กับตนเอง จนถึงขั้นก่อการทุจริตครั้งใหญ่แบบ “อภิมหาคอร์รัปชั่น” ในหลาย ๆ โครงการ จนมีคนตั้งคำถามว่า ทำไม่จึงเป็นเช่นนั้น ซึ่งคำตอบก็มาเปิดเผยในการทำรัฐประหารของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ในวันที่ 19 กันยายน 2549 ว่าเพื่อมาปราบความชั่วร้ายของคณะโกงกินบ้านเมืองกลุ่มนั้น แต่กระนั้นบ้านเมืองก็ไม่สงบสุข เพราะ “เชื้อชั่ว” ที่นักการเมืองพวกนั้นทำไว้ยังคงแพร่ขยายแทรกซึมอยู่ในความนิยมของประชาชนจำนวนมาก ดังจะเห็นได้จากชัยชนะของน้องสาวอดีตนายกฯคนดังที่ชนะเลือกตั้งแบบ “ลอยมา” ในการเลือกตั้งปี 2554 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวก็เกิดม็อบเสื้อสีต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง สุดท้ายคือม็อบของ กปปส. จนกระทั่งทหารต้องเข้ามาควบคุมด้วยการทำรัฐประหารอีกครั้งในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ผู้เขียนได้เข้าร่วมกับม็อบมาทุกครั้ง ในม็อบพฤษภา 2535 ก็ไปเฝ้ามหาจำลองที่นอนอยู่ข้างเขาดินทุกวัน จนวันที่ออกมาจากสนามหลวงและมหาจำลองมาถูกจับใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก็ต้องหนีการเข้าสลายการชุมนุมอย่างระส่ำระสาย ในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ก็ได้เป็นรองประธานอนุกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญประจำจังหวัดนนทบุรี ได้ร่วมออกรับฟังความคิดเห็นและเป็นผู้จัดทำรายงานการรับฟังความคิดเห็นในจังหวัดนั้นโดยตลอด ในปี 2548 ก็ได้เข้าร่วมกับม็อบเสื้อเหลืองของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จนเกิดรัฐประหารในปี 2549 ก็ได้เป็นตัวแทนของกลุ่มนักวิชาการเข้าไปเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จนถึงปี 2556 ที่มีม็อบ กปปส. ก็ได้ขึ้นเวทีปราศัยอยู่หลายครั้ง จนกระทั่งเกิดการรัฐประหารในปี 2557 นั้น ในสัปดาห์หน้า ผู้เขียนจะมากล่าวถึงม็อบเยาวชนที่คิดจะล้มรัฐบาลและปฏิรูปสถาบันอยู่ในขณะนี้ ว่าควรจะศึกษาบทเรียนของม็อบต่าง ๆ ในระยะเวลาที่ผ่านมานี้ให้ถ่องแท้ โดยศึกษาถึงผลสำเร็จและความล้มเหลว เช่น ถ้าสำเร็จก็คือสามารถแก้ไขปัญหาทางการเมืองบางอย่างและนำไปสู่การพัฒนาการเมืองอย่างเป็นรูปธรรมได้บ้าง หรือถ้าล้มเหลวก็คือม็อบที่ทำให้บ้านเมืองยังคงมีปัญหาต่อไป บางทีม็อบ 2563 อาจจะไม่ใช่ม็อบครั้งสุดท้าย เพราะเท่าที่ดูก็ยังมองไม่เห็นความสำเร็จ