เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com “เรื่องการบินนี่ก็ดีอยู่หรอก แต่แกน่าจะรู้ว่าการร่อนการบินกินเข้าไปไม่ได้ อย่าลืมว่าเหตุที่แกบินก็เพื่อเอาไว้หากิน” พ่อบอกกับโจนาธาน “นับเป็นเวลาพันปีที่พวกเราได้แต่ตะกุยตะกายหาปลา แต่บัดนี้เรามีเหตุและผลที่จะดำรงชีวิตอยู่เพื่อเรียนรู้ เพื่อค้นหา และเพื่อเป็นอิสระ” โจนาธานบอกกับเพื่อนๆ ที่ถูกขับออกจากฝูง หนังสือโจนาธาน ลิวิงสตัน นางนวล เขียนโดยริชาร์ด บ้าค เมื่อปี 1970 ที่หาสำนักพิมพ์ไม่ได้ ต่อมาได้กลายเป็นหนังสือขายดีที่สุดเล่มหนึ่งของโลก แปลไปไม่รู้กี่ภาษา รวมทั้งภาษาไทยที่แปล 2 สำนวนโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ หนังสือเล่มนี้เหมือนกับสรุปปรัชญาของคนรุ่นเบเบี้บูมในยุค 1960 ที่ขบถต่อสังคมวัฒนธรรมเดิม ยุคที่คนต้องการคำตอบใหม่ด้วยการแสวงหาอย่างเสรี ไม่ใช่คำตอบเดิมๆที่พ่อแม่และสังคมถ่ายทอดมาให้ นางนวลได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของวิญญาณเสรี เช่นเดียวกับ “เจ้าชายน้อย” ที่เป็นตัวแทนวิญญาณบริสุทธิ์ที่ค้นหาคุณค่าและความหมายของชีวิตด้วยจิตวิญญาณแบบเด็ก ที่มองโลกมองชีวิตแตกต่างจากผู้ใหญ่ที่อะไรๆ ก็เป็น “ของตาย” (taken for granted) หรือมีคำตอบหมดแล้ว พ่อของโจนาธานเป็นตัวแทนของประเพณีและวิธีคิดของคนทั่วไปที่ไม่ว่ายุคใดสมัยใดก็เน้น ที่ “การทำมาหากิน” จนไม่มีเวลาหาความสุขที่แท้จริงของชีวิต ลดชีวิตลงมาเหลือแค่ “กินขี้ปี้นอน” ไม่ต่างอะไรกับสัตว์ พืช กิ้งกือ อมีบา ความงาม ความพอใจ ความสุขใจ เป็นอะไรที่ไม่อาจกินได้ ไม่ได้มาจากการกินและไม่เกี่ยวกับการกิน แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งและส่วนสำคัญของธรรมชาติมนุษย์ที่แตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ จริงอยู่ ปากท้องสำคัญ ถ้าไม่กินหลายๆ วันก็ตาย แต่คนก็มักจะลืมว่า ถ้าไม่มีเสรีภาพ ไม่มีความสุข มีแต่ความเบื่อหน่าย ความเซ็ง เหมือนถูกกักขัง อยู่อย่างไร้ความหมาย ไม่นานก็ตายได้ หรือไม่ก็เหมือนตายทั้งเป็น โจนาธานไม่ได้เสียใจที่ถูกขับออกจากฝูง เพราะมันได้เลือกแล้วที่จะเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง และได้พบว่า เมื่อชีวิตปราศจากความเบื่อหน่าย ความกลัว ความโกรธ ที่ทำให้ชีวิตสั้น มันก็มีชีวิตที่ยืนยาวสดใส โจนาธานบินได้เร็วได้สูง ไปจนถึง “สวรรค์” ซึ่งไม่ใช่สถานที่ หากแต่เป็นสภาวะของความเป็นเลิศ (excellence) มันบินได้เร็วและไปไหนก็ได้ “ตามที่ใจปรารถนา” ซึ่งเป็นที่สุดของการบิน ความเป็นเลิศของการบินที่โจนาธานได้เรียนรู้นั้นไม่ใช่การคิดถึงแต่ตัวเอง แต่เป็นการสลายอัตตา เป็นความเมตตาและความรักต่อผู้อื่น เป็นความสัมพันธ์ใหม่ มองเห็นไกลจนสุดขอบฟ้า ขณะที่นางนวลตัวอื่นๆ “แค่ปลายปีกของตนเองก็มองไม่เห็น” โจนาธานสอนนกตัวอื่นๆ เรื่องการปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระว่า “ปลดปล่อยความคิดของเธอเอง เมื่อเธอตัดโซ่ตรวนออกจากความคิดได้ เธอก็ตัดโซ่ตรวนนั้นออกจากร่างกายได้ด้วย” โจนาธานสอนว่า ถ้าคนเป็นอิสระ ปลดปล่อยตัวเองได้ จะ “ตัวเบา” เมื่อเบาก็จะบินได้สูงบินได้เร็วอย่างที่ใจปรารถนา คน “บิน” ไม่ได้ ไม่เป็นอิสระเพราะตัวหนัก หนัก “ตัวเอง” ความคิดของตัวเอง คนที่หนักที่สุด คือ คนตาย นับเป็นเวลา 60 ปีที่โจนาธานบินไปมาสอนผู้คนให้เรียนรู้ว่า อยู่อย่างเสรี คืออย่างไร ให้แยกระหว่างเสรีภาพส่วนบุคคล กับเสรีภาพส่วนรวมอย่างไร ไม่ใช่เอาเสรีภาพส่วนรวมมาครอบเสรีภาพส่วนบุคคล ผู้ใหญ่ในสังคมไม่ว่ายุคไหนก็เหมือนพ่อแม่ของโจนาธานที่มองไม่เห็นเสรีภาพของลูก มองเห็นแต่ด้านเดียว คือ กฎเกณฑ์ วิถีของนางนวลที่เป็นกลุ่ม จนสุดท้ายต้องขับไล่โจนาธานออกไปเพราะไม่ทำตามกฎเกณฑ์ของกลุ่ม เหมือนพ่อแม่บางคนที่ขับไล่ลูกออกจากบ้านเพราะไปร่วมชุมนุมกลุ่มประท้วง หรือครูบางคนที่ไม่ให้เด็กเข้าห้องเรียนเพราะไม่แต่งชุดนักเรียน รวมไปถึงมหาวิทยาลัยที่ยังเห็นว่า นักศึกษาอายุเกิน 20 แล้วยังเป็นเด็กที่ต้องอยู่ในระเบียบวินัย ไม่สวมใส่ชุดนักศึกษาก็ไม่ต้องเรียน แยกไม่ออกระหว่างเสื้อผ้าทรงผมกับกฎเกณฑ์ระเบียบสังคม ยังมองว่าเป็น “เรื่องเดียวกัน” ถ้าหากว่า การแสดงออกเสรีของเด็กไปละเมิดสิทธิ์ผู้อื่นก็เข้าใจได้ เป็นความผิดที่ไม่ควรทำเพราะเป็นการละเมิด “เสรีภาพส่วนรวม” ที่มีกฎระเบียบเป็นกรอบไว้ โจนาธานนางนวลสอนว่า เสรีภาพที่แท้จริงมาจาก “ข้างใน” ไม่ใช่เอาระเบียบกฎเกณฑ์มาบังคับจะทำให้คนมีอิสรเสรี เสรีภาพเป็นสิ่งที่ต้องแสวงหาเอง ไม่มีใครยื่นให้ใครได้ ที่ยื่นให้เป็นระเบียบ การบังคับ คำสั่ง เสรีภาพเป็นจิตสำนึก ที่ทำให้คนทำตามกฎจราจรไม่ใช่เพราะกลัวตำรวจจับ แต่เพราะความรับผิดชอบต่อสังคมและเพื่อความปลอดภัยของตนเอง นี่เป็นเสรีภาพส่วนรวม แต่การคิด การพูด การแสดงออกทางเสื้อผ้าทรงผม ที่ไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่นเป็นเสรีภาพส่วนตัวที่เป็นพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน